xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นยื่นฟ้องศาลสหรัฐฯเอาผิด “ซี เชปเพิร์ด” ฐานขัดขวางการล่าวาฬประจำปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเหตุการณ์ขณะเรือของ ซี เชปเพิร์ด ชนเข้ากับเรือล่าวาฬ ยูชิน มารุ หมายเลข 3 ของญี่ปุ่น ในน่านน้ำแถบแอนตาร์กติก เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ปี 2010 (แฟ้มภาพ)
เอเอฟพี - หน่วยงานของญี่ปุ่น ซึ่งรับผิดชอบการล่าปลาวาฬ ยื่นฟ้องสมาคมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซี เชปเพิร์ด (Sea Shepherd) และต้นสังกัดในสหรัฐฯ ฐานพยายามขัดขวางการล่าวาฬประจำปี วันนี้ (9)

นับเป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นยื่นฟ้องศาลต่างประเทศ ให้เอาผิดกับนักอนุรักษ์กลุ่มนี้ ซึ่งมักใช้วิธีรุนแรงเข้าหยุดยั้งเรือล่าวาฬที่ทำการล่าอย่างถูกต้อง ตามกฎหมายญี่ปุ่นซึ่งอนุญาตการล่าวาฬเพื่อวิจัย

“วันนี้ เกียวโด เซ็มปากุ ไกชา, สถาบันวิจัยซีเตเชียน และผู้ควบคุมเรือวิจัย ร่วมกันยื่นฟ้องสมาคมอนุรักษ์ ซี เชปเพิร์ด (SSCS) และ พอล วัตสัน” แถลงการณ์จากฝ่ายโจทก์ ระบุ

“สถาบันวิจัยซีเตเชียน และ เกียวโด เซ็มปากุ ขอให้ศาลแขวงเมืองซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน มีคำสั่งห้าม เอสเอสซีเอส และ พอล วัตสัน ผู้ก่อตั้งสมาคมดังกล่าว เข้ามาดำเนินกิจกรรมใดๆในทะเลซึ่งอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บของลูกเรือ และสร้างความเสียหายแก่เรือวิจัยของญี่ปุ่น”

ญี่ปุ่นยังกล่าวหาการกระทำของ ซี เชปเพิร์ด ว่า “เป็นอันตรายต่อชีวิต”

“เอสเอสซีเอส และ พอล วัตสัน โจมตีกองเรือวิจัยของเราอย่างหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้... การกระทำความผิดของ เอสเอสซีเอส และ พอล วัตสัน ไม่เพียงเป็นอันตรายต่อเรือวิจัยซึ่งอยู่กลางทะเลเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ของโครงการด้วย”

เกียวโด เซ็มปากุ เป็นบริษัทเจ้าของเรือล่าวาฬ ขณะที่สถาบันวิจัยซีเตเชียนเป็นผู้ดำเนินโครงการวิจัย ตามคำสั่งของรัฐบาลญี่ปุ่น

ชี เชปเพิร์ด ซึ่งมีสำนักงานในมลรัฐวอชิงตัน มักส่งเรือเข้าไปขัดขวางกิจกรรมล่าวาฬของญี่ปุ่น โดยใช้วิธีโยนระเบิดเหม็น (stink bomb) ขึ้นไปบนเรือเหล่านั้น และมีรายงานการปะทะกันระหว่างเรือของทั้ง 2 ฝ่ายอยู่เป็นประจำ

แถลงการณ์ของฝ่ายญี่ปุ่น ระบุว่า โครงการล่าวาฬ “เป็นส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ว่าด้วยทรัพยากรวาฬในภูมิภาคแอนตาร์กติก”

การล่าวาฬเพื่อจุดประสงค์เชิงพาณิชย์ถูกสั่งห้ามโดยข้อตกลงนานาชาติ ปี 1986 และแม้ “การฆ่าเพื่อวิจัย” จะยังสามารถกระทำได้ แต่นานาประเทศรวมถึงกลุ่มอนุรักษ์ เช่น ซี เชปเพิร์ด มองว่า ญี่ปุ่นใช้ข้ออ้างดังกล่าวปิดบังการล่าวาฬเพื่อการค้า

แม้โตเกียวจะอ้างความจำเป็นในการล่าเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีที่ว่าประชากรวาฬยังคงมีอยู่มากมายทั่วโลก แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่า ท้ายที่สุดเนื้อของสัตว์ที่ถูกล่าเพื่อวิจัยเหล่านี้กลับไปอยู่ในเมนูอาหารเย็น และส่งขายตามภัตตาคารทั่วประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น