เอเจนซี - การจบชีวิตลงของชายชราวัยเกษียณผู้หนึ่งที่หน้ารัฐสภากรีซ กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเจ็บปวดที่เกิดจากพิษเศรษฐกิจ ขณะที่ผู้ประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดนำกรณีดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือต่อต้านแผนตัดลดงบประมาณที่บรรดาเจ้าหนี้ต่างชาติยื่นใบสั่งมาให้กรีซ
ดิมิทริส คริสตูลัส เภสัชกร วัย 77 ปี ระเบิดกระสุนใส่ศีรษะตนเอง เมื่อวานนี้ (4) หลังทิ้งข้อความตัดพ้อว่าประสบปัญหาการเงินจนไม่อาจมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ และขอเลือกความตายดีกว่าต้องไปคุ้ยหาอาหารกิน
การปลิดชีพตนเองในที่สาธารณะเพื่อประท้วงความโหดร้ายของสภาพเศรษฐกิจ สร้างความสะเทือนใจให้แก่พลเมืองกรีซ ซึ่งออกมาเดินขบวนประท้วง และตั้งแท่นบูชาที่มีข้อความประณามปัญหาหนี้สิน ณ จุดที่ชายชรายิงตัวตาย
หนังสือพิมพ์ อีเลฟเทอรอส ไทโพส ระบุว่า เภสัชกรชราผู้นี้เป็นดั่ง “วีรบุรุษของชาวกรีซ” และการกระทำของเขาก็เป็น “สัญลักษณ์ทางการเมืองที่ลึกซึ้ง” ซึ่ง “สร้างความตกตะลึงแก่สังคมกรีซและวงการเมือง และปลุกจิตสำนึกของพวกเขา”
พลเมืองกรีซต่างโกรธแค้นนักการเมือง รวมถึงมาตรการลดรายจ่ายที่เจ้าหนี้ต่างประเทศกำหนดขึ้น เพื่อเป็นเงื่อนไขมอบเงินช่วยเหลือให้กรีซพ้นจากวิกฤตหนี้สินครั้งใหญ่ที่สุดหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
“มันเลวร้ายมากจริงๆ เราไม่ควรเดินมาถึงจุดนี้ได้เลย พวกนักการเมืองในสภาที่ทำให้บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ต่างหาก ที่สมควรถูกลงโทษ” อนาสตาเซีย คารานิกา วัย 60 ปี กล่าว
ขณะที่โศกนาฏกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งในกรีซเพียงไม่ถึงเดือน พรรคการเมืองเล็กๆที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการรัดเข็มขัดจึงฉวยโอกาสชี้นิ้วโทษพรรคใหญ่ที่ยอมรับแผนลดรายจ่าย
“พวกที่ควรฆ่าตัวตายเสียตั้งนานแล้ว ก็คือนักการเมือง ที่รู้ทั้งรู้แต่ก็ยังพาประเทศและประชาชนเข้ามาสู่สถานการณ์เช่นนี้” พาโนส คัมเมโนส ส.ส.อนุรักษนิยม ซึ่งก่อตั้งพรรคอินดิเพนเดนต์ กรีก เพื่อต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดเมื่อไม่นานนี้ กล่าว
ความคับแค้นใจของชาวกรีซยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ เมื่อรัฐบาลปรับลดเงินเดือนและบำนาญครั้งแล้วครั้งเล่า ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศหดตัวลงถึง 1 ใน 5 นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา
อัตราการว่างงานในกรีซพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 21 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 2 เท่าของค่าเฉลี่ยในกลุ่มยูโรโซน คนหนุ่มสาวราว 1 ใน 2 ยังคงไร้งานทำ ขณะที่สถิติฆ่าตัวตายก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ชาวกรีซส่วนใหญ่รู้สึกว่า ประชาชนตาดำๆ อย่างเภสัชกรผู้นี้ถูกบังคับให้ต้องแบกรับวิกฤตของชาติ ซึ่งพวกเขาไม่ได้ก่อขึ้น