xs
xsm
sm
md
lg

เฟดมอง ศก.สหรัฐฯ แง่ดีดันน้ำมันบวก-ดาวโจนส์พุ่งเหนือ 13,000 จุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ราคาน้ำมันโลกขยับขึ้นเมื่อวันอังคาร (13) จากสถานการณ์ความตึงเครียดในประเด็นอิหร่าน และมุมมองทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเล็กน้อยของเฟด ขณะที่ปัจจัยหลังนี้ประกอบกับคำแถลงซื้อคืนหุ้นของเจพีมอร์แกน ก็ส่งให้วอลล์สตรีทพุ่งขึ้นอย่างแรง และดาวโจนส์ ปิดเหนือ 13,000 จุดอีกครั้ง

สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูดของสหรัฐฯ งวดส่งมอบเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 37 เซ็นต์ ปิดที่ 106.71 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเดียวกัน เพิ่มขึ้น 88 เซ็นต์ ปิดที่ 126.22 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันตลาดนิวยอร์ก ได้แรงหนุนจากมุมมองทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเล็กน้อยของที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขณะที่พวกเขามีมติคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำเตี้ยติดพื้นต่อไปเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดเตือนว่าสัญญาณแห่งการฟื้นตัวอันเปราะบางที่แสดงออกมาเร็วๆ นี้อาจถูกลากกลับสู่จุดอ่อนแอได้ แม้ว่าในวันเดียวกันนี้มีสัญญาณทางบวกเพิ่มเติมจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชาติผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ที่สุดในโลก หลังพบว่ายอดค้าปลีกของประทเศในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมร้อยละ 1.1

กระนั้นก็ดี ผลประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟดและข้อมูลค้าปลีกของสหรัฐฯ ก็กลายเป็นปัจจัยเสริมที่ผลักให้วอลล์สตรีท วานนี้ (13) ปิดในแดนบวกอย่างแรง โดยเฉพาะดาวโจนส์ที่พุ่งเหนือ 13,000 จุดอีกครั้ง หลังจากตลาดคึกคักเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้วจากคำแถลงซื้อคืนหุ้นลอตใหญ่ของเจพีมอร์แกน

ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 217.97 จุด (1.68 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 13,177.68 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 56.22 จุด (1.88 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 3,039.88 จุด เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 24.87 จุด (1.81 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,395.96

ตลาดขยับขึ้นไปอยู่ในแดนบวกตั้งแต่ช่วงต้นของการซื้อขายจากข้อมุลค้าปลีกของสหรัฐฯ ขณะที่เฟดยืนยันคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำท่ามกลางสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเล็กน้อยก็ช่วยเพิ่มเติมความสดชื่นแก่นักลงทุน

และสุดท้ายวอลล์สตรีทก็ดีดขึ้นอย่างแรงหลังจากเจพี มอร์แกน ธนาคารและวาณิชธนกิจชื่อก้องโลกแถลงว่าธนาคารผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) และเตรียมแตกหุ้นเพื่อเพิ่มทุนราวร้อยละ 20 รวมถึงเริ่มดำเนินการโปแกรมซื้อคืนหุ้น 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น