xs
xsm
sm
md
lg

ต้นทุนต้านภัยพิบัติเอเชีย4หมื่นล./ปี เอดีบีย้ำปัญหาโลกร้อนถี่-รุนแรงขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - “เอดีบี”ชี้เอเชีย-แปซิฟิกจะต้องใช้เงินถึงปีละ 40,000 ล้านดอลลา ร์เพื่อปกป้องเศรษฐกิจจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน ย้ำภัยพิบัติธรรมชาติจะเกิดถี่และรุนแรงขึ้น

บินดุ โลฮานี รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กล่าวในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวของกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิกที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯเมื่อวันจันทร์ (12) ว่าประเทศต่างๆ จำเป็นต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อสร้างการรับมือที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ในการจัดการกับภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้การประชุมคราวนี้เอง ก็เป็นการเลื่อนมาจากกำหนดการเดิมในปีที่แล้ว หลังจากไทยประสบอุทกภัยร้ายแรงที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 800 คน และบ้านเรือนนับแสนหลังเสียหาย

โลฮานีกล่าวต่อไปว่า ภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง และพายุโซนร้อน จะเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ตลอดทั้งการบรรเทาทุกข์และการบูรณะหลังภัยพิบัติเพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังทำให้ความท้าทายในการบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเอเชียเป็นภารกิจที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น

"ความที่เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานธุรกิจมากขึ้น ผลจากภัยพิบัติธรรมชาติจึงไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะพื้นที่เกิดเหตุเท่านั้น แต่ส่งผลต่อท้องถิ่นและภูมิภาคในวงกว้างขึ้น" รองประธานเอดีบีกล่าวและยกตัวอย่างว่า อุทกภัยในไทยทำให้ห่วงโซ่อุปทานของค่ายรถญี่ปุ่นหยุดชะงักรุนแรง

โลฮานีกล่าวกับตัวแทนราว 200 คนจากทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่า จากการประเมินเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า เอเชีย-แปซิฟิกต้องใช้เงินถึงปีละ 40,000 ล้านดอลลาร์โดยประมาณเพื่อรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับจากนี้จนถึงปี 2050 โดยที่ในปัจจุบัน มีการใช้ทรัพยากรยังไม่ถึง 10% ของตัวเลขนี้ด้วยซ้ำ

รองประธานเอดีบีสำทับว่า การบริหารจัดการความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่มีต่อโครงสร้างพื้นฐานจะมีมีค่าใช้จ่าย 5-15% ของต้นทุนการลงทุนพื้นฐาน และอาจสูงกว่า 20% ในโครงการเส้นทางขนส่งบางโครงการที่เพิ่งดำเนินการในระยะหลังๆ นี้

“แม้พวกประเทศพัฒนาแล้วได้ตกลงที่จะอัดฉีดเงิน 100,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2020 เพื่อการบรรเทาและการปรับตัว (เมื่อเผชิญผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน) แต่ตัวเลขนี้ที่ดูประทับใจนี้ ในทางเป็นจริงแล้วเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องใช้กันตั้งแต่วันนี้แล้ว และบางทีเราอาจต้องการมากกว่านี้ด้วยซ้ำ”

นายพิทยา พุกกะมาน ผู้ช่วยรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ขานรับว่า อุทกภัยเมื่อปีที่แล้วสะท้อนระดับความรุนแรงของปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นอีกหากไทยมีแผนพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น