เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ภัยพิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพอากาศส่งผลให้ประชากรในทวีปเอเชียกว่า 42 ล้านคนต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพัฒนาเอเชีย(เอดีบี) กล่าวในรายงานวันนี้(13) ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลหาทางหลีกเลี่ยงวิกฤตในอนาคต
“เอเชียและแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติมากที่สุดในโลก ทั้งในด้านจำนวนภัยพิบัติที่เกิดขึ้นและประชากรที่ได้รับผลกระทบ” เอดีบี เผยรายงานที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นมหาอุทกภัยในรอบหลายสิบปีไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ภัยธรรมชาติอันเป็นผลจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้ประชากรในภูมิภาคนี้ต้องละทิ้งที่อยู่ถึง 31.8 ล้านคนในปี 2010 ซึ่งถือเป็นปีที่สภาพอากาศเลวร้ายเป็นประวัติการณ์ โดยในจำนวนนี้ยังรวมชาวปากีสถานกว่า 10 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งใหญ่
เอดีบี เปิดเผยว่า ปีที่แล้วมีประชาชนที่ประสบภัยธรรมชาติจนต้องทิ้งบ้านเรือนราว 10.7 ล้านคน พร้อมเตือนว่าเหตุการ์เช่นนี้จะเกิดบ่อยขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง
“ขณะที่ผู้อพยพส่วนใหญ่สามารถกลับไปยังบ้านเรือนของตนได้เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่โชคดีเช่นนั้น และต้องย้ายไปก่อร่างสร้างตัวในสถานที่ใหม่ หลังจากสูญเสียทรัพย์สินมากมาย” บินดู โลฮานี รองประธานเอดีบี แถลงในบทนำของรายงาน ซึ่งเผยแพร่ในการประชุมสภาพอากาศที่กรุงเทพมหานคร วานนี้(12)
6 ใน 10 ประเทศที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติมากที่สุดอยู่ในทวีปเอเชีย โดยอินเดียและบังกลาเทศติด 2 อันดับท็อปลิสต์ ขณะที่เนปาล, ฟิลิปปินส์, อัฟกานิสถาน และพม่า ก็ติดโผเสี่ยงภัยธรรมชาติเช่นกัน
“สภาพแวดล้อมกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นในเอเชียและแซิฟิก เนื่องจากประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น ชายฝั่งทะเล และริมแม่น้ำที่เกิดการกัดเซาะ” โลฮานี กล่าวในถ้อยแถลง
“รัฐบาลควรเตรียมมาตรการแก้ปัญหาโดยไม่รั้งรอ หากเราลงมือตั้งแต่วันนี้ จะสามารถลดความเปราะบางของชุมชน, เพิ่มความยืดหยุ่นในการรับมือภัยธรรมชาติ และใช้การอพยพย้ายถิ่นเป็นเครื่องมือปรับตัว มากกว่าจะเป็นความสิ้นหวัง”
รายงานซึ่งใช้ชื่อว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและการอพยพย้ายถิ่นในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก” เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ ออกมาตรการป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตในอนาคต
หนึ่งในข้อเสนอแนะของ เอดีบี ก็คือ ให้สนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการในเขตเมือง เพื่อรองรับผู้อพยพที่จะหลั่งไหลเข้าสู่เมืองใหญ่ๆเพิ่มขึ้น
“หากทำตั้งแต่วันนี้ รัฐบาลจะลดโอกาสเกิดวิกฤตมนุษยชนในอนาคต และเพิ่มความเป็นไปได้ที่คนจะอาศัยอยู่ในชุมชนดั้งเดิมของตนเอง หรือหากไม่สามารถทำได้เนื่องจากสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม อย่างน้อยพวกเขาก็สามารถย้ายถิ่นฐานเข้ามายังพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่า โดยมีทางเลือกในการดำรงชีวิต”
เอดีบี ระบุว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะต้องใช้เงินถึงปีละ 40,000 ล้านดอลลาร์โดยประมาณ เพื่อรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นับจากนี้จนถึงปี 2050