(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Man of steel, Park Tae-joon
By Yong Kwon
15/12/2011
ปาร์ก แตจูน (Park Tae-joon) ผู้ถึงแก่มรณกรรมเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นผู้ที่กล้าขัดขืนดื้อดึงโดยไม่พะวักพะวนกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เย้ยเยาะ เขาลงมือดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กกล้าของเกาหลีใต้จากหลักกิโลเมตรที่ 0 จนกระทั่งกลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่สามารถแข่งขันเอาชนะทั่วโลกได้ภายในเวลาไม่กี่ปี อีกทั้งมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้ประเทศชาติของเขาสามารถทำการปรับตัวเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วในยุคปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขาเป็นนักอุตสาหกรรมระดับตำนานคนหนึ่งของเอเชีย มรดกแห่งความสำเร็จของเขาซึ่งสร้างขึ้นมาด้วยระเบียบวินัยแบบทหารและความมุ่งมั่นแน่วแน่แบบสัตว์ป่า จักยืนตระหง่านสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ชาวเกาหลีใต้รุ่นต่อๆ ไป
*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
ปาร์ก แตจูน เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างล้ำลึกในเรื่องการที่เกาหลีใต้จะต้องพึ่งตนเองให้ได้ทางด้านเหล็กกล้า โดยที่เขาเรียกเหล็กกล้าว่าเป็นเสมือน “ข้าวของอุตสาหกรรม” ทั้งหลาย ในปี 1965 เขาเริ่มต้นทำการศึกษาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหล็กกล้าในต่างประเทศ และพอถึงปี 1968 ปาร์ก แตจูน ก็ได้ตระเวนเดินทางไปตามประเทศต่างๆ หลายหลากอย่างกระตือรือร้น เพื่อเสาะแสวงหาเงินทุนและเทคโนโลยีอันจำเป็นสำหรับการเริ่มต้นก่อสร้างโรงงานเหล็กกล้าในเกาหลีใต้
เมื่อพิจารณากันอย่างปราศจากอคติใดๆ แล้ว ย่อมเป็นเรื่องยากเย็นที่จะมีองค์การใดๆ ยอมปล่อยเงินกู้หรือทำการลงทุนด้วยเม็ดเงินมากมายมหาศาลตามที่ร้องขอ ให้แก่ประเทศที่เศรษฐกิจยังด้อยพัฒนาแบบโลกที่สามเฉกเช่นเกาหลีใต้ในเวลานั้น ประธานของธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศ (International Bank for Reconstruction and Development) [4] ได้บอกกับ ปาร์ก แตจูน ว่า ยังไม่ถึงเวลาหรอกที่เกาหลีใต้จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงถึงขนาดนั้น พร้อมกับเสนอแนะว่าเขาควรจะทุ่มเทความพยายามรวมศูนย์ไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตประเภทที่เน้นการใช้แรงงานมากกว่า คำแนะนำเช่นนี้ของ IBRD นับเป็นการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกขององค์กรให้เงินกู้ระหว่างประเทศรายอื่นๆ ด้วย เมื่อถูกโลกปฏิเสธเช่นนี้ ปาร์ก แตจูนก็ตัดสินใจที่จะหันมาหาแหล่งเงินทุนอีกแหล่งหนึ่ง
ประมาณสองสามปีก่อนหน้านั้น กรุงโซลกับกรุงโตเกียวได้ลงนามกันใน “สนธิสัญญาว่าด้วยความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างญี่ปุ่นกับสาธารณรัฐเกาหลี” (Treaty on Basic Relations between Japan and the Republic of Korea) โดยที่ฝ่ายญี่ปุ่นให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือในรูปเงินให้เปล่าและเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำแก่รัฐบาลเกาหลีใต้ ปาร์ก แตจูน จึงหารือกับ ปาร์ก จุงฮี และชักชวนโน้มน้าวให้ประธานาธิบดีกันเอาส่วนหนึ่งของเงินทุนจากญี่ปุ่นดังกล่าว ที่เตรียมไว้สำหรับโครงการการพัฒนาทางการเกษตร มาใช้จ่ายเพื่อก่อสร้างโรงงานเหล็กกล้าขึ้นที่เมืองชายทะเลเล็กๆ เงียบสงบแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า โปฮัง (Pohang)
การกระทำเช่นนี้ก่อให้เกิดการโต้แย้งถกเถียงกันอย่างหนักหน่วงที่สุด พวกข้าราชการในกรุงโซลตั้งคำถามด้วยความระแวงสงสัยในการตัดสินใจทุกๆ อย่างของเขา และจับตามองวิสาหกิจผลิตเหล็กกล้าแห่งนี้ด้วยความข้องใจ ทางฝ่ายกรุงโตเกียวก็แสดงอาการระมัดระวังตัวมากจากการที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงกู้ยืมทางการเงินซึ่งได้มีการตกลงอนุมัติกันไปเรียบร้อยแล้วเช่นนี้ แม้กระทั่ง ปาร์ก จุงฮี เองก็ไม่เห็นด้วยกับเขาในประเด็นเกี่ยวกับระดับความเกี่ยวข้องของรัฐบาลในบริษัทเหล็กกล้าที่กำลังจะจัดตั้งกันขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ปาร์ก แตจูน ใช้ความพยายามอย่างหนักจนกระทั่งประสบความสำเร็จในการเกลี้ยกล่อมชักชวนให้ทุกๆ ฝ่ายที่ให้ร้ายกล่าวโทษเขา หันมาเห็นพ้องกับแผนการของเขา
เพื่อย้ำเตือนให้เกิดความตระหนักสำนึกว่าเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินงานคราวนี้เป็นตัวแทนของอะไร เขาได้ยื่นคำขาดต่อบรรดาคนงานของเขาในวันที่การก่อสร้างโรงงานเหล็กกล้าแห่งนี้เริ่มต้นขึ้น โดยประกาศว่า “เรากำลังใช้เงินทุนที่มาจากญี่ปุ่น ซึ่งซึมซับเอาไว้ด้วยหยดเลือดและหยาดเหงื่อของพ่อพวกเราของปู่พวกเรา ถ้าเราประสบความล้มเหลวไม่สามารถสร้างโรงงานเหล็กกล้าแห่งนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ได้ … ขอให้พวกเราทั้งหมดไปกระโดดน้ำตายในทะเลตะวันออกกันเถิด!” นี่แหละคือการเริ่มต้นของบริษัทโปฮัง เหล็กและเหล็กกล้า (Pohang Iron and Steel Company ใช้อํกษรย่อว่า POSCO)
มันเป็นความมุมานะพยายามที่มีอนาคตของเกาหลีใต้เป็นเดิมพัน และไม่มีใครอีกแล้วที่ถือโครงการนี้เป็นเรื่องที่ต้องทุ่มเทอย่างจริงจังยิ่งไปกว่า ปาร์ก แตจูน เมื่อไปตรวจเยี่ยมสถานที่ก่อสร้าง เขาจะสวมเครื่องแบบทหาร และถือคทาประจำตัวนายทหารระดับผู้บัญชาการไปด้วย เขาถือว่าระเบียบวินัยแบบทหารเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เนื่องจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่นั้น เขากำลังพยายามเริ่มต้นอุตสาหกรรมหนักของประเทศขึ้นมาในสนามอันว่างเปล่า โดยอาศัยผู้คนซึ่งแทบไม่มีประสบการณ์ หรือกระทั่งไม่มีประสบการณ์เลย
ประชาคมระหว่างประเทศเฝ้าจับตาดูวิสาหกิจโรงงานเหล็กกล้าแห่งนี้ด้วยความข้องใจสงสัย พวกบริษัทญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้จัดหาเทคโนโลยีอันสำคัญยิ่งสำหรับการทำเหล็กกล้า ต่างมีข้อกังขาเกี่ยวกับความสามารถของเกาหลีใต้ในการสร้างอุตสาหกรรมชนิดที่ต้องสามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ขึ้นมา พวกนักเศรษฐศาสตร์เกาหลีเองก็รู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจ –อันที่จริงนักเศรษฐศาสตร์โสมขาวจำนวนมากก็ทัศนะข้อสรุปกันไปแล้วว่า โครงการสร้างทางหลวงของประธานาธิบดีปาร์ก เป็นโครงการล้างผลาญเงินทุนภาคสาธารณะไปอย่างเปล่าประโยชน์ แต่นี่งบประมาณสำหรับการสร้างโรงงานเหล็กกล้าที่โปฮัง สูงเป็นสามเท่าตัวของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการก่อสร้างทางหลวงสายโซล-ปูซาน ทีเดียว
ในเดือนเมษายนของปี 1971 ปาร์ก แตจูน เริ่มเดินเครื่องเปิดโรงงานเหล็กกล้าแห่งแรก และพอถึงปี 1973 เขาก็ทำให้พวกว่าร้ายกล่าวโทษเขาทุกๆ คนรู้สึกเซอร์ไพรซ์กันไปหมด POSCO ได้วางรากฐานให้แก่อุตสาหกรรมการต่อเรือของเกาหลีใต้ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในหลุมต่างๆ ที่ขุดลงไปในชายหาดหลายแห่งบริเวณใกล้ๆ เมืองโปฮัง ภายในเวลาไม่กี่สิบปี เกาหลีใต้ก็มีฐานะเป็นพี่เบิ้มครอบงำครองส่วนแบ่งอุตสาหกรรมการต่อเรือของโลก แซงหน้าทั้งญี่ปุ่นและอังกฤษ
นอกจากนั้น POSCO ยังแสดงตัวเป็นเครื่องจักรศึ่งขับดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังเติบโตขยายตัว สามารถเคลื่อนไปข้างหน้า ทั้งนี้การส่งออกของอุตสาหกรรมรถยนต์ก็มีส่วนสำคัญที่สร้างโมเมนตัมให้แก่การไต่ระดับทางเศรษฐกิจอันรวดเร็วของเกาหลีใต้
มาถึงตอนนี้มีคนจำนวนมากเริ่มเรียก ปาร์ก แตจูน ว่าเป็น แอนดรูว์ คาร์เนกี (Andrew Carnegie) [5] แห่งเกาหลีใต้ ทว่านี่อาจจะเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ค่อยยุติธรรมนัก เราต้องไม่ลืมว่าคาร์เนกีนั้นสร้างโรงงานเหล็กกล้าต่างๆ ของเขาขึ้นมาในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเทคโนโลยี โนว-ฮาว ในเรื่องนี้ ตลอดจนมีพื้นฐานทางอุตสาหกรรมสำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นอยู่แล้ว
ปาร์ก แตจูน สร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ขึ้นมาโดยอาศัยพลังแห่งความมุ่งมั่นแบบสัตว์ป่า และ POSCO ในขณะที่เขานั่งเป็นประธานบริษัทอยู่นั้น ก็สามารถผลิตเหล็กกล้าได้ 21 ล้านตัน เกือบเป็น 2 เท่าของปริมาณที่โรงงานเหล็กกล้าของคาร์เนกีผลิตได้ในเวลา 35 ปี เมื่อถึงตอนที่ ปาร์ก แตจูน อำลาจากตำแหน่งประธานของ POSCO วิสาหกิจที่อยู่ในสภาพลูกผีลูกคนในตอนก่อตั้งแห่งนี้ ก็ได้ผงาดเป็นผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่อันดับสามของโลกไปเรียบร้อยแล้ว
ผลงานความสำเร็จของเขา ทำให้ในแวดวงนักอุตสาหกรรมยกย่องนับถือในระดับที่เขาเป็นตำนานที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้ตั้งแต่ตอนช่วงปลายทศวรรษ 1970 แล้วด้วยซ้ำ มีเรื่องเล่ากันว่า ในปี 1978 ขณะที่กำลังเยี่ยมชมโรงงานเหล็กกล้าแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำคนสำคัญที่สุดของจีน ได้สอบถาม โยชิฮิโร อินายามะ (Yoshihiro Inayama) ประธานบริษัทนิปปอน สตีล (Nippon Steel Corporation) ว่า เขาสามารถที่จะสร้างโรงงานเหล็กกล้าทำนองเดียวกันนี้ขึ้นในประเทศจีนได้หรือไม่ ปรากฏว่า อินายามะ ตอบว่า ภารกิจเช่นนี้คงจะทำไม่สำเร็จหรอก เพราะจีนไม่มี ปาร์ก แตจูน –แล้วเติ้งก็หยอกมุกกลับมาว่า ก็ไม่เห็นจะยากเย็นอะไรเลย เขาก็แค่ต้องนำเอา ปาร์ก เข้าไปในจีนเท่านั้นเอง
สิ่งที่ถือว่ายอดเยี่ยมที่สุดในบรรดาคุณูปการต่ออุตสาหกรรมโสมขาวของเขา ก็คือการที่ ปาร์ แตจูน มีความตระหนักรับรู้อย่างล้ำลึกถึงความสำคัญของการให้การศึกษาอบรมแก่คนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต และได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยโปฮังแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Pohang University of Science and Technology) ขึ้นมาในปี 1986 และ สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Research Institute of Industrial Science & Technology) ในปี 1987 สถาบันทั้งสองต่างก็เป็นสถาบันระดับแนวหน้าทั้งทางด้านการศึกษา, การวิจัยและการพัฒนาในเกาหลีใต้
ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมด้วยการถูกลอบสังหารของ ปาร์ก จุงฮี ในปี 1979 ปาร์ก แตจูน ก็ได้เข้าสู่วงการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( National Assembly) [6] และกลายเป็นสมาชิกคนสำคัญยิ่งในคณะรัฐบาลผสมซึ่งทำให้เกิดทั้งรัฐบาลประธานาธิบดี โรห์ แตวู (Roh Tae-woo ครองอำนาจระหว่างปี 1988 - 1993) และรัฐบาลประธานาธิบดี คิม แดจุง(Kim Dae-jung ครองอำนาจระหว่างปี 1999 - 2006) ในเวลาต่อมา
เขาถูกบังคับให้ออกจากวงการเมืองในปี 1992 เนื่องจากถูกประธานาธิบดีคิม ยังซัม (Kim Young-sam ครองอำนาจระหว่างปี 1993 – 1999) สั่งสอบสวนด้วยข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่นหลายคดี ซึ่งต่อมาก็ปรากฏว่าเป็นข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จ เขาหวนกลับเข้าไปทำงานในคณะรัฐบาลอีกครั้งระหว่างที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้ประสบความเพลี่ยงพล้ำย่ำแย่หนักในปี 1997 โดยมุ่งมั่นทำงานเพื่อแก้ไขคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจคราวนั้น และได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ช่วงสั้นๆ ในปี 2000 ก่อนที่จะถูกบีบบังคับให้ออกจากตำแหน่งด้วยข้อหาใช้อำนาจหน้าที่มาเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์
กระนั้นก็ตาม จวบจนถึงเวลานี้ไม่มีอะไรเลยที่บ่งชี้ให้เห็นว่า เขาได้ใช้สายสัมพันธ์อันล้ำลึกที่มีอยู่กับผู้คนในแวดวงรัฐบาลหรือในวงการอุตสาหกรรม ไปในทางหาผลประโยชน์ส่วนตัว
ผู้ที่รู้จักเขาต่างก็มีความเข้าใจเป็นอย่างดีถึงความสำคัญของเขา –อดีตประธานาธิบดีฟรังซัวส์ มิตแตรองด์ (Francois Mitterrand) ของฝรั่งเศส ครั้งหนึ่งเคยพูดถึงปาร์ก แตจูน ว่า “เมื่อตอนที่เกาหลีต้องการกองทัพ เขาก็เข้าเป็นนายทหาร เมื่อตอนที่ประเทศต้องการยกระดับเศรษฐกิจให้เติบใหญ่ เขาก็เข้าเป็นนักธุรกิจ เมื่อประเทศต้องการมีวิสัยทัศน์ เขาก็เข้าเป็นนักการเมือง”
ไม่ใช่เป็นการกล่าวเกินจริงแต่อย่างใดที่เราจะระบุว่า เขามีส่วนสำคัญในการทำให้เกาหลีใต้สามารถทำการปรับตัวเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ นับตั้งแต่ที่สถาปนาประเทศนี้ขึ้นมาทีเดียว เขาใช้ชีวิตอย่างไม่ปล่อยให้ลมหายใจแม้ชั่วขณะต้องสูญเปล่า ผู้ร่วมงานใกล้ชิดกับเขาจำนวนมากต่างพูดว่าสิ่งเดียวที่ร้อนแรงยิ่งกว่าเหล็กกล้าหลอมละลายในโรงงานเหล็กกล้าแห่งโปฮัง ก็คืออารมณ์อันร้อนแรงของ ปาร์ก แตจูน เขาเป็นจุดศูนย์กลางของอาณาจักรอุตสาหกรรมแห่งนั้น และทุกวันนี้หัวจิตหัวใจแบบวีรบุรุษเฮอร์คิวลิสของเขา ก็ยังคงเต้นต่อไปเพื่อหล่อหลอมสร้างสรรค์อนาคตของเกาหลีใต้
เขาอำลาจากไป เหลือเพียงภรรยาของเขา บุตรอีก 5 คน และประเทศชาติที่เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น
*หมายเหตุผู้แปล*
[4] ธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศ ใช้อักษรย่อว่า IBRD เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ได้จัดตั้งขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ประเทศสมาชิกได้ทำการฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเร่งรัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มักนิยมเรียกกันทั่วไปว่า ธนาคารโลก (World Bank) แต่ถ้าหากใช้คำกันอย่างเคร่งครัดแล้ว ธนาคารโลก มีความหมายครอบคลุมทั้ง IBRD และ สมาคมเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ( International Development Association ใช้อักษรย่อว่า IDA) ซึ่งทำหน้าที่ช่วยเหลือประเทศยากจนที่สุดของโลก
[5] แอนดรูว์ คาร์เนกีนักอุตสาหกรรมชาวอเมริกันผู้มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี 1835 – 1919 เขาเป็นผู้นำในการขยายอุตสาหกรรมเหล็กกล้าอเมริกันไปอย่างมากมายใหญ่โตในช่วงปลายศตวรษที่ 19
[6] ชื่อรัฐสภาของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่รัฐสภามีสภาเดียว
ยง ควอน เป็นนักเขียนอิสระ ซึ่งชำนาญเรื่องเกี่ยวกับกิจการของเกาหลี, รัสเซีย, และเอเชียกลาง
Man of steel, Park Tae-joon
By Yong Kwon
15/12/2011
ปาร์ก แตจูน (Park Tae-joon) ผู้ถึงแก่มรณกรรมเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นผู้ที่กล้าขัดขืนดื้อดึงโดยไม่พะวักพะวนกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เย้ยเยาะ เขาลงมือดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กกล้าของเกาหลีใต้จากหลักกิโลเมตรที่ 0 จนกระทั่งกลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่สามารถแข่งขันเอาชนะทั่วโลกได้ภายในเวลาไม่กี่ปี อีกทั้งมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้ประเทศชาติของเขาสามารถทำการปรับตัวเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วในยุคปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขาเป็นนักอุตสาหกรรมระดับตำนานคนหนึ่งของเอเชีย มรดกแห่งความสำเร็จของเขาซึ่งสร้างขึ้นมาด้วยระเบียบวินัยแบบทหารและความมุ่งมั่นแน่วแน่แบบสัตว์ป่า จักยืนตระหง่านสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ชาวเกาหลีใต้รุ่นต่อๆ ไป
*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
ปาร์ก แตจูน เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างล้ำลึกในเรื่องการที่เกาหลีใต้จะต้องพึ่งตนเองให้ได้ทางด้านเหล็กกล้า โดยที่เขาเรียกเหล็กกล้าว่าเป็นเสมือน “ข้าวของอุตสาหกรรม” ทั้งหลาย ในปี 1965 เขาเริ่มต้นทำการศึกษาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหล็กกล้าในต่างประเทศ และพอถึงปี 1968 ปาร์ก แตจูน ก็ได้ตระเวนเดินทางไปตามประเทศต่างๆ หลายหลากอย่างกระตือรือร้น เพื่อเสาะแสวงหาเงินทุนและเทคโนโลยีอันจำเป็นสำหรับการเริ่มต้นก่อสร้างโรงงานเหล็กกล้าในเกาหลีใต้
เมื่อพิจารณากันอย่างปราศจากอคติใดๆ แล้ว ย่อมเป็นเรื่องยากเย็นที่จะมีองค์การใดๆ ยอมปล่อยเงินกู้หรือทำการลงทุนด้วยเม็ดเงินมากมายมหาศาลตามที่ร้องขอ ให้แก่ประเทศที่เศรษฐกิจยังด้อยพัฒนาแบบโลกที่สามเฉกเช่นเกาหลีใต้ในเวลานั้น ประธานของธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศ (International Bank for Reconstruction and Development) [4] ได้บอกกับ ปาร์ก แตจูน ว่า ยังไม่ถึงเวลาหรอกที่เกาหลีใต้จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงถึงขนาดนั้น พร้อมกับเสนอแนะว่าเขาควรจะทุ่มเทความพยายามรวมศูนย์ไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตประเภทที่เน้นการใช้แรงงานมากกว่า คำแนะนำเช่นนี้ของ IBRD นับเป็นการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกขององค์กรให้เงินกู้ระหว่างประเทศรายอื่นๆ ด้วย เมื่อถูกโลกปฏิเสธเช่นนี้ ปาร์ก แตจูนก็ตัดสินใจที่จะหันมาหาแหล่งเงินทุนอีกแหล่งหนึ่ง
ประมาณสองสามปีก่อนหน้านั้น กรุงโซลกับกรุงโตเกียวได้ลงนามกันใน “สนธิสัญญาว่าด้วยความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างญี่ปุ่นกับสาธารณรัฐเกาหลี” (Treaty on Basic Relations between Japan and the Republic of Korea) โดยที่ฝ่ายญี่ปุ่นให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือในรูปเงินให้เปล่าและเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำแก่รัฐบาลเกาหลีใต้ ปาร์ก แตจูน จึงหารือกับ ปาร์ก จุงฮี และชักชวนโน้มน้าวให้ประธานาธิบดีกันเอาส่วนหนึ่งของเงินทุนจากญี่ปุ่นดังกล่าว ที่เตรียมไว้สำหรับโครงการการพัฒนาทางการเกษตร มาใช้จ่ายเพื่อก่อสร้างโรงงานเหล็กกล้าขึ้นที่เมืองชายทะเลเล็กๆ เงียบสงบแห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า โปฮัง (Pohang)
การกระทำเช่นนี้ก่อให้เกิดการโต้แย้งถกเถียงกันอย่างหนักหน่วงที่สุด พวกข้าราชการในกรุงโซลตั้งคำถามด้วยความระแวงสงสัยในการตัดสินใจทุกๆ อย่างของเขา และจับตามองวิสาหกิจผลิตเหล็กกล้าแห่งนี้ด้วยความข้องใจ ทางฝ่ายกรุงโตเกียวก็แสดงอาการระมัดระวังตัวมากจากการที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงกู้ยืมทางการเงินซึ่งได้มีการตกลงอนุมัติกันไปเรียบร้อยแล้วเช่นนี้ แม้กระทั่ง ปาร์ก จุงฮี เองก็ไม่เห็นด้วยกับเขาในประเด็นเกี่ยวกับระดับความเกี่ยวข้องของรัฐบาลในบริษัทเหล็กกล้าที่กำลังจะจัดตั้งกันขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ปาร์ก แตจูน ใช้ความพยายามอย่างหนักจนกระทั่งประสบความสำเร็จในการเกลี้ยกล่อมชักชวนให้ทุกๆ ฝ่ายที่ให้ร้ายกล่าวโทษเขา หันมาเห็นพ้องกับแผนการของเขา
เพื่อย้ำเตือนให้เกิดความตระหนักสำนึกว่าเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินงานคราวนี้เป็นตัวแทนของอะไร เขาได้ยื่นคำขาดต่อบรรดาคนงานของเขาในวันที่การก่อสร้างโรงงานเหล็กกล้าแห่งนี้เริ่มต้นขึ้น โดยประกาศว่า “เรากำลังใช้เงินทุนที่มาจากญี่ปุ่น ซึ่งซึมซับเอาไว้ด้วยหยดเลือดและหยาดเหงื่อของพ่อพวกเราของปู่พวกเรา ถ้าเราประสบความล้มเหลวไม่สามารถสร้างโรงงานเหล็กกล้าแห่งนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ได้ … ขอให้พวกเราทั้งหมดไปกระโดดน้ำตายในทะเลตะวันออกกันเถิด!” นี่แหละคือการเริ่มต้นของบริษัทโปฮัง เหล็กและเหล็กกล้า (Pohang Iron and Steel Company ใช้อํกษรย่อว่า POSCO)
มันเป็นความมุมานะพยายามที่มีอนาคตของเกาหลีใต้เป็นเดิมพัน และไม่มีใครอีกแล้วที่ถือโครงการนี้เป็นเรื่องที่ต้องทุ่มเทอย่างจริงจังยิ่งไปกว่า ปาร์ก แตจูน เมื่อไปตรวจเยี่ยมสถานที่ก่อสร้าง เขาจะสวมเครื่องแบบทหาร และถือคทาประจำตัวนายทหารระดับผู้บัญชาการไปด้วย เขาถือว่าระเบียบวินัยแบบทหารเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เนื่องจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่นั้น เขากำลังพยายามเริ่มต้นอุตสาหกรรมหนักของประเทศขึ้นมาในสนามอันว่างเปล่า โดยอาศัยผู้คนซึ่งแทบไม่มีประสบการณ์ หรือกระทั่งไม่มีประสบการณ์เลย
ประชาคมระหว่างประเทศเฝ้าจับตาดูวิสาหกิจโรงงานเหล็กกล้าแห่งนี้ด้วยความข้องใจสงสัย พวกบริษัทญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้จัดหาเทคโนโลยีอันสำคัญยิ่งสำหรับการทำเหล็กกล้า ต่างมีข้อกังขาเกี่ยวกับความสามารถของเกาหลีใต้ในการสร้างอุตสาหกรรมชนิดที่ต้องสามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ขึ้นมา พวกนักเศรษฐศาสตร์เกาหลีเองก็รู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจ –อันที่จริงนักเศรษฐศาสตร์โสมขาวจำนวนมากก็ทัศนะข้อสรุปกันไปแล้วว่า โครงการสร้างทางหลวงของประธานาธิบดีปาร์ก เป็นโครงการล้างผลาญเงินทุนภาคสาธารณะไปอย่างเปล่าประโยชน์ แต่นี่งบประมาณสำหรับการสร้างโรงงานเหล็กกล้าที่โปฮัง สูงเป็นสามเท่าตัวของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการก่อสร้างทางหลวงสายโซล-ปูซาน ทีเดียว
ในเดือนเมษายนของปี 1971 ปาร์ก แตจูน เริ่มเดินเครื่องเปิดโรงงานเหล็กกล้าแห่งแรก และพอถึงปี 1973 เขาก็ทำให้พวกว่าร้ายกล่าวโทษเขาทุกๆ คนรู้สึกเซอร์ไพรซ์กันไปหมด POSCO ได้วางรากฐานให้แก่อุตสาหกรรมการต่อเรือของเกาหลีใต้ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในหลุมต่างๆ ที่ขุดลงไปในชายหาดหลายแห่งบริเวณใกล้ๆ เมืองโปฮัง ภายในเวลาไม่กี่สิบปี เกาหลีใต้ก็มีฐานะเป็นพี่เบิ้มครอบงำครองส่วนแบ่งอุตสาหกรรมการต่อเรือของโลก แซงหน้าทั้งญี่ปุ่นและอังกฤษ
นอกจากนั้น POSCO ยังแสดงตัวเป็นเครื่องจักรศึ่งขับดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังเติบโตขยายตัว สามารถเคลื่อนไปข้างหน้า ทั้งนี้การส่งออกของอุตสาหกรรมรถยนต์ก็มีส่วนสำคัญที่สร้างโมเมนตัมให้แก่การไต่ระดับทางเศรษฐกิจอันรวดเร็วของเกาหลีใต้
มาถึงตอนนี้มีคนจำนวนมากเริ่มเรียก ปาร์ก แตจูน ว่าเป็น แอนดรูว์ คาร์เนกี (Andrew Carnegie) [5] แห่งเกาหลีใต้ ทว่านี่อาจจะเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ค่อยยุติธรรมนัก เราต้องไม่ลืมว่าคาร์เนกีนั้นสร้างโรงงานเหล็กกล้าต่างๆ ของเขาขึ้นมาในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีเทคโนโลยี โนว-ฮาว ในเรื่องนี้ ตลอดจนมีพื้นฐานทางอุตสาหกรรมสำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นอยู่แล้ว
ปาร์ก แตจูน สร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ขึ้นมาโดยอาศัยพลังแห่งความมุ่งมั่นแบบสัตว์ป่า และ POSCO ในขณะที่เขานั่งเป็นประธานบริษัทอยู่นั้น ก็สามารถผลิตเหล็กกล้าได้ 21 ล้านตัน เกือบเป็น 2 เท่าของปริมาณที่โรงงานเหล็กกล้าของคาร์เนกีผลิตได้ในเวลา 35 ปี เมื่อถึงตอนที่ ปาร์ก แตจูน อำลาจากตำแหน่งประธานของ POSCO วิสาหกิจที่อยู่ในสภาพลูกผีลูกคนในตอนก่อตั้งแห่งนี้ ก็ได้ผงาดเป็นผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่อันดับสามของโลกไปเรียบร้อยแล้ว
ผลงานความสำเร็จของเขา ทำให้ในแวดวงนักอุตสาหกรรมยกย่องนับถือในระดับที่เขาเป็นตำนานที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้ตั้งแต่ตอนช่วงปลายทศวรรษ 1970 แล้วด้วยซ้ำ มีเรื่องเล่ากันว่า ในปี 1978 ขณะที่กำลังเยี่ยมชมโรงงานเหล็กกล้าแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำคนสำคัญที่สุดของจีน ได้สอบถาม โยชิฮิโร อินายามะ (Yoshihiro Inayama) ประธานบริษัทนิปปอน สตีล (Nippon Steel Corporation) ว่า เขาสามารถที่จะสร้างโรงงานเหล็กกล้าทำนองเดียวกันนี้ขึ้นในประเทศจีนได้หรือไม่ ปรากฏว่า อินายามะ ตอบว่า ภารกิจเช่นนี้คงจะทำไม่สำเร็จหรอก เพราะจีนไม่มี ปาร์ก แตจูน –แล้วเติ้งก็หยอกมุกกลับมาว่า ก็ไม่เห็นจะยากเย็นอะไรเลย เขาก็แค่ต้องนำเอา ปาร์ก เข้าไปในจีนเท่านั้นเอง
สิ่งที่ถือว่ายอดเยี่ยมที่สุดในบรรดาคุณูปการต่ออุตสาหกรรมโสมขาวของเขา ก็คือการที่ ปาร์ แตจูน มีความตระหนักรับรู้อย่างล้ำลึกถึงความสำคัญของการให้การศึกษาอบรมแก่คนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต และได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยโปฮังแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Pohang University of Science and Technology) ขึ้นมาในปี 1986 และ สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Research Institute of Industrial Science & Technology) ในปี 1987 สถาบันทั้งสองต่างก็เป็นสถาบันระดับแนวหน้าทั้งทางด้านการศึกษา, การวิจัยและการพัฒนาในเกาหลีใต้
ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมด้วยการถูกลอบสังหารของ ปาร์ก จุงฮี ในปี 1979 ปาร์ก แตจูน ก็ได้เข้าสู่วงการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( National Assembly) [6] และกลายเป็นสมาชิกคนสำคัญยิ่งในคณะรัฐบาลผสมซึ่งทำให้เกิดทั้งรัฐบาลประธานาธิบดี โรห์ แตวู (Roh Tae-woo ครองอำนาจระหว่างปี 1988 - 1993) และรัฐบาลประธานาธิบดี คิม แดจุง(Kim Dae-jung ครองอำนาจระหว่างปี 1999 - 2006) ในเวลาต่อมา
เขาถูกบังคับให้ออกจากวงการเมืองในปี 1992 เนื่องจากถูกประธานาธิบดีคิม ยังซัม (Kim Young-sam ครองอำนาจระหว่างปี 1993 – 1999) สั่งสอบสวนด้วยข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่นหลายคดี ซึ่งต่อมาก็ปรากฏว่าเป็นข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จ เขาหวนกลับเข้าไปทำงานในคณะรัฐบาลอีกครั้งระหว่างที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้ประสบความเพลี่ยงพล้ำย่ำแย่หนักในปี 1997 โดยมุ่งมั่นทำงานเพื่อแก้ไขคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจคราวนั้น และได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ช่วงสั้นๆ ในปี 2000 ก่อนที่จะถูกบีบบังคับให้ออกจากตำแหน่งด้วยข้อหาใช้อำนาจหน้าที่มาเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์
กระนั้นก็ตาม จวบจนถึงเวลานี้ไม่มีอะไรเลยที่บ่งชี้ให้เห็นว่า เขาได้ใช้สายสัมพันธ์อันล้ำลึกที่มีอยู่กับผู้คนในแวดวงรัฐบาลหรือในวงการอุตสาหกรรม ไปในทางหาผลประโยชน์ส่วนตัว
ผู้ที่รู้จักเขาต่างก็มีความเข้าใจเป็นอย่างดีถึงความสำคัญของเขา –อดีตประธานาธิบดีฟรังซัวส์ มิตแตรองด์ (Francois Mitterrand) ของฝรั่งเศส ครั้งหนึ่งเคยพูดถึงปาร์ก แตจูน ว่า “เมื่อตอนที่เกาหลีต้องการกองทัพ เขาก็เข้าเป็นนายทหาร เมื่อตอนที่ประเทศต้องการยกระดับเศรษฐกิจให้เติบใหญ่ เขาก็เข้าเป็นนักธุรกิจ เมื่อประเทศต้องการมีวิสัยทัศน์ เขาก็เข้าเป็นนักการเมือง”
ไม่ใช่เป็นการกล่าวเกินจริงแต่อย่างใดที่เราจะระบุว่า เขามีส่วนสำคัญในการทำให้เกาหลีใต้สามารถทำการปรับตัวเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ นับตั้งแต่ที่สถาปนาประเทศนี้ขึ้นมาทีเดียว เขาใช้ชีวิตอย่างไม่ปล่อยให้ลมหายใจแม้ชั่วขณะต้องสูญเปล่า ผู้ร่วมงานใกล้ชิดกับเขาจำนวนมากต่างพูดว่าสิ่งเดียวที่ร้อนแรงยิ่งกว่าเหล็กกล้าหลอมละลายในโรงงานเหล็กกล้าแห่งโปฮัง ก็คืออารมณ์อันร้อนแรงของ ปาร์ก แตจูน เขาเป็นจุดศูนย์กลางของอาณาจักรอุตสาหกรรมแห่งนั้น และทุกวันนี้หัวจิตหัวใจแบบวีรบุรุษเฮอร์คิวลิสของเขา ก็ยังคงเต้นต่อไปเพื่อหล่อหลอมสร้างสรรค์อนาคตของเกาหลีใต้
เขาอำลาจากไป เหลือเพียงภรรยาของเขา บุตรอีก 5 คน และประเทศชาติที่เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น
*หมายเหตุผู้แปล*
[4] ธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศ ใช้อักษรย่อว่า IBRD เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ได้จัดตั้งขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ประเทศสมาชิกได้ทำการฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเร่งรัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มักนิยมเรียกกันทั่วไปว่า ธนาคารโลก (World Bank) แต่ถ้าหากใช้คำกันอย่างเคร่งครัดแล้ว ธนาคารโลก มีความหมายครอบคลุมทั้ง IBRD และ สมาคมเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ( International Development Association ใช้อักษรย่อว่า IDA) ซึ่งทำหน้าที่ช่วยเหลือประเทศยากจนที่สุดของโลก
[5] แอนดรูว์ คาร์เนกีนักอุตสาหกรรมชาวอเมริกันผู้มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี 1835 – 1919 เขาเป็นผู้นำในการขยายอุตสาหกรรมเหล็กกล้าอเมริกันไปอย่างมากมายใหญ่โตในช่วงปลายศตวรษที่ 19
[6] ชื่อรัฐสภาของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่รัฐสภามีสภาเดียว
ยง ควอน เป็นนักเขียนอิสระ ซึ่งชำนาญเรื่องเกี่ยวกับกิจการของเกาหลี, รัสเซีย, และเอเชียกลาง