xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยพบ “รังสี” จากโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นใน “สาหร่ายทะเล” นอกชายฝั่งตะวันตกสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สาหร่ายทะเลยักษ์ (Giant kelp) (ภาพ: วิกิพีเดีย)
เอเอฟพี - นักวิจัยพบกัมมันตภาพรังสีไอโอดีนสะสมในสาหร่ายทะเลนอกชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่ทำให้กัมมันตภาพรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ของญี่ปุ่น เมื่อปีที่แล้ว ผลการศึกษาล่าสุดเผย

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า กัมมันตภาพรังสีไอโอดีน-131 ซึ่งแพร่กระจายในชั้นบรรยากาศ เดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกในระยะเวลาเพียงไม่กี่วันหลังเกิดภัยพิบัติสึนามิ แม้จะในปริมาณไม่มากก็ตาม

หลังสึนามิที่ญี่ปุ่นผ่านพ้นไป 1 เดือน นักชีววิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ลองบีช (CSULB) พบไอโซโทปของกัมมันตภาพรังสีในสาหร่ายทะเลยักษ์ (giant kelp) ซึ่งเป็น “หนึ่งในพืชที่สะสมไอโอดีนมากที่สุด”

“เราพบรังสีไอโอดีนสะสมในเนื้อเยื่อของสาหร่ายทะเลชนิด Macrocystis pyrifera ซึ่งแม้จะเป็นระดับที่ไม่อันตราย แต่ก็มากพอสมควร” สตีเวน แอล. แมนลีย์ ซึ่งเรียบเรียงงานวิจัยชิ้นนี้ร่วมกับ คริสโตเฟอร์ จี.โลว์ กล่าว

“แม้ว่ามันจะยังไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์เพราะปริมาณรังสีไม่มากนัก แต่อาจส่งผลกระทบต่อปลาบางชนิดที่กินเนื้อเยื่อสาหร่ายเป็นอาหาร เนื่องจากปลามีต่อมไทรอยด์จึงต้องการไอโอดีนเพื่อสังเคราะห์ฮอร์โมน”

งานวิจัยเรื่อง “Canopy-Forming Kelps as California's Coastal Dosimeter: 131I from Damaged Japanese Reactor Measured in Macrocystis pyrifera” ถูกเผยแพร่ลงในวารสารวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี ฉบับออนไลน์

โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งห่างจากกรุงโตเกียวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 220 กิโลเมตร ต้องเผชิญวิกฤตแกนปฏิกรณ์หลอมละลาย หลังเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคมปีที่แล้ว ซึ่งหายนะดังกล่าวได้คร่าชีวิตพลเมืองญี่ปุ่นไปกว่า 19,000 คน

กัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าแพร่กระจายเป็นบริเวณกว้าง ทั้งยังรั่วไหลออกสู่ท้องทะเล, ชั้นบรรยากาศ และห่วงโซ่อาหาร ภายในไม่กี่สัปดาห์หลังเกิดเหตุ
กำลังโหลดความคิดเห็น