xs
xsm
sm
md
lg

S&Pขู่หั่นเรทติ้ง15ชาติยูโรโซน"แมร์โกซีส์”เร้าอียูรับกฎวินัยคลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซีส์ - ฝรั่งเศสประสานเสียงเยอรมนีเรียกร้องผู้นำยุโรปยอมรับกฎที่เข้มงวดขึ้นด้านวินัยการคลัง ขณะที่เอสแอนด์พีประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือโดยเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ และพร้อมที่จะหั่นเครดิตยูโรโซน 15 ชาติรวด ถ้าซัมมิตอียูปลายสัปดาห์นี้ยังไร้มาตรการแก้วิกฤตที่เด็ดขาด

การเรียกร้องอย่างชัดเจนของประธานาธิบดีนิโคลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ให้แก้ไขสนธิสัญญาสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อกำหนดมาตรฐานงบประมาณที่เข้มงวดขึ้นทั่วทุกประเทศอียูที่ใช้สกุลเงินยูโร (เขตยูโรโซน) กระตุ้นความหวังว่าที่สุดแล้วภูมิภาคนี้จะเดินหมากอย่างเด็ดขาดและครอบคลุมเพื่อยุติวิกฤตหนี้ซึ่งยืดเยื้อมานานเสียที

ผู้นำปารีส-เบอร์ลินร่วมแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ (5) ด้วยท่าทีกลมเกลียวและเด็ดขาดในการเสนอทิศทางสำหรับเขตระบบเงินตราสกุลเดียวที่กำลังหมิ่นเหม่ใกล้ล่มสลาย

แมร์เคิลและซาร์โกซีประกาศว่าสนับสนุนมาตรการลงโทษอัตโนมัติต่อสมาชิกอียูที่ขาดดุลงบประมาณเกินกว่า 3% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เว้นแต่เสียงส่วนใหญ่คัดค้านการลงโทษ จากที่ในระบบปัจจุบันซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ต้องโหวตเห็นชอบเมื่อจะให้มีการดำเนินการทางวินัย

และเพื่อคลายกังวลของปารีสเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย แมร์เคิลและซาร์โกซีตกลงว่า ศาลยุติธรรมยุโรปจะวินิจฉัยว่าประเทศยูโรโซนดำเนินการตามกฎการคลังเหมาะสมหรือไม่ แต่ศาลไม่มีอำนาจคัดค้านงบประมาณของประเทศต่างๆ

เกี่ยวกับประเด็นการออกพันธบัตรร่วมยูโรนั้น ปารีสยอมตามเบอร์ลินในการคัดค้านแนวคิดนี้ ขณะที่แมร์เคิลตอบแทนด้วยการยกเลิกกฎต่างๆ เกี่ยวกับอนาคตของกองทุนกู้ฟื้นยูโรโซนถาวร หรือกลไกการรักษาเสถียรภาพยุโรป ซึ่งเป็นกฎที่ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางนักลงทุน

กฎใหม่นี้จะอยู่ในสนธิสัญญาอียูฉบับแก้ไขที่ลงนามโดยสมาชิกอียู 27 ชาติ หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือให้ลงนามแค่สมาชิกยูโรโซน 17 ชาติ แล้วประเทศอียูที่เหลือสามารถร่วมลงนามตามความสมัครใจ

แมร์เคิลและซาร์โกซีต้องการให้มีการเจรจาและสรุปข้อตกลงในเรื่องนี้ภายในเดือนมีนาคม และให้สัตยาบันรับรองหลังจากฝรั่งเศสเสร็จสิ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาในเดือนมิถุนายน

ทั้งนี้ รายละเอียดของข้อเสนอปารีส-เบอร์ลินจะอยู่ในสารที่ส่งถึงเฮอร์มาน ฟาน รอมปุย ประธานอียูในวันพุธ (7) เพื่อนำเข้าสู่การหารือในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอียูในวันพฤหัสบดี(8) และวันศุกร์(9)นี้

คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แสดงความยินดีต่อการผลักดันมาตรฐานการคลังที่เข้มงวดขึ้นในยูโรโซนของฝรั่งเศสและเยอรมนี แต่สำทับว่า ยังมีขั้นตอนอีกมากที่ต้องดำเนินการเพื่อจัดการกับวิกฤต

ทว่า ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (เอสแอนด์พี) ได้ออกมาเพิ่มความกดดันด้วยการประกาศว่า หากปราศจากการดำเนินการอย่างเข้มแข็งในซัมมิตที่บรัสเซลส์วันที่ 8-9 นี้ ประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ AAA ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก รวมถึงระดับ AA อย่างเบลเยียม จะถูกลดอันดับ 1 ขั้น

ขณะที่ฝรั่งเศสที่เรทติ้งอยู่ที่ AAA เช่นเดียวกัน รวมทั้งสมาชิกอียูอีก 8 ชาติ จะถูกลดอันดับ 2 ขั้น โดยเอสแอนด์พีจะทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือโดยเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ภายหลังซัมมิต

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำจากสหรัฐฯรายนี้ เสริมว่า ความตึงเครียดเชิงระบบในยูโรโซนในช่วงหลายสัปดาห์มานี้ได้เพิ่มขึ้นถึงระดับที่ทำให้ยูโรโซนโดยรวมอยู่ภายใต้ความกดดันด้านลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้เงื่อนไขด้านสินเชื่อที่ตึงตัว ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมพุ่งขึ้น ก็ส่งผลให้ภูมิภาคนี้มีแนวโน้ม 40% ที่จะกลับสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า

เอสแอนด์พียังย้ำว่า มีความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องในหมู่ผู้วางนโยบายเองยุโรป เกี่ยวกับวิธีการจัดการกับบวิกฤตความเชื่อมั่นเฉพาะหน้าของตลาด และวิธีรับประกันการร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการคลังอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นในหมู่สมาชิกยูโรโซนในระยะยาว

ในเวลาต่อมา ฝรั่งเศสและเยอรมนีออกมาตอบโต้คำเตือนของเอสแอนด์พีโดยยืนยันร่วมกันถึง “การตัดสินใจแน่วแน่ในการดำเนินมาตรการทุกอย่างที่จำเป็นร่วมกับพันธมิตรและสถาบันต่างๆ ในยุโรป เพื่อรับประกันเสถียรภาพของยูโรโซน”

ขณะเดียวกัน ที่อิตาลี ประเทศที่มีสถานะการคลังเสี่ยงล้มละลายมากที่สุดในสภาพตลาดปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งไม่นาน ได้นำมาตรการรัดเข็มขัดเข้าสู่การพิจารณาของสภาพร้อมเตือนว่า หากสภาไม่ให้การรับรอง โรมอาจเจอสภาพเดียวกับเอเธนส์

ผลปรากฏว่า มาตรการของรัฐบาลชุดใหม่สามารถฉุดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอิตาลีลดลงต่ำกว่า 6% เป็นครั้งแรกนับจากปลายเดือนตุลาคม กระตุ้นความหวังว่า ยูโรโซนอาจหยุดยั้งวิกฤตที่คุกคามความอยู่รอดของระบบเงินตราสกุลเดียวแห่งยุโรปได้

ที่ไอร์แลนด์ นายกรัฐมนตรีเอนดา เคนนี ประกาศแผนงบประมาณเข้มงวด 3,800 ล้านยูโรเมื่อวันจันทร์ หรือหนึ่งวันหลังจากเตือนประชาชนให้เตรียมรับมือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงนานหลายปีระหว่างการปราศรัยทางทีวีครั้งประวัติศาสตร์

ตรงกันข้ามกับกรีซที่ได้รับข่าวดีว่า ไอเอ็มเอฟอนุมัติเงินกู้ที่เป็นที่ต้องการอย่างมาก 2,200 ล้านยูโรหลังจากเลื่อนมาหลายเดือน ซึ่งเมื่อรวมกับเงินอีก 5,800 ล้านยูโรจากอียูที่ยังอยู่ในกระบวนการ น่าจะเพียงพอช่วยเอเธนส์หลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ระยะสั้นระหว่างเจรจากับเจ้าหนี้เอกชนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น