xs
xsm
sm
md
lg

ทั่วโลกอัดชาติยูโรโซนสุดอืด ลุ้นซัมมิตอียูวันจันทร์ถกแก้วิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มผู้ประท้วงที่เรียกตัวเองว่า “อ็อกคิวพาย WEF” ชุมนุมประท้วงต่อต้านการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลดน์ เมื่อวันเสาร์(28)
เอเอฟพี - ผู้นำเศรษฐกิจโลกพากันรุมอัด “ยูโรโซน” ในที่ประชุม “ดาวอส” โดยออกอาการไม่พอใจมากขึ้นที่เขตใช้เงินสกุลเดียวของยุโรปแห่งนี้ยังไม่มีวี่แววคลี่คลายปัญหาได้ โดยเฉพาะการเจรจาลดหนี้ของกรีซที่ยังไม่ได้ข้อสรุป สายตาทุกคู่จ้องจับซัมมิตอียูในวันจันทร์ (30) ว่าจะมีมาตรการรูปธรรมออกมาเสียทีหรือไม่

ข้อกังวลเฉพาะหน้าคือการเจรจาลดหนี้ของกรีซที่ลากยาวตลอดสุดสัปดาห์ที่ผานมา และดูท่าว่าจะฉายเงาทะมึนครอบงำการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป (อียู) ในวันจันทร์ ซึ่งเดิมกำหนดไว้ให้เป็นวาระสำหรับอวดแผนการของทวีปนี้ในการก้าวให้หลุดพ้นจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน

ไม่เพียงเท่านั้น พวกเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศนอกยูโรโซนยังกำลังโจมตีว่ายุโรปไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาระยะยาวที่กำลังบ่อนทำลายเงินสกุลยูโร และจำเป็นต้องก้าวไปข้างหน้าเร็วขึ้นสู่การรวมเศรษฐกิจยูโรโซน

จอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีคลังอังกฤษ กล่าวระหว่างร่วมอภิปรายกับพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลัง ในรายการหนึ่งของการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลดน์ เมื่อวันเสาร์ (28) ว่า การที่ยุโรปไม่สามารถจัดการกับปัญหาในประเทศชายขอบอย่างเช่นกรีซได้ กำลังส่งผลกระทบลุกลามไปทั่วเศรษฐกิจของยุโรปและเศรษฐกิจโลก

ทางด้าน มาร์ก คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดา และประธานของ “คณะกรรมการเสถียรภาพการเงิน“ (Financial Stability Board) ผู้คุมกฎการธนาคารระหว่างประเทศ กล่าวว่าวิกฤตยุโรปทำให้การฟื้นตัวหยุดชะงัก และการเติบโตของเศรษฐกิจโลกขาดหายไป 1% เมื่อปีที่แล้ว

เจ้าหน้าที่ยุโรปและยูโรโซนที่ร่วมประชุมกับผู้นำธุรกิจและการเมืองใน WEF พยายามใช้เวลาตลอดสัปดาห์ที่แล้ว กระตุ้นให้ทุกฝ่ายมองในแง่ดีเกี่ยวกับการเจรจาหนี้

แต่ขณะที่ WEF กำหนดปิดฉากลงในวันอาทิตย์ (29) อยู่แล้ว ผู้นำกรีซก็ยังคงตกลงกันไม่ได้กับเจ้าหนี้เอกชนเกี่ยวกับรายละเอียดแผนการลดหนี้ 100,000 ล้านยูโรเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กรีซต้องถึงกับผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะสร้างปัญหาตามมาวุ่นวาย ถึงแม้เจ้าหนี้คาดหมายว่าคงจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้

ขณะเดียวกัน รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ ฉบับวันศุกร์ (27) ที่ระบุว่า เยอรมนีต้องการให้รัฐมนตรีคลังยูโรโซนร่วมกันแต่งตั้งกรรมาธิการที่มีอำนาจวีโต้การตัดสินใจด้านงบประมาณของกรีซได้ภายในกรอบระยะเวลาหนึ่งนั้น ก็ได้สร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อทางการเอเธนส์เจ้าหน้าที่กรีซคนหนึ่งระบุว่า นี่เป็นเรื่องอธิปไตยของประเทศทซึ่งกรีซไม่มีทางยินยอม นอกจากนั้นหากจะเดินหน้าจริงๆ ก็จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาอียูก่อน

ขณะเดียวกัน อมาเดอู อัลตาฟาอี โฆษกคณะกรรมาธิการด้านกิจการเศรษฐกิจของยุโรป กล่าวย้ำว่า คณะกรรมาธิการยึดมั่นกับการส่งเสริมความสามารถในการตรวจสอบ ทว่าการตัดสินใจสำคัญๆ ที่มีผลต่อพลเมืองและสถาบันของประเทศ ยังต้องเป็นความรับผิดชอบอย่างสมบูรณ์ของรัฐบาลกรีซ

การเจรจาลดหนี้ที่ยืดเยื้อกำลังบ่อนทำลายความพยายามในการควบคุมวิกฤตและค้ำจุนประเทศในยูโรโซนที่มีเศรษฐกิจใหญ่กว่า รวมทั้งสร้างความขัดเคืองต่อบรรดาผู้นำจากประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ

โรเบิร์ต เซลลิก ประธานธนาคารโลก กล่าวยกย่องธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่เพิ่มสภาพคล่องเพื่อให้แบงก์ในภูมิภาคเข้าซื้อพันธบัตรคลังเพิ่ม แต่เตือนว่า นี่เป็นเพียงมาตรการซื้อเวลาเท่านั้น อีซีบีจำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และโลกกำลังรอดูว่า ซัมมิตอียูในวันจันทร์จะมีข้อตกลง “มาตรการการคลัง” ใหม่ในยุทธศาสตร์การลดการขาดดุลงบประมาณออกมาหรือไม่

ขณะที่ คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า ไม่มีประเทศใดมีภูมิคุ้มกันจากสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะวิกฤตยูโรโซนจะส่งผลกว้างไกลทั่วโลก พร้อมเรียกร้องชาติสมาชิกไอเอ็มเอฟอุดหนุนเงิน 500,000 ล้านดอลลาร์เพื่อให้ไอเอ็มเอฟมีเงินทุนเพียงพอรับมือกับภาระที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น

ออสบอร์น แม้ประกาศว่ายินดีมากที่อังกฤษไม่ได้เข้าร่วมระบบเงินสกุลเดียว แต่เขาก็แสดงความหวังว่า ยุโรปจะเอาชนะปัญหาได้ นอกจากนั้นเขายังโจมตีอาการลังเลของเยอรมนี พร้อมกล่าวว่า ยูโรโซนจำเป็นต้องถ่ายโอนทางการคลังอย่างถาวรระหว่างสมาชิกที่แข็งแรงกว่ากับสมาชิกที่อ่อนแอกว่า เพื่อทำให้ระบบสกุลเงินเดียวได้ผล

ขุนคลังเมืองผู้ดีทิ้งท้ายว่า ยุโรปต้องทำให้อีซีบีเป็นผู้ปล่อยกู้แหล่งสุดท้าย รวมหนี้เข้าด้วยกันผ่านพันธบัตรยูโรหรือการถ่ายโอนงบประมาณโดยตรง
กำลังโหลดความคิดเห็น