xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ทหารมะกันฆ่าหมู่พลเรือนอัฟกัน 16 ศพ กระเทาะสัมพันธ์วอชิงตัน-คาบูลร้าวลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” คงอธิบายถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอัฟกานิสถานในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี ขณะที่เหตุการณ์ประท้วงรุนแรงหลังจากกรณีทหารอเมริกัน ณ ฐานทัพบาแกรม เผาทำลายคัมภีร์อัลกุรอานอันศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาอิสลาม ซึ่งสร้างกระแสความโกรธแค้นให้กับชาวอัฟกัน ยังไม่ทันจะจางหายไป ประเด็นใหม่ก็เกิดขึ้น เมื่อทหารอเมริกันนายหนึ่งบุกกราดยิงพลเรือนอัฟกันถึงบ้านของพวกเขา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 16 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นผู้หญิง กับเด็ก โศกนาฏกรรมนี้เป็นเสมือนการราดน้ำมันใส่กองไฟ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายยิ่งเลวร้ายลง

ในเช้ามืดวันอาทิตย์ (11) ที่ผ่านมา ทหารอเมริกันอันธพาลนายหนึ่ง ได้เดินออกจากค่ายของเขาในจังหวัดกันดาฮาร์ ทางตอนใต้ของประเทศ ก่อนบุกเข้าไปในบ้าน 3 หลัง กราดยิงชาวบ้านถึงในที่อยู่ของพวกเขา สังหารผู้บริสุทธิ์ทั้งสิ้น 16 ราย และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายคน โดยผลร้ายที่ตามมาจากเหตุสลดนี้ ยิ่งไปตอกย้ำความไม่ไว้วางใจกัน และอาการหมดแรงของทั้งสหรัฐฯ และอัฟกานิสถาน ในสงครามอันยืดเยื้อยาวนานกว่า 10 ปี ที่ถูกมองว่าเป็นสาเหตุของความสูญเสียมากขึ้นเรื่อยๆ

ทางด้านอัฟกานิสถาน มีเพียงเสียงแสดงความโกรธเกรี้ยวจากประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ต่อกรณีกราดยิงดังกล่าว โดยประณามว่าการกระทำอุกอาจนี้คือ การฆาตกรรม และเป็นการก่อการร้ายที่ไม่อาจอภัยได้ ทว่า ยังไม่ปรากฏกระแสความไม่พอใจของผู้คน ที่หลั่งไหลออกมาตามท้องถนน เหมือนเช่นกรณีเผาพรระคัมภีร์อัลกรุอาน ในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งจุดชนวนการประท้วงต่อต้านสหรัฐฯ ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงนานหลายสัปดาห์ และทำมีผู้เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 40 ราย

สำหรับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรสำคัญในยุโรป การสังหารหมู่ครั้งนี้น่าจะยิ่งสร้างความเบื่อหน่ายต่อสงครามที่นับว่ายาวนานที่สุดของอเมริกา และเพิ่มความต้องการถอนทหารกลับประเทศโดยเร็วที่สุด ตามที่ปรากฏในผลโพลหลายสำนัก อย่างไรก็ดี โอบามาได้เตือนถึงการรีบเร่งถอนกองกำลังออกมา โดยว่าเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องให้แน่ใจว่า ทหารสหรัฐฯ จะไม่อยู่ในอัฟกานิสถานนานเกินกว่าที่จำเป็น

ประเด็นสำคัญ กรณีของทหารอเมริกันรายนี้อาจส่งผลกระทบต่อการเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระยะยาว ซึ่งจะเป็นสัญญาที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย ภายหลังที่กองทหารสู้รบของกองกำลังสนับสนุนความมั่นคงระหว่างประเทศ หรือไอซาฟ ที่นำโดยสหรัฐฯ ถอนออกไปจากอัฟกานิสถานในปี 2014 ตามกำหนดเดิม โดยครอบคลุมถึงฐานะทางกฎหมายของทหารสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในประเทศนี้ภายหลังจากนั้น เพื่อช่วยเหลือคาบูลทั้งในด้านข่าวกรอง, แสนยานุภาพทางอากาศ, และการส่งกำลังบำรุง ในการสู้รบกับพวกผู้ก่อความไม่สงบในประเทศ

อัฟกานิสถานได้วางเงื่อนไขการเจรจาเบื้องต้น โดยเรียกร้องให้กองกำลังสหรัฐฯ อยู่ภายใต้อำนาจตุลาการของศาลอัฟกานิสถาน ซึ่งแม้สหรัฐฯ จะไม่เคยยินยอมตามเงื่อนไขนั้น แต่เหตุสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นนั้นอาจยิ่งไปส่งเสริมเงื่อนไขอื่นๆ ที่ใหญ่กว่า เช่น ข้อห้ามไม่ให้กองกำลังไอซาฟปฏิบัติการโจมตีในเวลากลางคืน ซึ่งคาร์ไซตำหนิว่าคร่าชีวิตพลเรือนไปเป็นจำนวนมาก โดยก่อนหน้านี้ วอชิงตันก็เคยต้องยกเลิกความพยายามที่จะทำข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เช่นนี้กับอิรัก และถอนทหารทั้งหมดออกไป โดยไม่เหลือกองกำลังตั้งประจำอยู่เลย หลังจากไม่สามารถทำให้แบกแดดยินยอมให้ทหารอเมริกันได้รับการยกเว้นไม่ต้องขึ้นต่อกฎหมายของอิรักได้

ขณะที่คาร์ไซก็เตรียมตัวเจอปัญหาหนักหลังปี 2014 ไม่เพียงแค่การสู้รบปรบมือกับกลุ่มตอลิบาน แต่ยังรวมถึงชาวเผ่าเจ้าของดินแดน ซึ่งเคยทำให้ประเทศตกอยู่ในสภาพสงครามกลางเมืองมาแล้วช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 หลังสหภาพโซเวียตถอนกำลังออกไปจากที่ยึดครองมาร่วม 10 ปี ส่วนสหรัฐฯ ก็คงอยากรักษาฐานที่มั่นของตนในอัฟกานิสถาน ซึ่งอยู่ติดกับอิหร่านไว้ และเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศนี้ถูกใช้เป็นแหล่งกบดานของเครือข่ายอัลกออิดะห์อีก จึงน่าจะเป็นคำถามที่ว่าใครต้องการใครมากกว่า เมื่อ “สงครามดี” ตามที่นักวิชาการตะวันตกเรียกการส่งทหารอเมริกันเข้าไปโค่นล้มรัฐบาลตอลิบาน ซึ่งให้ที่พักพิงแก่อุซามะห์ บินลาดิน หลังวินาศกรรม 911 นั้น กลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์

สัญญาณของความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างทั้งสองฝ่ายที่นับวันจะยิ่งเลวร้ายลงนั้น ก็คือการที่นาโตได้ถอนเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาออกจากกระทรวงต่างๆ ในรัฐบาลคาบูล หลังจากมีเจ้าหน้าที่ชาวสหรัฐฯ ถูกยิงเสียชีวิตภายในกระทรวงมหาดไทยอัฟกานิสถาน หลังการประท้วงประเด็นการเผาอัลกุรอานทะลุจุดเดือด ทว่า ในเหตุการณ์กราดยิงนี้ เหยื่อกลับเป็นพลเรือน ที่รวมทั้งผู้หญิง เด็ก และคนชรา ซึ่งถูกสังหารโดยทหารอเมริกัน ผู้แบกรับภาระการทำสงคราม

เหตุสังหารหมู่ครั้งนี้ ที่เหยื่อเป็นเพียงเด็กตัวเล็กๆ ถูกยิงอย่างเหี้ยมโหด ในขณะที่พวกเขากำลังนอนหลับ ก่อให้เกิดทั้งความเศร้าโศก ระคนโกรธแค้น อันสั่งสมมาจากความขุ่นเคืองในกรณีเผาพระคัมภีร์อัลกรุอาน ที่เพิ่งจะเริ่มสงบลง เมื่อวอชิงตันยอมลงนามในข้อตกลงส่งมอบอำนาจการควบคุมเรือนจำบาแกรม อันเป็นที่คุมขังนักโทษกลุ่มอัลกออิดะห์และตอลิบันนับร้อยคนให้แก่ทางการคาบูล กลายเป็นรอยร้าวที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งนับวันจะขยายวงกว้าง และลึกลงไป จนอาจจะส่งผลให้สถานการณ์ในอัฟกานิสถานยิ่งยากที่จะควบคุม.
กำลังโหลดความคิดเห็น