เอเอฟพี - ผู้นำยุโรปล้มเลิกความพยายามโน้มน้าวอังกฤษให้รับรองการแก้ไขสนธิสัญญาอียูเพื่อสู้วิกฤตยูโรโซน วันนี้(9) หลังนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ยื่นเงื่อนไขที่ประเทศยุโรปอื่นๆรับไม่ได้
“ผมยืนยันได้ว่า อังกฤษจะไม่เจรจาเรื่องแก้ไขสนธิสัญญาอีกต่อไป” นักการทูตอาวุโสรายหนึ่งเผย ภายหลังการประชุมซัมมิตนานหลายชั่วโมงซึ่งผู้นำอังกฤษเรียกร้องสิ่งตอบแทนที่สมาชิกอียูไม่อาจตอบสนองให้ได้
นักการทูตอีกรายหนึ่งยืนยันว่า จากนี้ไปจะเป็นเพียงการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงระหว่างสมาชิกยูโรโซน 17 ประเทศเท่านั้น รวมถึงประเทศอื่นๆที่ต้องการร่วมใช้เงินยูโร
ความล้มเหลวในการโน้มน้าวกรุงลอนดอนให้ยอมรับการแก้สนธิสัญญาอียู ทำให้โอกาสที่ยุโรปจะแตกออกเป็นหลายกลุ่มมีความเป็นไปได้สูงขึ้น แม้กลุ่มสนับสนุนการแก้สนธิสัญญาจะมีแผนล่ารายชื่อจากอีก 8 ประเทศที่จะหันมาใช้สกุลเงินยูโรก็ตาม
เดนมาร์ก เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ปฏิเสธการใช้สกุลเงินยูโรเช่นเดียวกับอังกฤษ ทว่านายกรัฐมนตรี เฮลเล ธอร์นนิง ชมิดต์ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า โคเปนเฮเกน “พร้อมจะยอมรับการแก้สนธิสัญญาอียู หากนั่นคือทางออกของปัญหา”
เยอรมนี ซึ่งเป็นเสมือนแหล่งพลังงานใหญ่ของยุโรป ยืนยันว่า แผนแก้สนธิสัญญาอียูที่นายกรัฐมนตรี แองเกลา แมร์เคิล เสนอ คือสิ่งจำเป็นในการต่อสู้วิกฤตหนี้สิน และต้องได้รับความร่วมมือจากสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ รวมถึง 10 ประเทศที่ไม่ได้ใช้เงินยูโรด้วย
อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรี คาเมรอน ขู่จะใช้สิทธิ์ “วีโต” ข้อตกลงในลักษณะนี้ หากไม่ได้รับคำรับรองว่า “ผลประโยชน์ของอังกฤษ” จะได้รับการปกป้อง
“หากไม่ได้สิ่งที่ขอ ผมจะวีโตสนธิสัญญาที่มีผลต่ออียูทั้ง 27 ประเทศอย่างไม่ลังเล เพราะผมจะไม่ไปบรัสเซลส์ และจะไม่เป็นตัวแทนประเทศอังกฤษที่นั่น” คาเมรอน ให้สัมภาษณ์ ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมซัมมิตอียู วานนี้(8)
นักการทูตหลายคนเปิดเผยว่า อังกฤษต้องการคำรับรองว่าจะยังมีสิทธิ์วีโตกฎหมายการคลังของอียู หากกฎหมายดังกล่าวจะทำให้อังกฤษเสียประโยชน์
คาเมรอน ยังประกาศจะปกป้องกรุงลอนดอนซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอังกฤษมิให้ถูกบรัสเซลส์แทรกแซง ขณะที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีต้องการให้กำหนดภาษีธุรกรรมการเงิน
การแก้ไขสนธิสัญญาอียูจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกทั้ง 27 ประเทศ ซึ่งในแถลงการณ์ของ คาเมรอน ที่เผยแพร่ลงนิตยสารไทม์สสัปดาห์นี้ ระบุว่า หากสมาชิกยูโรโซน 17 ประเทศจะร่างสนธิสัญญาขึ้นใช้เองอีกฉบับ อังกฤษก็จะพยายามปกป้องผลประโยชน์ของตนอย่างเต็มที่
สถาบันต่างๆในยุโรป เช่น คณะกรรมาธิการยุโรป และศาลยุติธรรมแห่งประชาคมยุโรป “ล้วนเป็นกรรมสิทธิ์ของสมาชิกอียูทุกประเทศ ดังนั้นบทบาทขององค์กรเหล่านี้นอกเหนือจากสนธิสัญญา 27 ประเทศ จะต้องมีมาตรการคุ้มครองด้วย” คาเมรอน ย้ำ