xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: คองเกรสสั่งเบรก กม.ละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์! ชัยชนะขั้นต้นของ "นิวมีเดีย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ร่างกฎหมายต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ 2 ฉบับ ของสภาคองเกรสสหรัฐฯ กลายเป็นสมรภูมิการแย่งชิงโอกาสที่จะกอบโกยเม็ดเงินจากโลกออนไลน์กันชนิดซึ่งๆ หน้า ระหว่างอาณาจักร โอลด์มีเดีย จากค่ายฮอลลีวูด-วงการเพลง กับเครือข่าย นิวมีเดีย จากค่ายซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งต่างก็มีฐานที่มั่นอยู่ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ทางตะวันตกของประเทศด้วยกันทั้งคู่

ฮอลลีวูดทุ่มสุดตัวสนับสนุน ร่างกฎหมายหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ (โซปา) ฉบับของสภาล่าง และ ร่างกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (พีปา) ฉบับสภาสูง หลังจากสูญเสียผลประโยชน์จากการถูกละเมิดลิขสิทธิ์มูลค่ามหาศาลในแต่ละปี ขึ้นเหนือเลียบชายฝั่งตะวันตกไปประมาณ 500 กิโลเมตร ในย่านซิลิคอนวัลเลย์ กูเกิล และ เฟซบุ๊ก เป็นตัวตั้งตัวตีแสดงพลังคัดค้านการออกกฎหมายทั้งสองฉบับ ซึ่งถูกมองเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการของอินเตอร์เน็ตในอนาคต และอาจทำให้กลุ่มนิวมีเดียเสียหายมหาศาลเช่นกัน

ในเมื่อกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลจากสองค่ายเห็นต่างกันจนนำไปสู่การประท้วงที่สะเทือนโลกไซเบอร์ขนาดนี้ ลามาร์ สมิธ ส.ส.รีพับลิกัน ผู้เสนอร่างกฎหมายโซปาในสภาล่าง และ แฮร์รี รีด แกนนำ ส.ว.เดโมแครต ซึ่งกุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา จึงพร้อมใจกันประกาศเลื่อนวาระการพิจารณาร่างกฎหมายที่กำหนดเดิมจะมีขึ้นช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จนกว่าจะหาทางแก้ไขความขัดแย้งได้ หลังจากสัปดาห์ก่อนหน้านั้น วิกิพีเดียและเว็บไซต์อื่นๆ อีกกว่า 7,000 เว็บไซต์ ร่วมกันปฏิบัติการประท้วง จอดำ ส่วนกูเกิลก็คาดแถบดำทับโลโก้ประหนึ่งการไว้อาลัย
ถ้อยแถลงคัดค้านร่างกฎหมายต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์
***สาระสำคัญของโซปา-พีปา***

ร่างกฎหมายหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ (โซปา) และร่างกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (พีปา) มีจุดประสงค์ในการขจัดปัญหา เว็บไซต์อันธพาล ซึ่งมีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำซ้ำและเผยแพร่ภาพยนตร์หรือสื่อบันเทิงอื่นๆ ผ่านเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่นอกสหรัฐฯ

ผู้มีความผิดฐานลักลอบเผยแพร่หรือจำหน่ายงานละเมิดลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ 10 ครั้งขึ้นไป ภายในระยะเวลา 6 เดือน จะต้องโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี รัฐบาลวอชิงตันและเจ้าของลิขสิทธิ์มีอำนาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งลงโทษเว็บไซต์ที่กระทำผิด และในทางทฤษฎี เพียงแค่มีลิงค์ที่เสนองานละเมิดลิขสิทธิ์เพียงลิงค์เดียว เว็บไซต์ดังกล่าวก็อาจถูกปิดตาย

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการเชื่อมโยงอินเตอร์เน็ต (Internet service provider-ISP) บริษัทรับทำธุรกรรมออนไลน์ และผู้ผลิตโฆษณาในสหรัฐฯ ก็จะถูกสั่งห้ามทำธุรกิจร่วมกับเว็บไซต์ที่ถูกกล่าวหา ในส่วนของร่างกฎหมายโซปายังกำหนดให้ เสิร์ชเอ็นจิน ลบเว็บไซต์ดังกล่าวออกจากผลการสืบค้น เรียกได้ว่าหากเว็บใดถูกกล่าวหาภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ก็จะสูญหายไปจากโลกอินเตอร์เน็ตแทบจะในทันที วิธีการนี้เป็นเครื่องมือทำนองเดียวกับที่จีนและอิหร่านบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม จากกระแสการต่อต้าน ฝ่ายสนับสนุนก็เสียงอ่อนลง กระทั่งยอมถอนบทลงโทษลบเว็บไซต์ทิ้งจากโลกออนไลน์

กระนั้นก็ดี ผู้ให้บริการเชื่อมโยงอินเตอร์เน็ตยังมีสิทธิบล็อกการเข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เพียงแค่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่า เว็บดังกล่าวมีลิงค์ที่นำไปสู่การละเมิดลิขสิทธิ์ จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจเกิดการกลั่นแกล้งจากบริษัทคู่แข่ง
จอดำ - เว็บไซต์วิกิพีเดีย ภาษาอังกฤษ ระงับการให้บริการเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อประท้วงร่างกฎหมายต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ ร่วมกับเว็บไซต์อื่นๆ อีกกว่า 7,000 เว็บ
***ผู้ผลิตคอนเทนต์ VS นิวมีเดีย***

กลุ่มผู้สนับสนุนซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายโทรทัศน์, ค่ายเพลง, ค่ายภาพยนตร์, สำนักพิมพ์ และกลุ่มอุตสาหกรรม ตั้งความหวังกับกฎหมายสองฉบับนี้ไว้ว่า จะช่วยรักษาผลประโยชน์ที่ควรเป็นของตน ในมุมกลับกัน กลุ่มผู้คัดค้านที่นำขบวนโดย กูเกิล, เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, วิกิพีเดีย, ยาฮู, อีเบย์, ลิงด์อิน, เอโอแอล และซิงกา ยืนยันหนักแน่นว่าไม่เอาด้วย เนื่องจากฝ่ายตนจะตกเป็นฝ่ายเสียผลประโยชน์เต็มประตู

ทั้งนี้ รายงานของศูนย์เพื่อการเมืองที่รับฟังเสียงประชาชน (Center for Responsive Politics) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระติดตามสถานกาณ์การล็อบบี้ในวงการเมืองสหรัฐฯ เปิดเผยว่า บริษัทบันเทิงทั้งโทรทัศน์ ภาพยนตร์ เพลง และสมาคมการค้า ได้ทุ่มเงินกว่า 92 ล้านดอลลาร์ เฉพาะในปี 2011 ให้บรรดาล็อบบี้ยิสต์ช่วยวิ่งเต้นในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการปกป้องลิขสิทธิ์ ปีที่ผ่านมา ธุรกิจบันเทิงเหล่านี้ได้ว่าจ้างนักล็อบบี้ยิสต์มากถึง 596 คน ขณะเดียวกัน ล็อบบี้ยิสต์ยังทำหน้าที่หาเงินบริจาคให้พรรคการเมืองใช้สำหรับหาเสียงเลือกตั้ง และบ่อยครั้งที่ล็อบบี้ยิสต์ก็บริจาคเงินเข้าพรรคด้วยตนเอง

ด้าน กูเกิล แกนนำการต่อต้านกฎหมายโซปา ก็เป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลในการล็อบบี้ที่น่าเกรงขาม โดยได้ทุ่มเงินมากกว่า 5.9 ล้านดอลลาร์ ในปี 2011 เพื่อล็อบบี้นักการเมืองเป็นการเฉพาะ

ในประเด็นการจ้างงาน อุตสาหกรรมบันเทิงระบุว่า ได้สร้างงานรองรับคนอเมริกันจำนวนมาก โดยภายในปี 2010 บริษัทบันทึกเสียงและภาพยนตร์ได้จ้างงาน 374,000 ตำแหน่ง ขณะเดียวกัน โมชัน พิคเจอร์ส แอสโซซิเอชัน ออฟ อเมริกา (Motion Picture Association of America-MPAA) องค์กรตัวแทนค่ายภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ของฮอลลีวูดทั้ง 6 ค่าย ก็เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมโทรทัศน์และภาพยนตร์มีพนักงานมากกว่า 2.2 ล้านคน ทั่วทั้ง 50 มลรัฐ ได้จ่ายเงินเดือนไปมากกว่า 137,000 ล้านดอลลาร์ เฉพาะในปี 2009 และต้องการกฎหมายมาคุ้มครองผลประโยชน์ซึ่งถูกละเมิดลิขสิทธิ์เป็นมูลค่า 58,000 ล้านดอลลาร์/ปี ส่วนนิวมีเดียโต้แย้งว่า ร่างกฎหมายที่กำลังตกเป็นประเด็นนี้กลับจะทำลายโอกาสในการสร้างงานของบริษัทอินเตอร์เน็ตทั้งหลาย
กูเกิลเชิญชวนให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตลงนาม ส่งเสียงคัดค้านให้ดังไปถึงสภาคองเกรส
อนึ่ง สมาชิกของเอ็มพีเอเอประกอบด้วย วอลต์ ดิสนีย์ พิคเจอร์ส กรุ๊ป, โซนี พิกเจอส์ เอนเตอร์เทนเมนต์, พาราเมาต์ พิกเจอส์, ทเวนตีท์ เซนจูรี ฟ็อกซ์, ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอส์ และวอร์เนอร์ บราเธอร์ส

อย่างไรก็ตาม สื่อกระแสหลักในสหรัฐฯ มีท่าทีเห็นดีเห็นงามกับร่างกฎหมายดังกล่าว โดยเสนอรายงานว่า จำนวนเว็บไซต์นอกสหรัฐฯ ที่เสนอสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์หรือของปลอมกำลังเพิ่มมากขึ้น เป็นเนื้อร้ายต่อวงการเทคโนโลยี และสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้คนตกงานหลายพันตำแหน่งในแต่ละปี ด้านสถานีข่าวซีเอ็นเอ็น เครือข่ายเคเบิลชั้นนำ ก็ชี้ว่า ข้อมูลที่บิดเบือนถูกเผยแพร่ไปทั่วอินเตอร์เน็ตโดยผู้ที่ได้ประโยชน์จากการละเมิดลิขสิทธิ์ และการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของชาวอเมริกัน

ฝ่ายผู้ถือหางนิวมีเดียตอบโต้ว่า อุตสาหกรรมบันเทิงเองก็เคยยอมรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การบันทึกวิดีโอคลาสเซ็ท (VCR) ในอดีต มาถึงไอพอดในปัจจุบัน เหตุใดจึงไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงบนโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม กลุ่มนิวมีเดียเห็นด้วยกับแนวคิดการกำจัดเว็บไซต์อันธพาล แต่ก็แย้งว่า สาระสำคัญของโซปา-พีปา เป็นอันตรายต่อการสร้างสรรค์ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกเหตุผลที่นิวมีเดียอธิบายไว้ คือ โซปา-พีปา ขัดต่อกฎหมายลิขสิทธิ์สหัสวรรษดิจิตอล (Digital Millennium Copyright Act-DMCA) ฉบับปี 1998 ซึ่งยินยอมให้บริษัทอินเตอร์เน็ตทำหน้าที่คัดครองสิ่งที่ผิดกฎหมายออกจากเว็บไซต์ด้วยตนเอง

ทั้งนี้ เมื่อสารานุกรมเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างวิกิพีเดียจอดับ คนทั่วสหรัฐฯ ลงชื่อประท้วงผ่านโลกออนไลน์กว่า 7 ล้านคน คองเกรสก็ยอมถอยก้าวหนึ่ง แต่ได้ทิ้งท้ายไว้ว่าจะกลับมาอีกครั้ง หลังแก้ไขความขัดแย้งระหว่างสื่อสองค่าย และเมื่อผลประโยชน์ลงตัว ร่างกฎหมายโซปา-พีปา ก็อาจเดินหน้าต่อไปในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น