เอเอฟพี - หลังสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา อิหร่านจึงหันหน้าพึ่งตลาดเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในขณะนี้
“การค้ากับยุโรปที่เคยคิดเป็นร้อยละ 90 ของการส่งออก ปัจจุบันเหลือเพียง 2,300-2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น” ประธานาธิบดี มะห์มูด อาห์มาดิเนจัด เผย หลังจากที่สหภาพยุโรปประกาศคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติม เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
บทลงโทษทางเศรษฐกิจซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อกดดันให้อิหร่านยุติกิจกรรมนิวเคลียร์ “ไม่ได้ทำให้โลกแคบลงสำหรับเรา” อาห์มาดิเนจัด กล่าว
คาดกันว่า อิหร่านน่าจะส่งออกน้ำมันไปแล้วเป็นมูลค่าราว 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มิใช่น้ำมันอีก 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดปีปฏิทินอิหร่านที่ผ่านมา ซึ่งจะสิ้นสุดราวกลางเดือนมีนาคมนี้ ส่วนมูลค่าการนำเข้าในช่วงเวลาเดียวกันน่าจะอยู่ที่ราวๆ 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการคาดคะเนอย่างเป็นทางการ
“เช่นเดียวกับที่ผ่านมา การคว่ำบาตรจะทำให้เราต้องตัดสัมพันธ์กับตะวันตก” พลเอก ฮอสเซน ซาลามี ผู้นำเบอร์ 2 ของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Revolutionary Guards) กล่าวเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งหน่วยงานของเขาก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักที่ตะวันตกต้องการคว่ำบาตรด้วย
ที่ผ่านมา อิหร่านส่งออกน้ำมันร้อยละ 20 ให้แก่สหภาพยุโรป ซึ่งเป็นผู้ซื้อน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 รองจากจีน
เตหะรานส่งออกน้ำมันร้อยละ 70 ให้กับตลาดเอเชีย โดยเฉพาะจีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เฉพาะจีนและอินเดียนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านรวมกันถึงร้อยละ 40 และทั้ง 2 ประเทศก็ยังไม่ยอมปฏิบัติตามแผนคว่ำบาตรของตะวันตก โดยระบุว่า จะยึดถือเฉพาะคำสั่งขององค์การสหประชาชาติเท่านั้น
มูลค่าการค้าระหว่างจีนและอิหร่านเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 มาอยู่ที่ 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงปี 2010-2011 และทั้ง 2 ประเทศยังมีแผนจะเพิ่มมูลค่าการค้าขายให้ถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายในปี 2015
อย่างไรก็ตาม การค้ากับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าจากยุโรป, สหรัฐฯ และเอเชียเข้าไปยังอิหร่าน กลับลดลงอย่างมากหลังจากสหรัฐฯประกาศคว่ำบาตรเตหะราน โดยปัจจุบันมูลค่าการนำเข้าสินค้าของยูเออี คิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของอิหร่านเท่านั้น
“เรากำลังทำตราสารเครดิต (letter of credit) เป็นสกุลเงินหยวนของจีน, รูเบิลรัสเซีย, ดิรฮัมยูเออี และ ลีราตุรกี ซึ่งจะเป็นการบังคับให้ผู้นำเข้าต้องซื้อสินค้าจากประเทศเหล่านี้” นักธุรกิจชาวอิหร่านคนหนึ่งให้สัมภาษณ์โดยไม่ขอเปิดเผยชื่อ
“มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกจะยิ่งทำให้อิหร่านเชื่อมสัมพันธ์การค้ากับเอเชีย, รัสเซีย และตุรกีแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”
นักการทูตยุโรปในกรุงเตหะรานกล่าวเมื่อปีที่แล้วว่า “เมื่อสหรัฐฯคว่ำบาตรอิหร่านในปี 1995 ทำให้อิหร่านหันไปทำการค้ากับยุโรปมากขึ้น... วันนี้เมื่อยุโรปปิดกั้นการค้ากับอิหร่าน เราก็กำลังสนับสนุนให้พวกเขาค้าขายกับประเทศเอเชียแทนเช่นกัน”