xs
xsm
sm
md
lg

ตะวันตกแซงก์ชันทำอิหร่านถังแตก ผู้ค้าหยุดส่งข้าว-น้ำมันปาล์มไปขาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มะห์มูด อะห์มาดิเนจัด ประธานาธิบดีอิหร่าน
เอเจนซี - มาตรการแซงก์ชั่นพ่นพิษ แหล่งข่าวเผยอิหร่านถังแตก ไม่มีเงินจ่ายค่าข้าว-น้ำมันปาล์ม กระทั่งผู้ส่งออกสินค้าพื้นฐานทั้งสองชนิดต้องหยุดค้าขายด้วย

มาตรการลงโทษคว่ำบาตร ทางเศรษฐกิจและการเงิน ที่นำมาใช้โดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ทำให้ผู้สั่งซื้อน้ำมันปาล์มของอิหร่านมีปัญหาทั้งในการหาแอลซี (Letter of Cradit หนังสือรับรองการชำระค่าสินค้าที่ออกโดยธนาคารของผู้นำเข้า) และในการจ่ายเงินด้วยวิธีผ่านคนกลางในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เพื่อจ่ายต่อให้แก่ผู้ส่งออกมาเลเซีย

มาเลเซียนั้นเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอันดับ 2 ของโลก และเป็นซัปพลายเออร์สำคัญของอิหร่านเช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอันดับ 1 ของโลก

ปีที่ผ่านมา มาเลเซียส่งออกน้ำมันปาล์มให้อิหร่านโดยตรง 342,256 ตัน หรือเท่ากับปริมาณการจัดส่งให้จีนใน 1 เดือน คิดเป็นมูลค่า 376 ล้านดอลลาร์ ณ ราคาตลาดปัจจุบัน

เทรดเดอร์แดนเสือเหลืองรายหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อตกลงจัดส่งน้ำมันปาล์มให้อิหร่านเผยว่า บริษัทส่วนใหญ่ระงับการขายน้ำมันปาล์มให้เตหะรานตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เนื่องจากไม่ได้รับการชำระเงิน และไม่มีใครอยากเสี่ยงส่งสินค้าทางเรือไปยังอิหร่านที่กำลังมีสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมือง

กระทรวงสินค้าโภคภัณฑ์และสภาน้ำมันปาล์มมาเลเซีย ซึ่งเป็นหน่วยงานการตลาดน้ำมันปาล์มสำคัญของประเทศ ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้

อิหร่านนั้นถือเป็นตลาดสำคัญที่สร้างรายได้ปีละกว่า 500 ล้านดอลลาร์สำหรับผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอเมริกาใต้ ด้วยเหตุนี้ สภาน้ำมันปาล์มมาเลเซียจึงขอให้บริษัทท้องถิ่นพิจารณาตั้งโรงกลั่น โรงงานบรรจุภัณฑ์ และการติดตั้งระบบต่างๆ ในท่าเรือบันดาร์ อับบาสของอิหร่าน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในการนำเข้า
ทว่า เทรดเดอร์อีกคนบอกว่า ไม่มีบริษัทเอกชนรายใดปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าว

ก่อนหน้าการระงับการส่งออก บริษัทมาเลเซียขายน้ำมันปาล์มให้อิหร่านโดยตรง หรือส่งทางเรือไปยังดูไบ ซึ่งจะจัดเก็บน้ำมันปาล์มไว้ในคลังและเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่ก่อนส่งต่อไปยังท่าเรือบันดาร์ อับบาส

ทั้งนี้ อเมริกาเริ่มมาตรการลงโทษอิหร่านตั้งแต่ต้นปี โดยมีเป้าหมายที่สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องกับธนาคารกลางอิหร่าน เพื่อสกัดเส้นทางรายได้จากน้ำมัน ขณะที่อียูตกลงแบนการนำเข้าน้ำมันจากเตหะราน ซึ่งจะมีผลโดยสมบูรณ์ภายใน 6 เดือน

เวลานี้ อิหร่านที่มีประชากร 74 ล้านคน จึงมีปัญหาในการส่งเงินสกุลแข็งจากการขายน้ำมันดิบกลับประเทศ โดยที่เงินจากน้ำมันถือเป็นแหล่งที่มาสำคัญของเงินตราต่างประเทศที่จำเป็นสำหรับการชำระสินค้าอาหารอย่างข้าว และน้ำมันปาล์มใช้ประกอบอาหาร ตลอดจนสินค้านำเข้าชนิดอื่นๆ

ปัญหานี้ยังได้รับการตอกย้ำจากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันอังคาร (7) ที่ระบุว่า ผู้ซื้ออิหร่านผิดนัดชำระค่าข้าวราว 200,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 144 ล้านดอลลาร์ที่สั่งซื้อจากอินเดีย

การผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวส่งผลให้วิเจย์ เซเตีย ประธานสมาคมผู้ส่งออกข้าวของอินเดียเรียกร้องสมาชิกหยุดขายข้าวแบบให้เครดิตแก่อิหร่าน รวมถึงขอให้ทางการนิวเดลีเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งแหล่งข่าวของรัฐบาลยอมรับว่า มีการขอความช่วยเหลือจริง

เซอร์เตียสำทับว่า ซัปพลายเออร์ในไทย เวียดนาม และปากีสถาน ต่างหยุดขายข้าวแบบให้เครดิตแก่อิหร่านแล้วเช่นกัน ขณะที่เทรดเดอร์ยูเครนและยุโรปบอกว่า จะไม่จองเรือสินค้าเพื่อการจัดส่งข้าวสาลีของยูเครนไปให้อิหร่านอีกต่อไป เนื่องจากมีปัญหาในการจ่ายเงิน

ทางด้านสมาคมผู้ส่งออกข้าวของไทย ระบุว่า ไทยหยุดขายข้าวให้อิหร่านตั้งแต่เมื่อราวหนึ่งทศวรรษมาแล้วอิหร่านนั้นต้องนำเข้าข้าวถึง 45% ของปริมาณการบริโภคต่อปีที่ 2.9 ล้านตัน และอินเดียถือเป็นซัปพลายเออร์สำคัญที่ส่งข้าวให้ราว 70% ของปริมาณที่เตหะรานต้องการ
กำลังโหลดความคิดเห็น