เอเอฟพี - ชิ้นส่วนยานสำรวจดาวอังคาร โฟบอส-กรันต์ ของรัสเซีย ซึ่งไม่บรรลุภารกิจ ได้ร่วงลงสู่พื้นโลกแล้ว โดยตกลงบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก โฆษกกองกำลังอวกาศรัสเซียเผย
การตกลงสู่พื้นโลกครั้งนี้นับเป็นจุดจบที่น่าผิดหวังของยานสำรวจที่ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยรัสเซียหวังว่าจะสามารถนำตัวอย่างดินบนดวงจันทร์โฟบอสกลับมายังโลกเพื่อศึกษาได้
“จากข้อมูลของฝ่ายควบคุมภารกิจของกองกำลังอวกาศ ชิ้นส่วนยาน โฟบอส กรันต์ น่าจะตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว เมื่อเวลา 17.45 น.GMT (00.45 น.ตามเวลาในไทย)” อเล็กเซย์ โซโลตูคิน โฆษกกองกำลังอวกาศรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอินเทอร์แฟ็กซ์
องค์การวิจัยอวกาศของรัสเซีย “รอสคอสมอส” ยังไม่ออกมาแสดงความเห็นใดๆ หลังจากตลอดทั้งวันก่อนหน้านี้ได้ออกคำทำนายต่างๆกันเกี่ยวกับจุดตกของชิ้นส่วนยานสำรวจลำนี้
โซโลตูคิน ระบุว่า กองกำลังอวกาศติดตามทิศทางการเคลื่อนที่ของชิ้นส่วนยาน โฟบอส กรันต์ อย่างใกล้ชิด
“ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถระบุสถานที่และเวลาตกของยานได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ” เขากล่าว
สำนักข่าว ไอทาร์-ทาสส์ รายงานว่า ชิ้นส่วนยาน โฟบอส กรันต์ ตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากเกาะเวลลิงตันนอกชายฝั่งชิลีไปทางตะวันตก ราว 1,250 กิโลเมตร
การที่เศษขยะอวกาศชิ้นมหึมานี้ตกลงสู่ทะเลทำให้รัสเซียโล่งอกไปได้ หลังจากก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ชิ้นส่วนยานอาจจะตกลงในทวีปอเมริกาใต้ และประเทศที่เสี่ยงสุด ก็คือ อาร์เจนตินา
โฟบอส-กรันต์ ซึ่งเป็นยานสำรวจอวกาศไร้นักบินมูลค่า 165 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5,000 ล้านบาท) ประสบเหตุขัดข้องระหว่างการเดินทาง โดยติดอยู่ในวงโคจรของโลกตั้งแต่ทะยานขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 9 พฤศจิกายน และนับเป็นขยะอวกาศชิ้นใหญ่ที่สุดที่ตกลงสู่พื้นโลก นับตั้งแต่รัสเซียปลดประการสถานีอวกาศเมียร์ในปี 2001
รอสคอสมอส คาดการณ์ว่า จะมีชิ้นส่วนยานเพียง 20-30 ชิ้น น้ำหนักไม่เกิน 200 กิโลกรัม เหลือรอดจากการเผาไหม้ ก่อนตกถึงพื้นโลก