xs
xsm
sm
md
lg

บ.ญี่ปุ่นได้โอกาสเยนแข็ง-ทุนหนาสยายปีกกว้านซื้อกิจการต่างแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี - ค่าเงินเป็นใจ แถมเงินสดสำรองก้อนใหญ่ และมหกรรมของถูกโดยเฉพาะในยุโรป ส่งผลให้ปีที่ผ่านมา บริษัทญี่ปุ่นออกไปซื้อกิจการนอกประเทศทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 70,000 ล้านดอลลาร์

บริษัทหลายแห่งในจำนวนนี้เป็นกิจการข้ามชาติอยู่แล้ว แต่มีไม่น้อยที่ออกไปผจญภัยครั้งแรก พวกนักวิเคราะห์บอกว่า ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ยังเป็นการบ่งชี้แนวโน้มที่สะท้อนปัจจัยระยะยาวภายในญี่ปุ่นเอง 2 อย่าง คือ เศรษฐกิจในประเทศกำลังหยุดนิ่งและจำนวนประชากรกำลังลด

ฮิโตชิ โมโตฮาระ กรรมการบริหารและเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของรีครูต บริษัทจัดหางานใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1963 แต่เพิ่งสยายปีกออกต่างแดนจริงจังเมื่อสองปีที่แล้ว บอกว่า รีครูตจำเป็นต้องเติบโตต่อเนื่อง ดังนั้น หลังจากกุมส่วนแบ่งตลาดในญี่ปุ่นได้แล้ว จึงต้องออกไปแสวงหาโอกาสภายนอก และจุดหมายคือสหรัฐฯ ตลาดการจัดหางานใหญ่ที่สุดของโลก

เดือนที่แล้ว รีครูตซื้อกิจการแอดแวนเทจ รีซอร์สซิ่ง อเมริกา และแอดแวนเทจ รีซอร์สซิ่ง ยุโรป ด้วยเงิน 410 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการซื้อกิจการนอกประเทศครั้งที่ 3 นับจากปี 2010 และปูทางสู่การเป็นผู้เล่นระดับโลก โมโตฮาระเสริมว่า ยังจะมีการซื้อกิจการเพิ่มในอเมริกา

รีครูตเป็นหนึ่งในบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้นที่มองหาลู่ทางนำเงินทุนออกไปใช้จ่ายนอกประเทศ

ทาคาระ โทมี่ ผู้ผลิตของเล่นญี่ปุ่น ซื้อกิจการต่างแดนครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ด้วยเงิน 640 ล้านดอลลาร์ที่จ่ายให้แก่อาร์เอสทูของอเมริกา เพื่อพาตัวเองเทียบชั้นแมตเทลและฮาสโบร สองบริษัทของเล่นชั้นนำของโลก

เดือนกันยายน บริษัทบรรจุภัณฑ์ โตโย ไซกัน ออกผจญภัยนอกบ้านครั้งแรกด้วยการซื้อสโตลล์ แมชีนเนอรี ราคา 775 ล้านดอลลาร์ และนิชชินโบ โฮลดิ้งส์ ผู้ผลิตสิ่งทอ กระดาษ และเบรกในรถยนต์ กลายเป็นผู้ผลิตแป้นเบรกใหญ่ที่สุดของโลกจากการซื้อทีเอ็มดี ฟริกชัน กรุ๊ปของลักเซมเบิร์กในเดือนพฤศจิกายน มูลค่าทั้งสิ้น 577 ล้านดอลลาร์ และเป็นการซื้อกิจการนอกประเทศครั้งแรกของบริษัทนับจากปี 1999

เจเรมี ไวท์ นักกฎหมายที่เชี่ยวชาญด้านการควบรวมและผนวกกิจการ (เอ็มแอนด์เอ) ของบริษัทกฎหมาย อัลเลน แอนด์ โอเวอรี ในโตเกียว ชี้ว่าขณะนี้มีบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้นที่พิจารณาแผนการควบรวมและผนวกกิจการในต่างแดน ในจำนวนนี้รวมถึงบริษัทที่แทบไม่เคยมีประสบการณ์ในเรื่องนี้เลย

ปีที่ผ่านมา มูลค่าการทำอาร์แอนด์เอนอกประเทศของบริษัทญี่ปุ่นทะยานขึ้นถึง 84% นำโดยบรรษัทข้ามชาติที่ชื่อเสียงเป็นที่คุ้นเคยบางแห่ง และได้แรงกระตุ้นจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น 5.5% เมื่อเทียบดอลลาร์ และ 9% เมื่อเทียบยูโร

ข้อมูลของสำนักข่าวธอมสัน รอยเตอร์ยังบ่งชี้ว่า แม้ข้อตกลงใหญ่สุด 10 อันดับแรกที่มีมูลค่าถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าเอ็มแอนด์เอปีที่แล้วเกิดขึ้นจากบรรษัทข้ามชาติของญี่ปุ่น นำโดยทาเคดะ ฟาร์มาซูติคัล, คิริน โฮลดิ้งส์ และโตคิโอะ มารีน โฮลดิ้งส์ แต่เมื่อแยกย่อยสถิตินี้ จะเห็นเรื่องราวที่ต่างออกไป

กล่าวคือจำนวนข้อตกลงที่เพิ่มขึ้นกว่า 1 ใน 5 ในปี 2011 มาจากบริษัทขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่เคยโฟกัสแต่ตลาดในบ้าน จึงพลอยตกต่ำไปตามสภาพตลาดท้องถิ่น

ปีที่ผ่านมา บริษัทในภาคอุตสาหกรรมที่เน้นหนักตลาดญี่ปุ่น เช่น สุขอนามัย โทรคมนาคม และค้าปลีก พากันออกไปวาดลวดลายนอกประเทศโดดเด่นกว่าปี 2010 โดยเฉพาะสุขอนามัยที่กลายเป็นที่ 1 ด้วยมูลค่าเอ็มแอนด์เอสูงถึง 20,600 ล้านดอลลาร์

ปีที่แล้วภาคสุขอนามัยแดนปลาดิบซื้อกิจการนอกประเทศมากกว่าปี 2010 ถึง 50% แม้ไม่นับรวมการซื้อไนโคเม็ดแห่งสวิตเซอร์แลนด์มูลค่า 13,700 ล้านดอลลาร์โดยทาเคดะก็ตาม ขณะที่ภาคค้าปลีกและภาคสื่อสารโทรคมนาคมที่ถือเป็นผู้ซื้อกิจการต่างแดนรายเล็ก มีสัดส่วนในมูลค่าการซื้อกิจการต่างแดนเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า

สาเหตุไม่ได้เพียงเพราะยอดขายที่ได้จากผู้บริโภคในประเทศลดลงเท่านั้น แต่ยังเนื่องจากจำนวนผู้บริโภคภายในประเทศก็กำลังลดลงในระยะยาวด้วย

ประชากรญี่ปุ่นที่ขณะนี้มีจำนวน 128 ล้านคนถูกคาดหมายว่า จะลดลง 30% ในปี 2006 โดยที่ประชากรวัยทำงานหดตัวลงเกือบครึ่งของปัจจุบัน

และด้วยความที่ไม่สามารถขึ้นราคาหรือเพิ่มยอดขายได้ง่ายๆ เนื่องจากลูกค้าเองอัตคัตขัดสนยิ่งขึ้น ธุรกิจในประเทศจึงมีทางเลือกน้อยมาก กระนั้น ยังมีข้อได้เปรียบสองข้อคือ การแข็งค่าของเงินเยนและเงินสดเหลือเฟือกว่าบริษัทยุโรปหรืออเมริกา โดยบริษัทญี่ปุ่นมีเงินสด 5.8% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว เทียบกับ 2.7% สำหรับบริษัทอเมริกัน และ 1% สำหรับบริษัทยุโรป

ดาอิจุ เอโอกิ นักเศรษฐศาสตร์ของยูบีเอส ซีเคียวริตี้ส์ในโตเกียว ชี้ว่าญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มสยายปีกออกนอก และแนวโน้มนี้ยังไม่มีแนวโน้มพลิกกลับ แม้เงินเยนอ่อนค่าลงก็ตาม แต่กลับจะมากขึ้นจากการคาดว่า เศรษฐกิจอเมริกาจะฟื้นคืนชีพ

สำหรับปีนี้ สถาบันการเงินขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นเป็นแกนนำในการเลือกซื้อกิจการแบงก์ยุโรปที่กำลังประสบปัญหา ตัวอย่างเช่นซูมิโตโม มิตซุย ไฟแนนเชียล กรุ๊ป กลุ่มกิจการธนาคารอันดับ 3 ของประเทศ และบริษัทการค้า ซูมิโตโม กำลังเข้าซื้อธุรกิจเช่าซื้อเครื่องบินจากรอยัล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ เป็นเงิน 7,300 ล้านดอลลาร์

บริษัทแดนปลาดิบขนาดเล็กที่อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก กำลังตามมาติดๆ โดยส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้ปล่อยกู้ในประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยมากจากวิกฤตยุโรป ซึ่งเมื่อประกอบกับปัจจัยทั้งหมดแล้วจะทำให้บริษัทญี่ปุ่นกลายเป็นนักล่ากิจการระดับโลก

กระนั้น แบงก์และลูกค้าในประเทศของญี่ปุ่นจะดำเนินการรอบคอบ เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ไร้ความแน่นอน โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป

ยูอิชิ จิมโบ หัวหน้าแผนกวาณิชธนกิจของซิตี้กรุ๊ป โกลบัล มาร์เก็ตส์ เจแปน ชี้ว่า ความท้าทายสำหรับประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินในญี่ปุ่นในปีนี้คือ การรักษาสมดุลระหว่างการลงทุนเชิงกลยุทธ์กับการจัดการงบดุล
กำลังโหลดความคิดเห็น