เอเจนซี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (เอสแอนด์พี) ประกาศเตือนวันนี้(20)ว่า อาจลดเครติดของญี่ปุ่นลงอีกหากเศรษฐกิจไม่เติบโตตามคาด หรือหนี้สินสาธารณะเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเร่งผลักดันแผนปรับขึ้นภาษีผู้บริโภคอีก 1 เท่าตัวภายในปี 2015
เอสแอนด์พี ยังคงระดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นอยู่ที่ AA- โดยมีภาพรวมเป็นลบ และเตือนว่า การขึ้นภาษีผู้บริโภคจะไม่ช่วยแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมสูงขึ้นเรื่อยๆ
หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นจัดว่าสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม และรัฐบาลอาจไม่สามารถชะลอการตัดงบรายจ่ายหรือขึ้นภาษีผู้บริโภคได้อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากปัญหาหนี้สินของยุโรปส่อเค้ากระทบกระเทือนถึงเศรษฐกิจโลกโดยรวม
“เราจะพิจารณาลดเรตติ้งทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หากแนวโน้มหนี้สินของญี่ปุ่นยังคงเดิม หรือเริ่มส่งผลเสียต่อสถานะภายนอกของญี่ปุ่น” เอสแอนด์พี ระบุในถ้อยแถลง
“ในทางตรงข้าม เราอาจปรับภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็นเสถียร หากรัฐบาลใช้มาตรการที่เข้มแข็งเพื่อปรับสภาวะการคลังให้เข้าสู่สมดุลอย่างยั่งยืน”
เอสแอนด์พี และ ฟิตช์ ต่างให้ระดับความน่าเชื่อถือญี่ปุ่นอยู่ที่ AA- โดยมีภาพรวมเศรษฐกิจเป็นลบ ขณะที่ มูดีส์ ให้เรตติ้ง Aa3 ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกัน ทว่ายังคงประเมินภาพรวมเศรษฐกิจเป็นเสถียร
เรตติ้งของญี่ปุ่นอาจถูกปรับลงกว่านี้ หากค่าจีดีพีต่อหัวดิ่งลงเกินกว่า 1.2 เปอร์เซ็นต์ ตามที่ เอสแอนด์พี คาดการณ์ไว้
ปลายปีที่แล้ว พรรครัฐบาล เดโมแครติก ปาร์ตี ออฟ เจแปน อนุมัติกรอบเวลาในการปรับขึ้นอัตราภาษีผู้บริโภคเพื่อนำเงินมาอุดหนุนระบบสวัสดิการสังคม โดยจะปรับภาษีจาก 5 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน เป็น 8 เปอร์เซ็นต์ในเดือนเมษายน ปี 2014 และขยับอีกครั้งเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ภายในเดือนตุลาคม ปี 2015
นายกรัฐมนตรี โยชิฮิโกะ โนดะ จำเป็นต้องได้เสียงสนับสนุนจากฝ่ายค้านซึ่งครองที่นั่งในสภาสูง เพื่อผ่านกฎหมายขึ้นภาษีผู้บริโภค ทว่าในปัจจุบันคะแนนนิยมของนายกรัฐมนตรีเริ่มลดลง และฝ่ายค้านก็มีท่าทีปฏิเสธให้ความร่วมมือ เนื่องจากต้องการผลักดันให้มีการเลือกตั้งใหม่
แม้การขึ้นภาษีผู้บริโภคจะช่วยบรรเทาการขาดดุลงบประมาณลงได้ ทว่าไม่อาจเปลี่ยนแปลงอัตราชราภาพในญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลต้องมีค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นด้วย
เอสแอนด์พี ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรตติ้งของญี่ปุ่นตกต่ำลงก็คือ พื้นฐานนโยบายของรัฐที่ค่อนข้างอ่อนแอ
จากการประเมินของรัฐบาลพบว่า แม้จะขึ้นภาษีผู้บริโภคเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังไม่เพียงพอที่จะลดสัดส่วนหนี้สาธารณะซึ่งสูงเกือบ 2 เท่าของมูลค่าจีดีพี 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯของญี่ปุ่นได้