เอเอฟพี - สหภาพยุโรป (อียู) บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นว่าด้วยวินัยงบประมาณที่เคร่งครัดยิ่งขึ้นเพื่อฝ่าวิกฤตหนี้สิน ขณะที่รายละเอียดยังคงต้องหารือกันต่อไป นักการทูตเผยวานนี้ (8)
แหล่งข่าวการทูตเปิดเผยว่า ผู้นำอียูต่างยอมรับใน “ข้อตกลงงบประมาณ” ซึ่งกำหนดวินัยทางการคลังสำหรับชาติสมาชิก แต่ยังมิได้หารือว่าข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับทางกฎหมายอย่างไร
ผู้นำยุโรปต่างเห็นด้วยกับร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว รวมถึงข้อเรียกร้องสำคัญจากเยอรมนีให้ระเบียบงบประมาณนี้ถูกบรรจุลงในกฎหมายของประเทศยูโรโซนด้วย
ร่างแถลงการณ์จากผู้นำยูโรโซน 17 ประเทศเรียกร้องให้ศาลยุติธรรมแห่งประชาคมยุโรปตรวจสอบว่า มาตรการรัดเข็มขัดถูกนำไปบรรจุลงในกฎหมายแห่งชาติของแต่ละประเทศอย่างเพียงพอหรือไม่ และจะมี “ผลที่ตามมาโดยอัตโนมัติ” สำหรับประเทศสมาชิกที่ละเมิดวินัยข้อสำคัญ ซึ่งระบุว่าการขาดดุลงบประมาณจะต้องไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปยังเสนอมาตรการคว่ำบาตรสมาชิกที่ไม่เคารพกฎเกณฑ์ ซึ่งจะผ่านความเห็นชอบจากผู้นำอียูหากไม่มีกลุ่มประเทศใดยื่นคัดค้าน
ร่างข้อตกลงดังกล่าวระบุด้วยว่า การขาดดุลงบประมาณเชิงโครงสร้างต่อปี (annual structural deficit) จะต้องไม่เกิน 0.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งการขาดดุลเชิงโครงสร้างนี้จะคำนวณได้โดยนำยอดขาดดุลงบประมาณทั้งหมดมาหักลบกับปัจจัยภายนอก เช่น การชำระหนี้คืน และผลกระทบจากวัฏจักรเศรษฐกิจ (economic cycle) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีประเด็นถกเถียงอีกมากมายสำหรับผู้นำอียู เมื่อการหารือลงลึกถึงรายละเอียดเพื่อบรรลุข้อตกลงเป็นภาษากฎหมาย
การประชุมสุดยอดผู้นำอียูซึ่งว่ากันว่าจะเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะปกป้องสกุลเงิยยูโรเอาไว้ เริ่มต้นขึ้นแล้วเมื่อวานนี้ (8) ท่ามกลางข้อถกเถียงที่ว่าควรจะแก้ไขสนธิสัญญาอียูหรือไม่ และกระแสความกลัวว่าสุดท้ายยุโรปอาจต้องแตกออกเป็น 2 กลุ่ม (two-speed Europe) ตามพื้นฐานเศรษฐกิจและการเมือง