xs
xsm
sm
md
lg

เอเชียยินดีโสมแดงระงับแผนนุก ตต.ไม่มั่นใจเปียงยางรักษาสัจจะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายทางดาวเทียมแสดงถึงที่ตั้งทางนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
เอเจนซี/เอเอฟพี - จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น วันพุธ (1 มี.ค.) ต่างแสดงความยินดีที่เกาหลีเหนือตกลงระงับกิจกรรมนิวเคลียร์แลกกับความช่วยเหลือด้านอาหารจากอเมริกา ขณะที่นักวิเคราะห์และนักการทูตยังไม่วางใจว่า ความพยายามปลดชนวนความขัดแย้งนี้จะ “ท่าดีทีเหลว” เหมือนเคย โดยที่เปียงยางจะกลับลำแบบครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมาหรือไม่

เกาหลีเหนือประกาศในวันพุธ (29 ก.พ.) ว่าจะระงับการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ การปล่อยขีปนาวุธพิสัยไกล และการเพิ่มความเข้มข้นของยูเรเนียมที่โรงงานนิวเคลียร์ในยองบอน รวมทั้งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) กลับเข้าตรวจสอบ

กระนั้นไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเปียงยางจะยอมให้เจ้าหน้าที่กลับเข้าไปจำนวนเท่าใด และนอกจากที่ยองบอนแล้วจะระงับโครงการอาวุธนิวเคลียร์อื่นๆ ทั้งหมดหรือไม่

ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้มีขึ้นสองเดือนหลังจากคิม จองอึน สืบทอดตำแหน่งประมุขเกาหลีเหนือแทนคิม จองอิล ผู้พ่อที่ถึงแก่อสัญกรรม และรับมอบอำนาจการบริหารประเทศที่ถูกโดดเดี่ยวและถูกคว่ำบาตรมานานปีสืบเนื่องจากโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็แถลงในเวลาไล่เลี่ยกับการประกาศของโสมแดงว่า อเมริกาพร้อมเดินหน้าจัดส่งความช่วยเหลือด้านอาหาร 240,000 ตัน เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนตามที่เกาหลีเหนือร้องขอ และจะมีการตกลงเพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อไป

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ผู้หนึ่งเปิดเผยว่า วอชิงตันได้ปฏิเสธคำขอของเปียงยางที่ต้องการได้ข้าวและธัญญาหารต่างๆ เนื่องจากเกรงว่าจะถูกทางการโสมแดงเบียดบังหันเหส่งไปให้พวกผู้นำและกองทัพ โดยยืนกรานจะจัดส่งพวกน้ำมันพืช, ถั่วชนิดต่างๆ และอาหารพร้อมรับประทานสำหรับเด็กเล็กและสตรีมีครรภ์

สหรัฐฯ นั้นยังคงมีท่าทีระวังตัวมาก โดยในขณะที่ เจย์ คาร์นีย์ โฆษกทำเนียบขาวกล่าวว่า พัฒนาการนี้นับเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีอย่างสันติ

ทว่า ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศ บอกว่า นี่เป็นก้าวแรกในทิศทางที่ถูกต้อง แต่วอชิงตันยังกังวลลึกๆ เกี่ยวกับขอบเขตกิจกรรมนิวเคลียร์ของเปียงยาง

สำหรับจีน ผู้เป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาอเมริกา-เกาหลีเหนือเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อันนำมาสู่ข้อตกลงคราวนี้ อีกทั้งเป็นมหาอำนาจแห่งเดียวที่สนับสนุนเปียงยาง ได้แสดงความยินดีกับข้อตกลงคราวนี้ พร้อมระบุว่าจะดำเนินการเพื่อฟื้นการเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพอันยั่งยืนของเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

การเจรจาปลดอาวุธที่ชะงักงันมาหลายรอบ ครั้งล่าสุดคือปี 2008 นั้น มีผู้ร่วมเจรจารวม 6 ฝ่าย ได้แก่ เกาหลีเหนือและใต้ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ภายหลังที่การหารือหยุดไป เปียงยางก็ขับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบนิวเคลียร์ของไอเออีเอ ที่เป็นหน่วยงานชำนาญพิเศษของยูเอ็นออกจากประเทศในปี 2009

ทางด้านญี่ปุ่น พันธมิตรใกล้ชิดของอเมริกา วันพุธ (1) ได้ออกมาขานรับความคิดเห็นของปักกิ่ง และว่าบรรยากาศดูเอื้ออำนวยมากขึ้นสำหรับการเจรจา 6 ฝ่ายกันใหม่ แต่เห็นด้วยกับเจ้าหน้าที่อเมริกันที่ย้ำว่า เปียงยางต้องรักษาคำพูด

เกาหลีใต้แสดงความยินดีเช่นกัน โดยกล่าวว่านี่จะเป็นพื้นฐานสำหรับการเจรจาด้านนิวเคลียร์ที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น

ส่วน บัน คีมูน เลขาธิการใหญ่ยูเอ็นซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของเกาหลีใต้ ได้แสดงความหวังว่า เกาหลีเหนือจะเดินหน้าลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีแบบที่สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงเน้นย้ำให้จัดประชุมด่วนเพื่อหารือเกี่ยวกับความจำเป็นด้านมนุษยธรรมสำหรับผู้ที่อ่อนแอที่สุดในเกาหลีเหนือที่ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารเรื้อรัง

สหรัฐฯ นั้นระงับความช่วยเหลือที่ให้เกาหลีเหนือในปี 2009 จากข้อพิพาทเรื่องความโปร่งใสและการตรวจสอบนิวเคลียร์ ทำให้ปัญหาความอดอยากในแดนโสมแดงยิ่งเลวร้าย โดยมีการประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 1 ล้านคนในทศวรรษ 1990 ซึ่งเปียงยางถูกกล่าวหาว่า ยักย้ายความช่วยเหลือไปให้แก่กองทัพหรือกระทั่งส่งออกไปขายนอกประเทศ

อย่างไรก็ตาม แจ็ก พริตชาร์ด อดีตผู้เจรจาของสหรัฐฯ และปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจเกาหลี เชื่อว่า คิม จองอึน ผู้นำใหม่ไร้ประสบการณ์ของเปียงยาง ไม่น่าจะพร้อมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมด

ขณะที่ แดเนียล พิงค์สตัน จากกลุ่มคลังสมอง อินเตอร์เนชันแนล ไครซิส กรุ๊ป อ้างอิงรายงานข่าวกรองว่า เกาหลีเหนือน่าจะมีโรงงานเพิ่มความเข้มข้นของยูเรเนียมอีก 2-3 แห่งนอกเหนือจากที่ยองบอน
กำลังโหลดความคิดเห็น