xs
xsm
sm
md
lg

10 ปีผ่านไป “อังกฤษ” ไม่เสียใจที่ปฏิเสธใช้ “ยูโร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธนบัตรใบละ 20 ปอนด์
เอเอฟพี - ผ่านไป 1 ทศวรรษหลังจากที่เงินยูโรถูกนำออกใช้หมุนเวียนในตลาด อังกฤษยิ่งแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับสกุลเงินดังกล่าวมากขึ้นกว่าเก่า และในขณะที่ยูโรโซนกำลังเผชิญวิกฤตหนี้สิน ลอนดอนก็อดจะกระหยิ่มยิ้มย่องไม่ได้ที่ประเทศของตนไม่เปลี่ยนใจจาก “ปอนด์สเตอร์ลิง”

แม้จะซ่อนความยินดีอยู่ลึกๆ แต่หนึ่งความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ขณะที่ยูโรโซนประสบปัญหา เศรษฐกิจของอังกฤษเองก็ใช่ว่าจะเฟื่องฟู

ผลสำรวจความคิดเห็นในช่วงที่นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ประกาศวีโตการแก้สนธิสัญญาสหภาพยุโรปในการประชุมสุดยอดผู้นำอียู พบว่า ชาวอังกฤษร้อยละ 65 เชื่อว่า เงินยูโรคงไม่ไปรอดอย่างแน่แท้ และเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่เชื่อว่ายูโรจะอยู่รอด

หนังสือพิมพ์ ซันเดย์ ไทม์ส รายงานบรรยากาศดังกล่าวด้วยพาดหัวตัวโตๆ ว่า “ถึงจะแย่ แต่อย่างน้อยเราก็อยู่นอกยูโรโซน”

ใครก็ตามที่เกลียดชังยุโรปและเงินยูโร “ยังคุยได้ว่าเราตัดสินใจถูกมาตั้งแต่ต้น” ซันเดย์ ไทม์ส ระบุ

แม้จะเลือกหันหลังให้กับเงินยูโร ทว่า ผลประโยชน์อันเป็นรูปธรรมที่อังกฤษได้รับจากการอยู่นอกเครือข่ายสกุลเงินเดียวในยุโรป ก็ไม่ได้มากมายอย่างที่คิด

สถิติจากคณะกรรมาธิการยุโรป ชี้ว่า หนี้สาธารณะของอังกฤษในปี 2011 จะสูงยิ่งกว่ากรีซ และไม่มากไม่น้อยไปกว่าฝรั่งเศสสักเท่าใด แม้จะใช้มาตรการรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวดเป็นประวัติการณ์แล้วก็ตาม

ขณะเดียวกัน อัตราการว่างงานของอังกฤษก็สูงสุดในรอบ 17 ปี ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็สูงเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับยูโรโซน

ยิ่งไปกว่านั้น อังกฤษยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกเมื่อปี 2008 ซึ่งสร้างความเสียหายรุนแรงแก่ระบบธนาคาร และภาคบริการการเงิน ซึ่งอังกฤษถือว่าเป็นผู้นำของยุโรปในด้านนี้

ภารบริการการเงินเป็นเหตุผลหลักที่ คาเมรอน ใช้วีโตการแก้สนธิสัญญาอียู เนื่องจากเกรงว่ากฎระเบียบใหม่จะทำให้อำนาจบริหารการคลังของลอนดอนถูกจำกัดลง

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่อังกฤษมีเหนือกว่าเพื่อนบ้านในกลุ่มยูโรโซน ก็คือ ธนาคารกลางซึ่งไม่ขึ้นกับภายนอก

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางแห่งอังกฤษ (BoE) ได้อัดฉีดเม็ดเงินราว 275,000 ล้านปอนด์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และซื้อทองคำแท่งเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งต่างจากธนาคารกลางของยุโรป

ผลที่ตามมา ก็คือ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอังกฤษระยะ 10 ปียังใกล้เคียงกับพันธบัตรเยอรมนี ซึ่งหมายความว่า อังกฤษจะสามารถกู้ยืมภายใต้เงื่อนไขที่น่าพอใจกว่าประเทศยุโรปอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม การที่บีโออีอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องก็มีผลทำให้เงินปอนด์อ่อนค่าลง โดยในปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 1 ปอนด์/ 1.15 ยูโร ซึ่งตกต่ำลงอย่างมากจากอัตรา 1 ปอนด์/ 1.75 ยูโร เมื่อปี 2000

แม้อัตราแลกเปลี่ยนจะช่วยใหัอังกฤษส่งออกสินค้าได้มากขึ้น ทว่าในความเป็นจริงอังกฤษก็ยังนำเข้าสินค้ามากกว่าที่ส่งออกอยู่ดี

การที่เงินปอนด์ไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควรจากความตกต่ำของเงินยูโร เป็นเพราะอังกฤษยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ และไม่เป็นที่ดึงดูดสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

โจชัว เรย์มอนด์ นักวิเคราะห์จาก ซิตี อินเด็กซ์ ระบุว่า “หากอังกฤษใช้เงินยูโร จะยิ่งแย่มากกว่าที่เป็นอยู่”

“หากพิจารณาถึงผลเสียจากการถูกดึงเข้าไปสู่วิกฤตหนี้สาธารณะโดยตรง ซึ่งต่างจากผลกระทบโดยอ้อมที่อังกฤษได้รับอยู่ในขณะนี้ ก็ถือว่าเจ๊ากันกับประโยชน์ที่อังกฤษจะได้รับ หากร่วมใช้เงินยูโร” เช่น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

สตีเฟน แกลโล จากบริษัทค้าเงินชื่อดัง “ชไนเดอร์” (Schneider Foreign Exchange) ระบุว่า ประเทศยุโรปที่กำลังฉุนที่อังกฤษไม่ยอมร่วมใช้เงินยูโร ควรกลับไปถามตัวเองก่อนว่า “หากอังกฤษร่วมอยู่ด้วย สถานะของเงินยูโรจะตกต่ำลงอีกมากเพียงใด”

“ถ้าเป็นอย่างนั้น อังกฤษจะเป็นอีกชาติต้องขอเงินช่วยเหลือเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะล้มละลายอย่างแน่นอน” เกลโล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น