xs
xsm
sm
md
lg

“อัลกออิดะห์” อ้างความรับผิดชอบเหตุระเบิดต่อเนื่องในอิรัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี นูรี อัล-มาลิกี (ซ้าย) และรองประธานาธิบดี ตอเร็ก อัล-ฮาเชมี แห่งอิรัก
เอเอฟพี - เครือข่ายอัลกออิดะห์ในอิรัก ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุระเบิดต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไปแล้วหลายสิบราย และโหมกระแสแบ่งแยกในอิรักให้รุนแรงยิ่งกว่าเก่า หลังจากสหรัฐฯถอนทหารชุดสุดท้ายออกไปเพียงไม่กี่วัน

“กลุ่มรัฐอิสลามอิรัก” ซึ่งได้แรงบันดาลใจจาก อุซามะห์ บิน ลาดิน ออกแถลงการณ์ยอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุระเบิดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งพวกเขาเรียกว่า “การบุกรุกเมื่อวันพฤหัสบดี” ทั้งยังประกาศจะปกป้องมุสลิมซุนนีจาก “แผนการของอิหร่าน”

“ด้วยการอนุมัติและการนำทางของอัลเลาะห์ รัฐอิสลามอิรักจึงทราบว่าควรโจมตีที่ไหนและเมื่อไหร่” แถลงการณ์ซึ่งถูกโพสลงบนกระดานสนทนาของนักรบญิฮาด และแปลโดยองค์กรเฝ้าระวังก่อการร้าย SITE ระบุ

“เหล่ามุญาฮิดีน (นักรบเพื่อศาสนา) จะไม่ยอมตกเป็นเชลย ในขณะที่แผนการชั่วของอิหร่านเริ่มเผยโฉมหน้าอันน่าเกลียดออกมา และสิ่งที่พวกเขาต้องการจากชาวซุนนีในอิรักก็ปรากฏชัดเจนแล้ว”

มุสลิมซุนนีในอิรักจับตามองอิหร่านและสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างเตหะรานกับรัฐบาลชีอะห์ในอิรัก ด้วยความเคลือบแคลงสงสัยตลอดมา

กลุ่มรัฐอิสลามอิรัก ยอมรับว่า ก่อเหตุคาร์บอมบ์ในเขตการ์ราดาของกรุงแบกแดด หนึ่งในเหตุระเบิดต่อเนื่องที่เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (22) ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไป 60 ราย และทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 200 คน ขณะที่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างมุสลิมซุนนี และชีอะห์กำลังร้อนระอุ

เหตุระเบิดครั้งนี้ถือเป็นการโจมตีร้ายแรงที่สุดในรอบ 4 เดือน และเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากนายกรัฐมนตรี นูรี อัล-มาลิกี ซึ่งเป็นชาวชีอะห์ เรียกร้องให้เขตปกครองตนเองชาวเคิร์ดส่งตัวรองประธานาธิบดี ตอเร็ก อัล-ฮาเชมี มาดำเนินคดีในข้อหาตั้งหน่วยล่าสังหาร ซึ่ง ฮาเชมี ปฏิเสธข้อกล่าวหา

อัลกออิดะห์ในอิรักเป็นตัวการสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดสงครามแบ่งแยกในอิรัก ช่วงปี 2006-2007 ก่อนที่ชนกลุ่มน้อยและกองกำลังติดอาวุธซุนนีจะร่วมมือกับสหรัฐฯปราบปรามพวกหัวรุนแรง จนบรรเทาเหตุนองเลือดลงได้

การโจมตีที่เกิดขึ้นล่าสุด ซึ่งรวมถึงระเบิดคาร์บอมบ์ที่หน้ากระทรวงมหาดไทยอิรัก วานนี้ (26) ทำให้หลายฝ่ายหวาดผวาว่าอิรักอาจกลับไปสู่ยุคสงครามแบ่งแยกอีกครั้ง หลังจากสหรัฐฯถอนกำลังออกไปตามข้อตกลงกับกรุงแบกแดดในปี 2008
กำลังโหลดความคิดเห็น