เอเจนซี - โพลล์นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ปีหน้ายุโรปยังต้องเจอสภาพเศรษฐกิจน่าหดหู่ต่อไป ซึ่งจะมีผลกดดันการเติบโตทั่วโลก แต่ยังดีที่อย่างน้อยยังมีพวกประเทศตลาดเกิดใหม่และอเมริกาขี่ม้าขาวมาช่วยกู้เศรษฐกิจโลกได้บ้าง
ผลสำรวจที่สำนักข่าวรอยเตอร์จัดทำขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า ในปี 2012 ประเทศพัฒนาแล้วรายใหญ่ที่สุดของโลกหลายแห่งจะเดินหน้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกมีแนวโน้มฟื้นได้เพียงเศษเสี้ยวจากที่ดิ่งหนักในปีนี้ ส่วนราคาน้ำมันจะวูบลง แลพวกผู้จัดการสินทรัพย์ไม่แน่ใจว่าควรลงทุนที่ไหนดี
นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ตั้งสมมติฐานไว้บนความหวังที่ว่า วิกฤตหนี้ภาคสาธารณะในยูโรโซนจะไม่พัฒนาเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ เพราะเท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ก็กัดเซาะการเติบโตของชาติผู้ส่งออกสำคัญที่มียุโรปเป็นเป้าหมายแล้ว
เจอราร์ด ลียองส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด แบงก์ ย้ำว่า เศรษฐกิจโลกในปีหน้ายังคงเติบโตแต่แบ่งเป็นสองภาค กล่าวคือยุโรปจะฉุดรั้งเศรษฐกิจโลกให้ตกต่ำลงในช่วง 6 เดือนแรก แต่จีนจะดันเศรษฐกิจโลกให้เติบโตในช่วงครึ่งปีหลัง
ความเสี่ยงสำคัญทางการเมืองยังจะผสมโรงให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกคลุมเครือยิ่งขึ้น โดยที่ในปีหน้าจะมใการเลือกตั้งและการเปลี่ยนตัวผู้นำในหลายประเทศทรงอิทธิพลที่สุด ขณะเดียวกันแนวโน้มความวุ่นวายในตะวันออกกลางก็ยังจะดำเนินต่อไป
กระนั้น ยังพอมีความหวังอยู่บ้าง เริ่มจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ในช่วงไตรมาสส่งท้ายปีนี้มีผลงานดีกว่าคาด และผลสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่รอยเตอร์จัดทำขึ้น ยังแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจแดนอินทรีมีแนวโน้มขยายตัวราว 2.2% ในปี 2012 เทียบกับ 0% ที่พยากรณ์ไว้สำหรับยูโรโซน
สำหรับสถานการณ์ของสหภาพยุโรป (อียู) นั้น ต้นเดือนนี้บรรดาผู้นำได้ดำเนินการครั้งประวัติศาสตร์ในการมุ่งสู่การรวมตัวใกล้ชิดขึ้นทางการคลัง แต่นักเศรษฐศาสตร์ต่างเชื่อว่า มาตรการดังกล่าวจะไม่สามารถบรรเทาวิกฤตหนี้ที่เรื้อรังย่างเข้าสู่ปีที่ 3 และปัญหานี้จะยังคงเป็นข่าวพาดหัวในปีต่อไป
โพลล์ของรอยเตอร์สะท้อนความวิตกกังวลจริงๆ ของพวกนักเศรษฐศาสตร์ที่ว่า เหล่าผู้นำยุโรปพยายามน้อยเกินไปในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีแนวโน้มที่สเปนและอิตาลีกำลังมุ่งหน้าสู่ภาวะถดถอยที่เจ็บปวดและยาวนาน
ขณะเดียวกัน ยูโรโซนโดยภาพรวมอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยอ่อนๆ แล้วในขณะนี้ และจะยืดเยื้อไปจนถึงกลางปีหน้า
ฮวน เปเรซ-แคมปาเนโร นักเศรษฐศาสตร์ของแซนแทนเดอร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ยูโรโซนจะยังคงเป็นที่มาของความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของทั่วโลกต่อไป
ถึงแม้ว่า นักเศรษฐศาสตร์ในการสำรวจ 27 ต่อ 56 คนไม่คิดว่า สเปนและอิตาลีจะต้องรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฟื้นฟูของยูโรโซนในปีหน้า
อย่างไรก็ดี ในการสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์และอดีตผู้วางนโยบายระดับนำของสถาบันวิชาการและสถาบันวิจัยที่ได้รับการนับถือ 20 คนเมื่อเดือนที่แล้ว พบว่า 14 คนในจำนวนนี้ไม่คิดว่ายูโรโซนในรูปแบบปัจจุบันจะสามารถอยู่รอดได้
แม้แต่ญี่ปุ่น ที่นักเศรษฐศาสตร์ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตอย่างไม่ไว้หน้า กลับได้รับการคาดหมายว่าจะฟื้นตัวในปีงบประมาณหน้าที่เริ่มต้นในเดือนเมษายน โดยเติบโตในอัตรา 1.8% นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่า ญี่ปุ่นจะหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้อย่างหวุดหวิด แต่มีความหวังน้อยมากสำหรับการหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดในเร็วๆ นี้
ความไม่แน่นอนขั้นรุนแรงที่รุมล้อมปี 2012 อาจสะท้อนออกมาชัดเจนที่สุดจากผลสำรวจเกี่ยวกับการโยกย้ายสินทรัพย์ของบริษัทลงทุนชั้นนำกว่า 50 แห่งในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น
เดือนนี้นักลงทุนเพิ่มการถือเงินสดเอาไว้ในมือในระดับสูงสุดในรอบปี เพื่อเตรียมรับมือปี 2012 ที่คาดว่าจะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย แม้มีการโยกย้ายกลับไปลงทุนในหุ้นราคาถูกอยู่บ้างก็ตาม
วิกฤตยูโรโซนคือปัจจัยที่ผู้จัดการสินทรัพย์กังวลที่สุด ดังนั้น จึงมีการถือครองเงินสดเพิ่ม รวมถึงย้ายไปลงทุนในตลาดหุ้นอังกฤษและเอเชียมากกว่าตลาดหุ้นยุโรป
เช่นเดียวกัน ผลสำรวจตลาดหุ้นในไตรมาสสุดท้ายบ่งชี้ว่า ดัชนีหุ้นตลาดเกิดใหม่จะมีผลงานแซงหน้ายุโรปในปี 2012 และพยายามฟื้นตัวสู่ระดับเมื่อปลายปี 2010
ในภาวะที่ยุโรปมุ่งหน้าสู่ภาวะถดถอย ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลงนับจากบัดนี้ โดยราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนต์ของตลาดลอนดอนจะซื้อขายเฉลี่ยที่ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีหน้า ไม่ไกลจากสถิติสูงสุดเฉลี่ยของปีนี้ที่ 111 ดอลลาร์เท่าไรนัก
เดวิด เวค จากบริษัทที่ปรึกษาในเวียนนา เจบีซี เอเนอร์จี้ คาดว่าชาติสมาชิกโออีซีดีจะเผชิญภาวะถดถอยอ่อนๆ ในปีหน้า และมีผลกดดันต่อดีมานด์และราคาน้ำมัน หรือไม่เช่นนั้น ราคาน้ำมันอาจถูกกดดันในด้านขาขึ้นจากสภาพแวดล้อมภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีปัญหา
ไม่ว่าอนาคตของยูโรโซนจะเป็นอย่างไร ผลจากวิกฤตหนี้ได้แผ่ขยายเป็นที่รับรู้ไปทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อย อียูนั้นเป็นตลาดส่งออกใหญ่สุดของจีน และข้อมูลด้านการผลิตแดนมังกรบ่งชี้ว่า ยอดสั่งซื้อใหม่ๆ จากต่างประเทศลดลงแล้ว
เศรษฐกิจจีนขณะนี้โตช้าที่สุดนับจากปี 2009 เพื่อส่งเสริมการเติบโต แบงก์ชาติจึงลดสัดส่วนการกันสำรองของแบงก์พาณิชย์ลงเมื่อเดือนที่แล้วเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี
อย่างไรก็ดี การสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่รอยเตอร์จัดทำขึ้นหลังการประกาศดังกล่าว พบว่าธนาคารกลางจีนจะยังคงละเว้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงรุกเว้นแต่การเติบโตดิ่งต่ำกว่า 8%
เช่นเดียวกัน อินเดียประสบปัญหาการเติบโตชะลอตัว และโพลล์ของรอยเตอร์บ่งชี้ว่า แบงก์ชาติจะผ่อนคลายนโยบายการเงินกลางปีหน้าแม้ภาวะเงินเฟ้อยังสูงอยู่ก็ตาม
ที่บราซิล วันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา (22) ธนาคารกลางลดตัวเลขประมาณการณ์เศรษฐกิจปีปัจจุบันจาก 3.5% เหลือ 3% และ 3.5% ในปีหน้า ซึ่งถือว่าน่าผิดหวังอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ยปีก่อนๆ ที่เกือบเป็นตัวเลขสองหลัก แต่ยังนับว่าดีหากเทียบกับอัตราที่เหี่ยวเฉาของประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่
โดยรวมแล้ว สรุปได้ว่า แม้มหาอำนาจเศรษฐกิจเกิดใหม่เหล่านี้มีอัตราเติบโตตกต่ำลงเล็กน้อย แต่ยังสามารถผลักดันการเติบโตของโลกได้ในปีหน้า