เอเอฟพี - เกาหลีเหนือเริ่มทำการบรรจุเชื้อเพลิงลงในจรวดส่งดาวเทียม ซึ่งชาติตะวันตกเชื่อว่าเป็นเพียงแผนอำพรางการทดสอบขีปนาวุธเท่านั้น หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นรายงานวันนี้ (29) โดยอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดรัฐบาลเปียงยาง
“การส่งจรวดใกล้เข้ามาทุกที และมีความเป็นไปได้สูงว่า อาจจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 เมษายนนี้” หนังสือพิมพ์ โตเกียว ชิมบุน อ้างรายงานจากกรุงโซล
แหล่งข่าวผู้นี้ระบุว่า เกาหลีเหนือเริ่มบรรจุเชื้อเพลิงเหลวลงในจรวดส่งดาวเทียมแล้ว
โตเกียว ชิมบุน เผยว่า แหล่งข่าวทางการทูตอีกคนหนึ่งก็ยืนยันเช่นกันว่า เกาหลีเหนือได้เคลื่อนย้ายจรวดไปยังฐานยิง ตงชาง-รี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเรียบร้อยแล้ว
สื่อญี่ปุ่นให้ความสนใจอย่างยิ่งต่อกิจการของเกาหลีเหนือ และมักเป็นผู้นำในการเสนอข่าวด่วนเกี่ยวกับรัฐโสมแดง โดยเฉพาะโตเกียว ชิมบุน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีการติดต่ออยู่กับ คิม จอง นัม พี่ชายของผู้นำใหม่เกาหลีเหนือ คิม จอง อึน
กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ยังไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ เกี่ยวกับรายงานของโตเกียว ชิม บุน แต่จะมีการแถลงต่อสื่อมวลชนภายหลังในวันนี้ (29)
รายงานดังกล่าวถูกเผยแพร่หลังจากที่รัฐบาลเปียงยางยืนยันหนักแน่นเมื่อวันอังคาร (27) ว่าจะไม่ยกเลิกแผนส่งดาวเทียมอย่างแน่นอน พร้อมบอกปัดข้อเรียกร้องของประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯที่ต้องการให้เกาหลีเหนือล้มเลิกแผนการครั้งนี้ ทั้งยังกล่าวหาผู้นำสหรัฐฯว่า “หมกมุ่นอยู่กับการเผชิญหน้า”
กรุงวอชิงตันสั่งระงับแผนส่งความช่วยเหลือด้านอาหารให้กับเกาหลีเหนือ โดยระบุว่า การส่งดาวเทียมเท่ากับเกาหลีเหนือผิดสัญญาที่ให้ไว้ และไม่มั่นใจว่าอาหารที่ส่งเข้าไปจะถึงมือประชาชนที่อดอยากจริงหรือไม่ เจ้าหน้าที่เพนตากอนแถลง วานนี้ (28)
โลกตะวันตกและเพื่อนบ้านในเอเชียต่างเรียกร้องให้เกาหลีเหนือล้มเลิกแผนยิงจรวดส่งดาวเทียมกวางเมียงซอง-3 ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า เป็นขั้นตอนแรกของการทดสอบเทคโนโลยีขีปนาวุธ
เกาหลีเหนือชี้แจงว่า ดาวเทียมดวงนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยจะช่วยทำนายผลผลิตทางการเกษตรและเก็บข้อมูลสภาพอากาศ หลังจากจรวดอึนฮา-3ขับเคลื่อนดาวเทียมออกสู่วงโคจรได้สำเร็จในเดือนหน้า
กวางเมียงซอง-3 ยังสามารถประเมินพื้นที่ป่าและปริมาณทรัพยากรทางธรรมชาติของเกาหลีเหนือได้อีกด้วย สำนักข่าว เคซีเอ็นเอ ของเกาหลีเหนือ รายงานวานนี้ (28) เพื่อยืนยันจุดประสงค์เชิงสันติของโครงการดังกล่าว
ดาวเทียมดวงนี้มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม และจะโคจรสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ที่ความสูง 500 กิโลเมตรจากพื้นโลก โดยมีอายุการใช้งาน 2 ปี