เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรี จูเลีย กิลลาร์ด แห่งออสเตรเลีย ประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้นำพรรคแรงงานคนใหม่ในวันจันทร์หน้า (27) ซึ่งถือเป็นการเปิดศึกเผชิญหน้ากับอดีตนายกฯ เควิน รัดด์ ผู้หมายทวงอำนาจคืนอย่างเต็มรูปแบบ
การลงคะแนนเลือกผู้นำพรรคแรงงานจะมีขึ้นเมื่อเปิดสภาในวันจันทร์ (27) หลังจากที่ รัดด์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ระหว่างเยือนกรุงวอชิงตัน วานนี้ (22) ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่ากิลลาร์ดวางแผนจะปลดเขาจากตำแหน่งรัฐมนตรีโทษฐานบั่นทอนความมั่นคงของพรรค
“ชาวออสเตรเลียเบื่อหน่ายเรื่องนี้เต็มทน และต้องการให้มันจบไปเสียที” กิลลาร์ดกล่าวต่อผู้สื่อข่าว โดยหมายถึงเกมแก่งแย่งอำนาจระหว่างเธอและรัดด์ ที่รัฐมนตรีหลายคนชี้ว่าเป็นเหมือน “ละครตลก”, “ละครน้ำเน่า” และ “เรื่องขำขัน”
กิลลาร์ดยืนยันจะเสนอตัวเป็นผู้นำพรรคต่อไป และหากพ่ายแพ้แก่รัดด์ ก็จะยอมถอยไปอยู่หลังฉากไม่กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีก พร้อมกับเรียกร้องให้ รัดด์ ทำในสิ่งเดียวกันด้วย
ความระส่ำระสายภายในพรรครัฐบาลออสเตรเลียเกิดขึ้นเมื่อมีการคาดหมายว่า รัดด์ ซึ่งถูกปลดจากเก้าอี้นายกฯ อย่างกะทันหันเมื่อปี 2010 และยังได้รับความนิยมอย่างสูงจากชาวออสเตรเลีย อาจคิดทวงตำแหน่งผู้นำประเทศคืน
แม้จะยังไม่มีแผนอย่างเต็มรูปแบบ ทว่า รัดด์ ก็กล่าวต่อที่บรรดาสมาชิกพรรคถึงความสำเร็จของรัฐบาลสมัยที่ตนยังเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบินกลับออสเตรเลีย
รัดด์ เอ่ยถึงนโยบายสำคัญ 4 ประการที่จะทำให้สำเร็จหากกลับมาเป็นผู้นำประเทศได้ นั่นคือ ฟื้นความเชื่อมั่นทางธุรกิจ, เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรม, ปฏิรูประบบสาธารณสุข และปฏิรูปการศึกษา
อดีตนายกฯ วัย 54 ปี ยังเผยความปรารถนาในตำแหน่งผู้นำอย่างเด่นชัด โดยกล่าวว่ากิลลาร์ดจะไม่ชนะการเลือกตั้งซึ่งจะมีขึ้นในปี 2013
“ผมไม่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีกิลลาร์ดจะสามารถนำพาพรรคแรงงานให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้” รัดด์เผย โดยระบุว่าตนรู้สึกมีกำลังใจที่ได้รับแรงสนับสนุนให้กลับมาเป็นผู้นำประเทศอีก
“ผมยังมีอีกหลายอย่างที่จะเรียกร้อง แต่คนส่วนใหญ่ก็บอกมาว่าพวกเขาเห็นผมเป็นคนที่มีศักยภาพมากที่สุดที่จะนำพรรคแรงงานไปสู่ความสำเร็จในการเลือกตั้งทั่วไปคราวหน้า”
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายงานว่า ในจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 103 คนของพรรคแรงงาน มีผู้สนับสนุน กิลลาร์ด อยู่ 49 เสียง และสนับสนุน รัดด์ 37 เสียง ส่วนอีก 17 คนยังไม่ตัดสินใจ
ทั้งนี้ ผู้ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากความขัดแย้งภายในพรรคแรงงานก็คือ โทนี แอ็บบ็อต หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ที่ระบุว่า การแย่งชิงอำนาจกันเป็น “สิ่งที่น่าอับอาย”
“เห็นได้ชัดขึ้นทุกทีว่า ขณะนี้ออสเตรเลียเป็นประเทศใหญ่ที่กำลังถูกบั่นทอนอย่างหนักโดยรัฐบาลแย่ๆ” เขากล่าว