xs
xsm
sm
md
lg

‘โสมแดง’เหนือชั้น‘ล่อหลอก’สหรัฐฯให้ติดกับ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: โดนัลด์ เคิร์ก

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Pyongyang hits US with one-two punch
By Donald Kirk
17/04/2012

หลังจากผู้นำหนุ่ม คิม จองอึน และบรรดานายทหารใหญ่ของเกาหลีเหนือ เฝ้าชมขบวนอาวุธยุทโธปกรณ์ของพวกเขา สวนสนามเคลื่อนตัวผ่านจัตุรัสคิม อิลซุง เมื่อวันอาทิตย์ (15 เม.ย.) ไปแล้ว พวกเขาน่าที่จะชูแก้วเชิญชวนกันดื่มให้แก่หมากกลที่อยู่เบื้องหลังการทำข้อตกลง “วันอธิกสุรทิน” 29 กุมภาพันธ์ ซึ่งได้หลอกล่อสหรัฐฯเข้ามาติดกับอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้หลังจากที่วอชิงตันถูกวาดภาพให้เห็นไปว่าเป็นผู้ร้ายที่พยายามใช้ข้ออ้างเรื่องการส่ง “ดาวเทียม” ซึ่งประสบความล้มเหลวของโสมแดง เพื่อทำลายข้อตกลงที่ทำกันเอาไว้ดังกล่าว บัดนี้เปียงยางก็รู้สึกว่าตนเองกำลังอยู่ในฐานะที่สามารถเดินหน้าทำการทดสอบนิวเคลียร์รอบสามได้แล้ว

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ด้วยการหนุนส่งจากตำแหน่งใหม่ๆ ที่เขาเพิ่งได้รับมาเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น อันได้แก่ตำแหน่งประธานคณะกรรมการป้องกันแห่งชาติ (chairman of the national defense commission) และ เลขาธิการที่หนึ่ง (first secretary) ของพรรคผู้ใช้แรงงานเกาหลี คิม จองอึน ดูมีท่าทางมั่นอกมั่นใจขรึมขลัง ขณะที่เขาก้าวออกมาข้างหน้า บนหน้ามุขที่ลอยสูงเหนือจัตุรัสแห่งนั้น ไปยืนอยู่บนแท่นปราศรัยเบื้องหลังไมโครโฟน 6-7 ตัว และใช้น้ำเสียงหนักๆ ที่ปราศไร้ลูกเล่นจังหวะจะโคนเสียงสูงเสียงต่ำ เพื่อแสดงความคารวะแด่มรดกตกทอดทั้งของบิดาและของปู่ของเขา ในเครื่องแต่งกายที่เป็นเสื้อนอกชุดประธานเหมาสีดำขลับ ตัดแย้งกับเหล่านายพลผู้แต่งเครื่องแบบทหารและประดับแผงหรียญตราเต็มไปทั้งหน้าอก ซึ่งยืนรายเรียงอยู่ทั้งสองฟากข้างของเขา คิม จองอึน อ่านร่างคำปราศรัยที่เตรียมเอาไว้ อันมีเนื้อหาบอกกล่าวอย่างท้าทายถึงความจำเป็นของประเทศชาติที่จะต้องปกป้องคุ้มครองตนเอง เพื่อต่อสู้ต้านทานภัยอันตรายจากพวกผู้รุกรานชาวต่างชาติ

วาระโอกาสอันยิ่งใหญ่คราวนี้ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ท้องฟ้าอันกระจ่างสดใสในท่ามกลางอากาศเยือกเย็นของฤดูใบไม้ผลิ ดูจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้เห็นถึงการกระชับอำนาจอย่างมั่นคงของท่านผู้นำคนใหม่ผู้นี้ที่เชื่อกันว่าอยู่ในวัย 29 ปี พอๆ กับเพื่อเป็นการเคารพยกย่องปู่ของเขา ซึ่งปกครองประเทศอยู่เวลาเวลาเกือบครึ่งศตวรรษก่อนที่จะถึงแก่อสัญกรรมไปในปี 1994 เวลานี้ คิม จองอึน มี “เครื่องมือแห่งอำนาจอย่างเป็นทางการทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว” ลี จองมิน (Lee Jong-min) คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษา (graduate school of international studies) ของมหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University) กล่าวให้ความเห็น “และต้องไม่ลืมว่านี่คือรัฐที่ถูกแปรให้กลายเป็นรัฐทหารมากที่สุดของโลก”

คิม จองอึน ไม่ได้เอ่ยถึงความล้มเหลวของการยิงขีปนาวุธพิสัยไกลเมื่อวันศุกร์(13) ซึ่งได้แตกออกเป็นเสี่ยงๆ และตกลงมาสู่ทะเลเหลือง เพียงแค่ 80วินาทีภายหลังถูกยิงทะยานขึ้นฟ้า แต่เขาอาจจะมีความรู้สึกอับอายขายหน้าในใจอยู่หรอก เมื่อตอนที่เขาพูดว่า สิ่งที่ทรงความสำคัญมากที่สุด ไม่ใช่ “อาวุธสมัยใหม่ทั้งหลาย” หากแต่เป็น “เหล่าทหารและผู้บังคับบัญชาที่รักยิ่งของพวกเรา” ต่างหาก

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เขารู้สึกถึงความจำเป็นอย่างมากมายเป็นพิเศษที่จะต้องสาธิตให้เห็นความแข็งแกร่งทางด้านการทหารของเขา เนื่องจากตัวเขาเองไม่ได้มีประสบการณ์ทางการทหารอย่างแท้จริงๆ ใดๆ นอกเหนือไปจากระยะเวลาสองสามปีที่หน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายเกาหลีเหนือระบุว่า เขาได้ไปร่ำเรียนอยู่ที่ วิทยาลัยการทหารคิม อิลซุง (Kim Il-sung Military Academy) “เด็กหนุ่มคนนี้จะต้องพยายามโอ่อวดขัดเงาเครดิตความน่าเชื่อถือทางด้านการทหารของเขาให้วาววับทีเดียว” อาจารย์ลี กล่าว ถึงแม้ “ผมไม่คิดว่าใจะมีใครคนไหนในเกาหลีเหนือที่กล้าหาญไปบอกกับเขาซึ่งๆ หน้า” ว่า เขาแทบไม่มีหรือไม่มีประสบการณ์ทางการทหารเอาเลย

อาจารย์ลีชี้ต่อไปว่า สภาพเช่นนี้นับว่าแตกต่างเป็นตรงกันข้ามกับ คิม อิลซุง ผู้เป็นปู่ของเขา ทั้งนี้หลังจากเป็นนักรบปฏิวัติที่เคลื่อนไหวสู้รบอยู่นานหลายปีในแมนจูเรีย คิม อิลซุง ยังเข้าเป็นนายทหารอยู่ในกองทัพบกสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอีกด้วย ดังนั้น จึง “มีอิทธิพลบารมีของการมีประสบการณ์ทางทหารโดยตรง” และสามารถที่ทำให้พรรคกลายเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจได้สำเร็จ สำหรับ คิม จองอิล ตั้งแต่ก่อนที่บิดาของเขาจะสิ้นชีวิตนานทีเดียว ก็ต้องพยายามสถาปนาตนเองขึ้นเป็นผู้นำของคณะกรรมการป้องกันแห่งชาติ เนื่องจากสามารถใช้เป็นช่องทางที่จะก้าวขึ้นมาอยู่เหนือพรรค

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พวกนักเฝ้ามองเปียงยางทั้งหลายจะต้องถกเถียงอภิปรายกันว่า พรรค หรือ กองทัพ อะไรสำคัญกว่ากัน ทว่าในแง่หนึ่งคำถามนี้ไม่ได้สลักสำคัญอะไรเลย เนื่องจาก คิม จองอึน ก็เหมือนๆ กับบิดาของเขา คือ เป็นผู้ที่เข้าครอบครองรับผิดชอบผิดทุกสิ่งทุกอย่างอยู่แล้ว “เห็นกันว่าพรรคคงไม่ได้เป็นผู้ควบคุมกองทัพเหมือนในยุคอิล อิลซุง หรอก” เป็นความเห็นของ ชอย จินวูก (Choi Jin-wook) นักวิจัยอาวุโสแห่ง สถาบันเพื่อการรวมชาติเกาหลี (Korea Institute for National Unification) “หลังจากคิม อิลซองตายแล้ว คิม จองอิล ก็ข้ามหัวพรรคไปควบคุมกองทัพ”

ข้อเท็จจริงที่ว่า คิม จองอึน ออกมากล่าวคำปราศัย อาจจะเป็นมิติที่สำคัญที่สุดของวาระโอกาสแห่งการเฉลิมฉลองคราวนี้ ซึ่งมีทหารในเครื่องแบบจำนวนเป็นหมื่นๆ คนยืนเข้าแถวเป็นระเบียบอยู่ในจัตุรัสคิม อิลซุง ก่อนหน้ากลุ่มพลเมืองจำนวนมากกว่า ผู้ซึ่งคอยรับฟังคำปราศรัยอย่างตั้งอกตั้งใจ สลับกับการส่งเสียงโห่ร้องเชียร์ลั่นเป็นระยะๆ ในระหว่างการปราศรัยเป็นเวลา 22 นาทีของท่านผู้นำคนใหม่คราวนี้ ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว คิม จองอิล บิดาของเด็กหนุ่มผู้นี้ เคยปราศรัยต่อสาธารณชนเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แถมพูดแบบสั้นจู๋ด้วย ตลอดระยะเวลา 17 ปีที่เขาปกครองเกาหลีเหนือภายหลังการถึงแก่อสัญญกรรมของ คิม อิลซุง ผู้เป็นบิดาของเขาในปี 1994

ในการสวนสนามที่เปิดฉากขึ้นทันทีภายหลังการกล่าวปราศรัยของ คิม จองอึน สิ่งที่ได้รับความสนอกสนใจเฝ้าติดตามกันมากที่สุด ก็คือบรรดาอาวุธขนาดหนักทั้งหลายที่ถูกนำออกมาโอ่อวด ในจำนวนนี้สิ่งที่น่าเกรงขามมากที่สุดคือขีปนาวุธ ซึ่งว่ากันว่ามีความยาวมากกว่าจรวดลูกที่ยิงแล้วประสบความล้มเหลวไม่เป็นท่าในวันศุกร์(13) ถึงราว 5 เมตรทีเดียว ขีปนาวุธลูกนี้ทาสีเขียวมะกอกมอๆ และสีดำ ถูกวางนอนอย่างดูเทอะทะเก้างก้างอยู่บนยานยนต์ 16 ล้อที่แล่นไปอย่างช้าๆ ถึงแม้ยังไม่มีความชัดเจนว่าขีปนาวุธลูกที่นำมาแสดงนี้เป็นอาวุธจริงหรือเป็นเพียงของทำเลียนแบบ แต่กระนั้น วายทีเอ็น (YTN) เครือข่ายเคเบิลทีวีข่าว 24 ชั่วโมงของเกาหลีใต้ ก็พูดถึงมันว่า เป็น “เวอร์ชั่นขั้นก้าวหน้า” ของขีปนาวุธพิสัยไกลที่เกาหลีเหนือเคยยิงทดสอบอย่างประสบความสำเร็จในปี 1998 และ ปี 2009 แต่ประสบความล้มเหลวในปี 2006 และล้มเหลวอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 13 เมษายนที่ผ่านมา

คงไม่มีหลักฐานอันมองเห็นได้อย่างชัดเจนยิ่งกว่าเจ้าขีปนาวุธยักษ์ใหญ่ในแถวขบวนสวนสนามของเกาหลีเหนือคราวนี้อีกแล้ว ซึ่งสาธิตให้รับทราบกันโดยทั่วหน้าว่า คิม คีกวาน ได้หลอกล่อให้ กลิน เดวีส์ เข้ามาติดกับจนกระทั่งยอมทำข้อตกลงซึ่งเกาหลีเหนือไม่ได้มีความคิดแม้สักน้อยนิดที่จะปฏิบัติตาม

ตามความเห็นของพวกผู้เชี่ยวชาญเรื่องเกาหลีเหนือในกรุงโซล สิ่งที่เปียงยางขบคิดตลอดมาก็คือ การพยายามหาทางย่อส่วนอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อให้สามารถบรรจุลงไปในช่วงหนึ่งของขีปนาวุธพิสัยไกลลูกนี้ ซึ่งจะใช้เป็นพาหะนำพามันไปสู่เป้าหมายต่างๆ ที่โสมแดงกำหนดไว้ – และจากนั้นก็จะสามารถรวมคาบสมุทรเกาหลีให้กลายเป็นประเทศหนึ่งเดียวอีกคำรบหนึ่งภายใต้เงื่อนไขข้อกำหนดของราชวงศ์คิมเท่านั้น เดวีส์ควรที่จะทำความเข้าใจกับเรื่องเช่นนี้ให้กระจ่างแจ้ง ก่อนที่จะทำให้ตนเองต้องลำบากด้วยการเดินทางไปยังกรุงปักกิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

**หมายเหตุผู้แปล**

[1] กลิน เดวีส์ นักการทูตอาชีพชาวอเมริกันซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯดูแลนโยบายเรื่องเกาหลีเหนือ ก่อนหน้านี้ เคยเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ตลอดจนดำรงตำแหน่งระดับอาวุโสในกรมกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก่อนหน้านั้นไปอีก ในยุคประธานาธิบดี บิล คลินตัน เขาเคยเป็นรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (ข้อมูลจากรายงานข่าวเรื่อง US to begin more nuclear weapons talks with North Korea ของสำนักข่าว AP เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.guardian.co.uk Oct. 19, 2011)
[2] คิม คีกวาน นักการทูตอาชีพชาวเกาหลีเหนือ เป็นบุคคลระดับนำของโสมแดงในการเจรจาระดับระหว่างประเทศต่างๆ เกี่ยวกับโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ รวมทั้งการเจรจา 6 ฝ่าย (เกาหลีเหนือ, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, สหรัฐฯ, รัสเซีย, จีน) ในกรุงปักกิ่ง ตำแหน่งอย่างเป็นทางการของเขา คือ รองรัฐมนตรีคนที่หนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศ (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)
[3] ผลจากการเจรจาทำความตกลงที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2012 ฝ่ายเกาหลีเหนือประกาศว่าจะระงับโครงการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมที่ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ยองบอน และจะไม่ทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ใดๆ อีกในขณะที่ทำการเจรจากับสหรัฐฯ ข้อตกลงนี้ยังครอบคลุมถึงการหยุดทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลอีกด้วย นอกจากนั้นเกาหลีเหนือตกลงที่จะอนุญาตให้คณะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ไปติดตามดูการปฏิบัติงานที่ ยองบอน ส่วนทางฝ่ายสหรัฐฯประกาศย้ำยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนารมณ์เป็นศัตรูกับเกาหลีเหนือ และเตรียมพร้อมที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี ตลอดจนตกลงที่จะส่งความช่วยเหลือในรูปอาหารเพื่อมนุษยธรรมไปยังเกาหลีเหนือ สหรัฐฯเรียกความเคลื่อนไหวคราวนี้ว่า “มีความสำคัญ แม้เป็นไปอย่างจำกัด” แต่ก็ระบุว่าจะเดินหน้าไปด้วยความระมัดระวัง และจะกลับไปเจรจากับโสมแดงอีกต่อ ก็ต่อเมื่อเกาหลีเหนือมีการดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามสิ่งที่ให้สัญญาไว้เหล่านี้ อย่างไรก็ตาม หลังจากเกาหลีเหนือดำเนินการทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลในวันที่ 13 เมษายน 2012 ซึ่งจบลงด้วยความล้มเหลว สหรัฐฯก็ประกาศตัดสินใจไม่เดินหน้าส่งความช่วยเหลือด้านอาหารไปให้โสมแดงตามข้อตกลงแล้ว ต่อมาในวันที่ 17 เมษายน กระทรวงการต่างประเทศเกาหลีเหนือได้แถลงประณามสหรัฐฯที่ผิดสัญญา และบอกว่าตนเองก็จะไม่ถูกผูกมัดจากข้อตกลงในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2012 อีกต่อไป (ข้อมูลจากวิกิพีเดีย และรายงานข่าวเรื่อง North Korea vows retaliation over rocket, สำนักข่าว AFP, Apr. 18, 2012.)

โดนัลด์ เคิร์ก เป็นนักหนังสือพิมพ์ผู้คร่ำหวอดอยู่ในเอเชีย หนังสือเล่มใหม่ของเขาที่เพิ่งจัดพิมพ์คือเรื่อง Korea Betrayed: Kim Dae Jung and Sunshine
กำลังโหลดความคิดเห็น