เอเอฟพี - แม้สหรัฐฯและพันธมิตรจะขู่ตอบโต้อย่างสาสม หากเกาหลีเหนือดึงดันจะส่งจรวดพิสัยไกลให้ได้ แต่นักวิเคราะห์กลับมองว่า มาตรการที่จะกดดันเปียงยางให้ได้ผลนั้น หาได้ยากยิ่ง
“หลังจากนานาประเทศออกมาแสดงพลังข่มขู่ไปเรียบร้อยแล้ว เราก็ต้องหาทางเจรจากับเกาหลีเหนือต่อไป” ปีเตอร์ เบ็ค ผู้แทนมูลนิธิเอเชียจากกรุงโซล ระบุ
“สหรัฐฯยังไม่มีทางเลือกใดๆ และไม่มีวิธีคว่ำบาตรที่ใช้ได้อย่างมีนัยยะ”
กรุงเปียงยางประกาศจะส่งจรวด อึนฮา-3 เพื่อนำดาวเทียมสำรวจขึ้นสู่อวกาศตามโครงการวิจัยเชิงสันติ ระหว่างวันที่ 12-16 เมษายนนี้ เพื่อฉลองครบรอบ 100 ปี วันเกิดอดีตประธานาธิบดี คิม อิล ซุง ผู้ก่อตั้งประเทศ
วอชิงตันและประเทศอื่นๆ เชื่อว่า แผนการนี้เป็นเพียงข้ออ้างทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล ซึ่งจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามขององค์การสหประชาชาติ ตลอดจนละเมิดข้อตกลงระงับโครงการนิวเคลียร์เพื่อแลกกับอาหารที่เปียงยางทำร่วมกับสหรัฐฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์ชี้ว่า เปียงยางมีเหตุจูงใจทางการเมืองมากพอที่จะเมินเสียงคัดค้านของชาติอื่น เนื่องจากผู้นำอายุน้อย คิม จอง อึน กำลังมุ่งเสริมสร้างบารมีในหมู่ทหารและชนชั้นปกครอง
“การส่งจรวดก็ไม่ต่างจากดอกไม้ไฟชุดใหญ่ราคาแพง ที่ใช้เฉลิมฉลองในโอกาสที่เกาหลีเหนือจะเป็น “ชาติมหาอำนาจที่มีความเจริญรุ่งเรือง” ยุน ดุก-มิน จากสถาบันเพื่อกิจการระหว่างประเทศแห่งเกาหลีใต้ เผย โดยอ้างวาระแห่งชาติของเกาหลีเหนือในปี 2012
“คิม จอง อึน ต้องทำผลงานชิ้นใหญ่เพื่อแสดงความเป็นผู้นำ และสร้างความหวาดกลัวให้กับเหล่าศัตรู” ยุน กล่าวบนเวทีเสวนา เมื่อสัปดาห์ก่อน
“มีความเป็นไปได้สูงมากที่เกาหลีเหนือจะทดลองอาวุธนิวเคลียร์ ภายใน 1-2 เดือนถัดจากนี้”
เกาหลีเหนือถูกลงโทษด้วยมาตรการคว่ำบาตรของยูเอ็น ตลอดจนประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งต้องการกดดันให้เปียงยางล้มเลิกโครงการพัฒนาขีปนาวุธ และอาวุธนิวเคลียร์
ยูเอ็น ประกาศมติในปี 2009 สั่งห้ามนานาชาติจำหน่ายอาวุธและสินค้าฟุ่มเฟือยให้เกาหลีเหนือ และห้ามทำธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการพัฒนาอาวุธของเปียงยาง
แม้อาจมีการถกปัญหาเกาหลีเหนือในคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น แต่คาดว่าจีนจะคัดค้านมาตรการตอบโต้ใดๆ ก็ตาม ที่จะทำลายเสถียรภาพของเปียงยาง ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนบ้านและพันธมิตรหลัก
“จีนไม่ต้องการให้เกาหลีเหนือเกิดวิกฤตภายในประเทศขึ้น” อันเดรย์ แลนคอฟ จากมหาวิทยาลัยกุ๊กมินในกรุงโซล กล่าวบนเวทีเสวนาเดียวกันกับ ยุน
“สำหรับจีนแล้ว การที่เกาหลีเหนือมีเสถียรภาพเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าความกังวลของนานาชาติที่มีต่อโครงการนิวเคลียร์”
ด้าน เบ็ค ระบุว่า จีนอาจไม่พอใจกับการส่งดาวเทียมก็จริง แต่ก็ยังทนรับได้
“พวกเขาทนรับพฤติกรรมเกกมะเหรกเกเรของเกาหลีเหนือได้ทุกอย่าง เว้นเพียงการก่อสงครามเท่านั้น”
แม้แต่โซลเองก็คงไม่ต้องการกดดันเปียงยางมากจนเกินไปนัก ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมในเกาหลีเหนือที่โซลเข้าไปลงทุนก็ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ระหว่างที่สัมพันธ์ระหว่างประเทศตึงเครียด
เบ็ค ยังให้ความเห็นว่า พลเมืองเกาหลีเหนือคงไม่สนใจการส่งดาวเทียมครั้งนี้มากนัก เพราะไม่ได้ทำให้พวกเขาอิ่มท้องขึ้นมาได้ ทว่ารัฐบาลเปียงยางก็ไม่ได้ใส่ใจอยู่แล้วว่าคนส่วนใหญ่จะคิดอย่างไร แต่ทำไปเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ทหารและชนชั้นสูงเท่านั้น
เชย์ลา เอ.สมิธ เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวบนเวทีเสวนา ว่า ต้องการให้คณะมนตรีความมั่นคงหารือเรื่องมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนืออย่างจริงจัง หรือจะเป็นการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวโดยสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ก็ได้
อย่างไรก็ตาม จีน ดูเหมือนจะมีวาระทางยุทธศาสตร์ของตนอยู่แล้ว
ปีเตอร์ บรูกส์ จากมูลนิธิ เฮอริเทจ ของสหรัฐฯ กล่าวว่า “รู้สึกกังวลเกี่ยวกับบทบาทของมูลนิธิ ท่ามกลางสถานการณ์ความมั่นคงของเอเชียในอนาคต” และหลังจากมีการรวมคาบสมุทรเกาหลีเข้าด้วยกัน
บรูกส์ ชี้ว่า จีนต้องการเก็บเกาหลีเหนือ เป็นรัฐกันชนกับสหรัฐฯ ซึ่งส่งทหารเข้าไปประจำในเกาหลีใต้ถึง 28,500 นาย