เอเอฟพี - รัฐบาลสหภาพยุโรปบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในมาตรการห้ามนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านแล้ว เหลือแค่ยังต้องถกเถียงกันว่าควรเข้าสู่การบังคับใช้เมื่อใด เจ้าหน้าที่ทูตอียูเปิดเผยเมื่อวันพุธ (4)
“มีข้อตกลงในหลักการถึงการเดินหน้าห้ามนำเข้าน้ำมัน” เจ้าหน้าที่ทูตรายหนึ่งบอกกับเอเอฟพี อย่างไรก็ตามเขายอมรับว่าผู้แทนของแต่ละชาติยังมีงานหนักสำหรับหาข้อตกลงถึงช่วงเวลาในการบังคับใช้ ที่จะมีการพุดคุยเพื่อหาผลสรุปกัน ณ ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอียูในวันที่ 30 มกราคมนี้
อแลง จุปเป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในลิสลอน ประเทศโปรตุเกสว่า “ในโอกาสนั้น ผมหวังว่าเราจะสามารถรับรองมาตรการห้ามนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน” เขากล่าวระหว่างแถลงข่าวร่วมกับ เปาโล ปอร์ตาส รัฐมนตีต่างประเทศแดนฝอยทอง “เรากำลังทำงานกันในประเด็นนี้และหลายสิ่งหลายอย่างเป็นไปตามแผน”
ก่อนหน้านี้อียูมีความเห็นแตกแยกกันต่อมาตรการห้ามนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน แต่อุปสรรคก็ผ่านพ้นไปในช่วงปลายเดือนธันวาคม หลังกรีซและสเปนและชาติอื่นๆ ที่นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ซึ่งเบื้องต้นมีความเห็นคัดค้านแนวทางนี้ยอมเปลี่ยนท่าที
อังกฤษและฝรั่งเศสเป็น 2 ชาติหัวหอกในความพยายามผลักดันให้สหภาพยุโรปออกมาตรการห้ามนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านเพื่อกดดันให้เตหะรานยอมล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์ที่ทางชาติตะวันตกมองว่าเป็นฉากบังหน้าสำหรับพัฒนาระเบิดขีปนาวุธ ข้อกล่าวหาที่อิหร่านยืนกรานปฏิเสธมาตลอด
ทั้งนี้ ผู้แทนทูตเปิดเผยว่า เวลานี้รัฐบาลของชาติสมาชิกอียูกำลังถกเถียงกันว่ามาตรการห้ามนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านที่มีผลบังคับใช้กับสัญญาปัจจุบันระหว่างเตหะรานกับบริษัทต่างๆในยุโรปควรมีขึ้นเมื่อไหร่ “ประเด็นที่ยังถกเถียงกันคือเรื่องกำหนดเวลา” เช่นเดียวกับการหาแหล่งทรัพยากรน้ำมันอื่นทดแทนให้แก่เหล่าประเทศที่นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน
ในปี 2010 สหภาพยุโรปนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านร้อยละ 5.8 จากปริมาณการนำเข้าทั้งหมด ทำให้เตหะรานเป็นแหล่งอุปทานรายใหญ่ที่สุดอันดับ 5 ของอียู รองจากรัสเซีย นอร์เวย์ ลิเบียและซาอุดีอาระเบีย โดยประเทศที่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่านมากที่สุดได้แก่ สเปน กรีซ และอิตาลี ตามลำดับ
ความตึงเครียดระหว่างตะวันตกและอิหร่านหนักหน่วงขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ด้วยอิหร่านออกคำเตือนถึงสหรัฐฯหลายรอบต่อการปรากฎตัวในอ่าวเปอร์เซียของกองทัพเรืออเมริกา
ทั้งนี้ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ลงนามบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ที่หนักหน่วงขึ้น โดยพุ่งเป้าเล่นงานไปที่ธนาคารกลางและภาคการเงินของเตหะรานเพื่อตัดเส้นทางโกยรายได้จากการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน หวังไม่ให้นำเงินไปใช้ในโครงการนิวเคลียร์
ก่อนหน้านี้ทางสหประชาชาติก็คว่ำบาตรอิหร่านมาแล้ว 4 รอบ ส่วนสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ก็ออกมาตรการคว่ำบาตรแบบเอกภาคีในความพยายามกดดันรัฐบาลของเตหะราน อย่างไรก็ตาม อิหร่านขู่ว่าหากชาติตะวันตกออกมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ที่พุ่งเป้าไปยังภาคพลังงานของพวกเขานั้น พวกเขาก็จะปิดช่องแคบฮอร์มูซ เส้นทางลำเลียงน้ำมันทางเรือสำคัญคิดเป็นร้อยละ 20 ของโลก