xs
xsm
sm
md
lg

‘กรณีฆ่าหมู่’ทำสหรัฐฯยิ่งยากจะ‘ปักหลัก’ในอัฟกานิสถาน

เผยแพร่:   โดย: จิม โล้บ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Massacre darkens Afghan outlook for US
By Jim Lobe
13/03/2012

กรณีทหารอเมริกันคนหนึ่งก่อเหตุสังหารหมู่ชาวอัฟกัน 16 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กรวมอยู่ด้วยจำนวนมาก เมื่อวันอาทิตย์(11)ที่ผ่านมา ณ จังหวัดกันดาฮาร์ ทำให้ยิ่งเป็นไปได้น้อยลงอีกที่กองทหารสหรัฐฯจะยังสามารถประจำอยู่ในอัฟกานิสถานต่อไปภายหลังจากปี 2014 นอกจากนั้น เหตุการณ์คราวนี้ยังเป็นการเติมเชื้อเพิ่มความเหนื่อยหน่ายกับสงครามขึ้นภายในสหรัฐฯเองอีกด้วย แม้กระทั่งในหมู่ชาวพรรครีพับลิกันบางส่วน

วอชิงตัน – ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯพยายามยืนกรานว่า ยุทธศาสตร์การค่อสู้เอาชนะความไม่สงบ (counterinsurgency strategy) ของพวกเขายังคงเดินหน้าไปอย่างได้ผลอยู่นั้นเอง กรณีนายทหารชั้นประทวนยศจ่าสิบตรี (staff sergeant) ชาวอเมริกันคนหนึ่งก่อเหตุสังหารหมู่ชาวอัฟกันไป 16 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กๆ 9 คน ภายในบ้านของพวกเขาเองในจังหวัดกันดาฮาร์ (Kandahar) เมื่อช่วงเช้ามืดวันอาทิตย์(11)ที่ผ่านมา ก็กลายเป็นการถดถอยก้าวใหญ่อีกก้าวหนึ่ง สำหรับความหวังของวอชิงตันที่จะพยายามรักษาฐานที่มั่นทางทหารในอัฟกานิสถานเอาไว้ต่อไปภายหลังปี 2014

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ออกมาแถลงในวันจันทร์ (12) ว่า การสังหารหมู่คราวนี้เป็นการกระทำผิดของคนเพียงคนเดียว ซึ่งกระทำลงไปด้วยตัวของเขาเองทั้งหมด กระนั้นก็ตามที กรณีนี้ยังคงมีฐานะเป็นกรณีล่าสุดของเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระลอกในช่วงไม่นานมานี้ เป็นต้นว่า การเผยแพร่คลิปวิดีโอทางอินเทอร์เน็ตที่แสดงให้เห็นทหารอเมริกัน 4 คนกำลังปัสสาวะรดใส่ศพของชาวอัฟกันที่นอนตายอยู่ที่พื้น หรือ การเผาคัมภีร์อัลกุรอานที่นอกค่ายทหารสหรัฐฯแห่งหนึ่ง แม้ดูเหมือนจะเกิดจากความสะเพร่ามิใช่ความจงใจ เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนกระตุ้นให้ประชาชนชาวอัฟกันเกิดความโกรธแค้นและโหมทวีกระแสต่อต้านทหารสหรัฐฯตลอดจนทหารต่างชาติอื่นๆ

กรณีเหล่านี้ยังบังเกิดขึ้นท่ามกลางสัญญาณสิ่งบ่งชี้หลายประการว่า พวกผู้ออกเสียงชาวอเมริกันและรัฐสภาสหรัฐฯ ต่างกำลังรู้สึกหงิดหงิดผิดหวังเพิ่มขั้นเรื่อยๆ กับสงครามในอัฟกานิสถานซึ่งตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วก็ได้กลายเป็นสงครามครั้งที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯไปเรียบร้อยแล้ว

สัญญาณสิ่งบ่งชี้ดังกล่าวประการหนึ่ง ได้แก่ผลสำรวจความคิดเห็นครั้งใหม่ที่จัดทำโดย วอชิงตันโพสต์/ข่าวโทรทัศน์เอบีซี ซึ่งนำออกเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์(11) โพลสำรวจความเห็นนี้พบว่า ผู้ตอบคำถาม 60% เวลานี้เชื่อว่าการรณรงค์ทำศึกในอัฟกานิสถานไม่ได้เป็นการสู้รบที่คุ้มค่า เปอร์เซ็นต์ระดับนี้นับว่าเกือบเท่ากับสถิติสูงสุดที่เคยปรากฏในสงครามอันยืดเยื้อมาถึง 10 ปีแล้วนี้

ยิ่งกว่านั้น มีผู้ตอบคำถามเพียง 30% เท่านั้นที่บอกว่า พวกเขาเชื่อว่าชาวอัฟกันส่วนใหญ่สนับสนุนความพยายามของสหรัฐฯและองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ในประเทศของพวกเขา ขณะที่ 55% เชื่อว่าชาวอัฟกันส่วนใหญ่คัดค้านการที่มีทหารต่างชาติอยู่ในประเทศของตน

กรณีสังหารหมู่ครั้งนี้ เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากวอชิงตันและรัฐบาลอัฟกานิสถานของประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ (Hamid Karzai) สามารถทำความตกลงกันได้ในที่สุด เกี่ยวกับจุดสำคัญอย่างยิ่งจุดหนึ่งใน 2 จุด ซึ่งสองฝ่ายขัดแย้งกันอยู่ และกลายเป็นตัวขัดขวางไม่ให้มีการลงนามในข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยที่เนื้อหาสาระของข้อตกลงฉบับนี้ จะเปิดทางให้วอชิงตันยังคงรักษากองทหาร “ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา” จำนวนมากพอดูเอาไว้ในอัฟกานิสถาน รวมทั้งสามารถเข้าไปใช้ฐานทัพสำคัญๆ หลายๆ แห่งต่อไปภายหลังจากปี 2014 อันเป็นกำหนดเส้นตายซึ่งกำลังทหารต่างชาติที่ทำหน้าที่สู้รบทั้งหมด จะต้องออกไปจากอัฟกานิสถาน

จุดสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงกันได้ในสัปดาห์ที่แล้ว ได้แก่เรื่องการส่งมอบผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อความไม่สงบของกลุ่มตอลิบานจำนวนประมาณ 3,200 คน ที่ถูกกองทัพสหรัฐฯควบคุมตัวเอาไว้ในเรือนจำปารวัน (Parwan) ภายในฐานทัพอากาศบากรัม (Bagram) ให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของฝ่ายอัฟกันภายในระยะเวลา 6 เดือนต่อจากนี้ไป

ตามการตกลงกันในคราวนี้ สหรัฐฯจะยังมีอำนาจวีโต้ยับยั้ง ถ้าหากทางการผู้รับผิดชอบของฝ่ายอัฟกันจะปลดปล่อยผู้ต้องขังเหล่านี้คนหนึ่งคนใดที่ฝ่ายอเมริกันไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ตราบเท่าที่กองทหารสหรัฐฯยังคงตั้งประจำอยู่ในประเทศนี้ นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องกันด้วยว่า วอชิงตันจะยังคงเป็นผู้ควบคุมตัวพวกนักโทษที่มิใช่ชาวอัฟกัน ซึ่งเชื่อว่ามีสายสัมพันธ์ต่อเชื่อมกับกลุ่มอัลกออิดะห์

อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญอย่างยิ่งอีกจุดหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ ได้แก่ข้อเรียกร้องของคาร์ไซ ที่ให้กำลังทหารหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯยุติการออกปฏิบัติการจู่โจมในเวลากลางคืนเพื่อไล่ล่าบรรดาเป้าหมายที่ถูกระบุว่าเป็นพวกตอลิบาน การปฏิบัติการจู่โจมเช่นนี้ พวกนายทหารอเมริกันอวดว่าประสบผลสำเร็จทำให้สามารถจับกุมหรือสังหารนักรบตอลิบานไปเป็นจำนวนพันจำนวนหมื่นคนในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก็ถูกชาวอัฟกันจำนวนมากตลอดจนองค์กรนอกภาครัฐบาล (เอ็นจีโอ) ระดับนานาชาติทั้งหลายระบุว่า มันน่าจะเป็นสาเหตุประการสำคัญที่สุดที่ทำให้ชาวอัฟกันเคืองแค้นไม่พอใจการปรากฏตัวของทหารสหรัฐฯ

การสังหารหมู่เมื่อวันอาทิตย์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับกองทหารหน่วยรบพิเศษ บังเกิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอปันจะวาย (Panjwai) ของจังหวัดกันดาฮาร์ ซึ่งถือเป็นที่มั่นสำคัญแห่งหนึ่งของพวกตอลิบาน จวบจนกระทั่งสหรัฐฯเพิ่มกำลังทหารแบบพุ่งพรวดเข้าไปในอาณาบริเวณนี้ ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การต่อสู้เอาชนะความไม่สงบ ซึ่งผ่านความเห็นชอบของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในตอนปลายปี 2009

ตามรายงานข่าวหลายๆ กระแส นายทหารชั้นประทวนยศจ่าสิบตรีวัย 38 ปีผู้นี้ซึ่งเคยออกปฏิบัติหน้าที่ในอิรักมาหลายรอบแล้ว แต่เพิ่งถูกส่งตัวมาประจำการในอัฟกานิสถานเป็นเที่ยวแรกในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้ออกจากค่ายของเขาในตอนเช้ามืดของวันอาทิตย์ และเดินไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง จากนั้นก็บุกเข้าไปในบ้าน 3 หลังภายในรัศมี 500 เมตร จัดการยิงและแทงใส่ชาวบ้านในบ้านเรือนเหล่านี้ รวมทั้งเด็กเล็กๆ ด้วย ต่อมาเขาได้ย้อนกลับมายังค่าย และยอมมอบตัว เวลานี้เขายังคงถูกคุมขังอยู่ (จนกระทั่งถึงวันพฤหัสบดีที่ 15 พล.ท.เคอร์ติส สกาปาร์รอตติ ผู้บังคับบัญชาทหารอาวุโสอันดับ 2 ของสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน ได้แถลงว่า ได้นำตัวทหารอเมริกันผู้นี้ออกจากอัฟกานิสถานไปควบคุมตัวที่ประเทศคูเวตแล้ว โดยเขาให้เหตุผลว่าเพื่อให้มั่นใจว่าการสอบสวนและพิจารณาคดีจะสามารถดำเนินไปอย่างเป็นธรรมและถูกต้องเหมาะสม --ผู้แปล)

ขณะที่รายงานของเพนตากอนบอกด้วยว่า ภายหลังเกิดเหตุ พวกนายทหารที่รับผิดชอบค่ายแห่งนั้นได้ส่งทหารขึ้นเฮลิคอปเตอร์หลายลำ เพื่อไปช่วยกันเยียวยารักษาและขนชาวบ้านผู้ได้รับบาดเจ็บไปโรงพยาบาล ดังนั้นจึงกลายเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้เกิดข่าวลือแพร่สะพัดไปว่า มีทหารนอกแถวมากกว่า 1 คนเกี่ยวข้องพัวพันกับการโจมตีคราวนี้

อย่างไรก็ตาม แอน โจนส์ (Ann Jones) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “คาบูล อิน วินเทอร์” (Kabul in Winter) ซึ่งตีพิมพ์จำหน่ายเมื่อปี 2006 และเป็นนักวิจารณ์คนสำคัญที่วิพากษ์ยุทธวิธีต่อสู้เอาชนะการก่อความไม่สงบของสหรัฐฯในอัฟกานิสถานอย่างเผ็ดร้อน ให้ความเห็นว่า “ถึงแม้การประทุษร้ายครั้งล่าสุดนี้มีรายงานว่าเป็นฝีมือของทหารเพียงคนเดียว แต่ชาวอัฟกันจำนวนมากก็จะไม่เชื่อหรือไม่รับฟังหรอกว่า มันไม่ใช่เป็นการบุกจู่โจมของสหรัฐฯอีกหนหนึ่งเหมือนอย่างที่สหรัฐฯเคยกระทำอยู่เป็นประจำ ถึงยังไงมันก็ส่งผลแบบเดียวกันนั่นเอง”

“พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯไม่เข้าใจประเด็นโดยสิ้นเชิง ยังคงยืนยันว่าการสังหารหมู่ครั้งนี้เป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นมาครั้งเดียวแล้วจบ ในเมื่อชาวอัฟกันต่างรู้ดีว่าเหตุการณ์ทำนองนี้ยังจะเกิดขึ้นมาอีกเหมือนที่เคยเกิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน”

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ซึ่งก็รวมไปถึงประธานาธิบดีโอบามา, รัฐมนตรีกลาโหม เลียน เพเนตตา (Leon Panetta) ตลอดจนพวกผู้บังคับบัญชาทหารระดับสูง ต่างพากันออกคำแถลงแสดงความเสียใจหลายๆ ฉบับ นับตั้งแต่เกิดกรณีนี้ขึ้นมา พร้อมกับให้สัญญิงสัญญาว่าจะทำการสอบสวนอย่างเต็มที่ว่าเกิดอะไรขึ้น อีกทั้งจะไล่เรียงเอาผิดกับทุกๆ คนที่ต้องรับผิดชอบ

ระหว่างกล่าวปราศรัยในสหประชาชาติเมื่อวันจันทร์(12) รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี ร็อดแดม คลินตัน (Hillary Rodham Clinton) ของสหรัฐฯยังตั้งข้อสังเกตว่า วอชิงตัน “ประสบกับช่วงเวลาสองสามสัปดาห์อันยากลำบากและยุ่งยากซับซ้อนในอัฟกานิสถาน” แต่เธอก็ย้ำว่า “การอุทิศตนอย่างเด็ดเดี่ยวมั่นคงของเราที่จะพิทักษ์คุ้มครองประชาชนชาวอัฟกัน” ยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

แต่ขณะที่เจ้าหน้าที่บางคนแสดงความโล่งอกโล่งใจที่กรณีสังหารหมู่นี้ยังไม่ได้กลายเป็นชนวนก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงด้วยความรุนแรง -หรือเกิดเหตุทหารอัฟกันหันมาเล่นงานทหารสหรัฐฯโดยที่ดูเหมือนจะเป็นพฤติการณ์มุ่งล้างแค้น- ซึ่งเป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์เผาคัมภีร์อัลกุรอาน พวกนักวิเคราะห์อิสระหลายๆ รายก็เตือนว่า ถึงอย่างไรมันก็กลายเป็นการเพิ่มพูนความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งทวีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

“โศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดนี้ เกิดขึ้นต่อเนื่องได้จังหวะกันพอดี ภายหลังกรณีการเผาคัมภีร์กุรอานอย่างสะเพร่ามิได้ตั้งใจ และการเสียชีวิตของทหารนาโต้หลายต่อหลายคนจากฝีมือของทหารอัฟกันนอกแถว ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันจะกลายเป็นการโหมเปลวไฟแห่งความรู้สึกต่อต้านต่างชาติในอัฟกานิสถาน และยิ่งเพิ่มความติดขัดปีนเกลียวในสายสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลประธานาธิบดีคาร์ไซ กับพวกพันธมิตรนาโต้ของเขา” บรูซ ไรเดล (Bruce Reidel) อดีตนักวิเคราะห์ระดับท็อปในเเรื่องเอเชียใต้ของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) และเป็นสถาปนิกคนหนึ่งในการวางแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยอัฟกานิสถานและปากีสถานของโอบามา เขียนเอาไว้เช่นนี้ใน “เดอะ เดลี บีสต์” (The Daily Beast) เว็บไซต์ข่าวและความเห็น เมื่อวันจันทร์(11)ที่ผ่านมา

เขาชี้ต่อไปว่า การเข่นฆ่ากันเช่นนี้ “จะเพิ่มแรงกดดันให้แก่การเสาะแสวงหาหนทางออกทางการเมืองในสงครามอัฟกัน” พร้อมกับเสริมว่า ข้อเท็จจริงที่ว่ากลุ่มตอลิบานยังไม่ได้ยกเลิกการหารือเพื่อสันติภาพ และยังตกลงที่จะเปิดสำนักงานขึ้นในกาตาร์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การเจรจากัน ถึงแม้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมาแล้ว ย่อมถือเป็นสัญญาณที่พึงปรารถนา” (ในวันพฤหัสบดีที่ 15 กลุ่มตอลิบานแถลงผ่านทางเว็บไซต์ของตน ระงับการเจรจาหารือทุกๆ อย่างซึ่งกระทำกับฝ่ายอเมริกันในกาตาร์ ถึงแม้ไม่ได้หยิบยกเรื่องกรณีสังหารหมู่ล่สุด หรือการเผาคัมภีร์อัลกุรอาน มาเป็นเหตุผล แต่บอกว่าเป็นเพราะฝ่ายอเมริกันเปลี่ยนแปลงจุดยืนอยู่เรื่อยๆ -ผู้แปล)

แต่ อาเหม็ด ราชิด (Ahmed Rashid) ชาวปากีสถานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยเรื่องอัฟกานิสถาน และมีอิทธิพลอยู่ไม่น้อยต่อแวดวงผู้กำหนดจัดวางนโยบายในวอชิงตัน รวมทั้งยังคงเป็นสนับสนุนการพูดจาทำข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มตอลิบานด้วย ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) ฉบับวันจันทร์ว่า กองทหารของฝ่ายตะวันตกในอัฟกานิสถานกำลังเผชิญกับ “วิกฤตแห่งวามเชื่อมั่น” และ “ความปรารถนา (ของคาร์ไซ) ที่จะหาทางทำข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯ กำลังกลายเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวอัฟกันยอมรับไม่ได้มากขึ้นทุกทีๆ”

เหตุการณ์ล่าสุดนี้ยังจะเป็นการเพิ่มความเหน็ดหน่ายต่อสงครามขึ้นในสหรัฐฯอีกด้วย

นิวต์ กิงกริช (Newt Gingrich) ผู้ลงแข่งขันเพื่อเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน ถือว่าเป็นสายเหยี่ยวทางด้านนโยบายการต่างประเทศคนหนึ่ง โดยที่เขาเคยเรียกร้องให้ดำเนินนโยบายในแนวทางนี้หลายอย่างหลายประการ เป็นต้นว่าการทิ้งระเบิดถล่มใส่อิหร่าน แต่เขากลับออกมายอมรับในวันอาทิตย์หลังจากข่าวการสังหารหมู่แพร่ไปถึงวอชิงตันว่า ภารกิจของสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน “เป็นสิ่งที่กระทำไม่สำเร็จ” เสียแล้ว และการเข้าแทรกแซงของวอชิงตันในประเทศนั้น “บางทีอาจจะบังเกิดผลในทางตรงกันข้ามกับที่มุ่งประสงค์เอาไว้”

ชาวพรรครีพับลิกันนั้นไม่เหมือนกับชาวพรรคเดโมแครตและพวกอิสระทั้งหลาย ผู้ซึ่งคอยข้องใจสงสัยเกี่ยวกับสงครามคราวนี้อยู่เรื่อยๆ กระนั้นก็ตามที ในโพลล่าสุดปรากฏว่าเวลานี้ชาวพรรครีพับลิกันกำลังแตกออกเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนเกือบจะมีจำนวนเท่าๆ กันแล้ว เมื่อถูกสอบถามในประเด็นที่ว่าการทำสงครามอัฟกานิสถานนั้นคุ้มค่าหรือไม่ นอกจากนั้นสมาชิกรัฐสภาของรีพับลิกันบางคนก็กำลังคัดค้านการจัดสรรงบประมาณสำหรับอัฟกานิสถานในปีหน้า ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ล่าสุดด้วยซ้ำไป

กระทรวงกลาโหมและกองทัพสหรัฐฯแจ้งว่า จะไม่มีการเปิดเผยชื่อของทหารอเมริกันยศจ่าสิบตรีคนดังกล่าว จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่จากการสืบเสาะของสื่อมวลชนก็มีรายงานออกมาว่า เขากำลังเข้าร่วมอยู่ในการปฏิบัติการ “สร้างเสถียรภาพขึ้นในหมู่บ้าน” (village stabilization) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ต่อสู้เอาชนะการก่อความไม่สงบของสหรัฐฯ ที่มุ่งหาทางเอาชนะใจพวกผู้อาวุโสของหมู่บ้าน และจัดตั้งกองกำลังตำรวจท้องถิ่นขึ้นมา

ฐานทัพที่เป็นค่ายประจำของเขา และเป็นสถานที่ซึ่งมีรายงานว่าภรรยาและบุตร 3 คนของเขาพำนักอาศัยอยู่ในเวลานี้ คือ ฐานทัพผสมลิวอิส-แมคคอร์ด (Joint Base Lewis-McChord) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ เมืองทาโคมา (Tacoma) มลรัฐวอชิงตัน ที่นี่ยังเป็นค่ายประจำของหน่วยที่ถูกขนานนามว่า “ทีมนักล่า” (kill team) ซึ่งเป็นทีมที่นำโดยจ่าสิบตรีอีกผู้หนึ่งที่ได้สังหารพลเรือนชาวอัฟกันไปอย่างน้อย 3 คนในกรณีหลายๆ กรณีที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันในปี 2009 จากนั้นก็ตัดเอาส่วนต่างๆ ของร่างกายเหยื่อเหล่านี้มาเป็นที่ระลึก

จ่าสิบตรีผู้นั้นซึ่งมีชื่อว่า แคลวิน กิบส์ (Calvin Gibbs) ถูกศาลทหารในฐานทัพแห่งนี้พิพากษาว่ามีความผิดจริงในข้อความฆาตกรรมและข้อหาทางอาญาอื่นๆ และถูกตัดสินให้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว แต่เขามีโอกาสที่จะได้รับอิสรภาพหลังจากติดคุกไปแล้วแค่เพียง 10 ปี

จิม โล้บ จัดทำบล็อกว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งสามารถตามไปอ่านได้ที่ http://www.lobelog.com

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น