xs
xsm
sm
md
lg

“แมร์โกซี” เร่งสนธิสัญญาใหม่อียู-หนุนลงโทษชาติไร้วินัยการคลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แองเจลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนีและนิโกลาส์ ซาร์โกซี ประธานาธิบดีฝรั่งเศส แถลงข่าวร่วมหลังการหารือที่กรุงปารีส
เอเอฟพี - ฝรั่งเศสและเยอรมนีต้องการสนธิสัญญาอียูใหม่ในเดือนมีนาคมปีหน้า ด้วยแก้ไขกฎเกณฑ์วินัยด้านงบประมาณที่เคร่งครัดขึ้นเพื่อจัดการกับวิกฤตหนี้ยูโรโซน ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซีแห่งฝรั่งเศส และนางแองเจลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีแถลงร่วมกันหลังหารือฉุกเฉินเมื่อวันจันทร์ (5)

ถ้อยแถลงของผู้นำทั้งสองคนมีขึ้นหลังการเจรจากันเครียดเครียดที่กรุงปารีส ณ ช่วงต้นสัปดาห์แห่งสัปดาห์สำคัญของยุโรปที่กำลังโซเซอยู่บนขอบเหวสืบเนื่องจากปัญหาหนี้สินของเหล่าชาติสมาชิก ก่อนหน้าการประชุมสำคัญของอียูในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม วันพฤหัสบดีนี้ (8)

“เป้าหมายสำคัญที่เราเห็นพ้องกันกันคือความตกลงกันเกี่ยวกับวินัยด้านงบประมาณระหว่าง 17 ชาติสมาชิกยูโซน ควรตกลงกันได้และได้ผลสรุปในเดือนมีนาคม เพราะเราจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว” ซาร์โกซีกล่าว พร้อมเตือนว่าควรมีสนธิสัญญาอียูใหม่ให้ได้ในเดือนมีนาคมปีหน้าเพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นแก่ยูโรและยูโรโซน

ซาร์โกซีบอกว่า มีความเป็นไปได้ที่สนธิสัญญาอียูฉบับแก้ไขนี้จะใช้ทั้งกับ 27 ชาติสมาชิกอียูหรือแค่ 17 ประเทศยูโรโซน ขณะที่ชาติอื่นๆ ที่เหลือจะลงนามหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ทั้งนี้รายละเอียดข้อเสนอของฝรั่งเศสและเยอรมนีนี้จะอยู่ในหนังสือที่ส่งถึงนายเฮอร์มัน ฟาน รอมปุย ประธานสภายุโรปในวันพุธ (7) หนึ่งวันก่อนหน้านี้ประชุมในกรุงบรัสเซลส์

สืบเนื่องจาก แมร์เคิล (Merkel) กับ ซาร์โกซี (Sarkozy) เปิดการหารือกันครั้งแล้วครั้งเล่าในระยะหลังๆ มานี้ เพื่อพยายามทำให้เขตยูโรโซนกลับเป็นที่เชื่อมั่นของนานาชาติและตลาดการเงินอีกคำรบหนึ่ง จึงมีการเรียกขานรวบชื่อผู้นำทั้งสองเข้าด้วยกันว่า “แมร์โกซี” (Merkozy)

ในการหารือกัน ผู้นำทั้งสองคนแสดงความสนับสนุนการลงโทษโดยอัตโนมัติต่อชาติสมาชิกอียูใดก็ตามที่บริหารงานผิดพลาดขาดดุลงบประมาณเกินร้อยละ 3 ของจีดีพี และเรียกร้องให้ชาติยูโรโซนมีหลักการขาดดุลงบประมาณที่เป็นรูปธรรมและไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่แมร์เคิล แนะนำว่าศาลยุติธรรมยุโรปควรมีหน้าที่ตรวจสอบว่างบประมาณของชาติต่างๆนั้นเป็นไปตามกฎระเบียบหรือไม่ แต่ก็ไม่ถึงขั้นมีอำนาจประกาศว่างบประมาณนั้นไม่มีผลและเป็นโมฆะ

ด้วยวิกฤตหนี้ที่กำลังลุกลามไปทั่วยูโรโซน อิตาลีเริ่มต้นสัปดาห์อันสำคัญนี้ด้วยการนำเสนอมาตรการรัดเข็มขัดอันเข้มงวดทั้งปฏิรูปภาษีและเบี้ยบำนาญต่อรัฐสภาขณะที่ทางยุโรปกำลังเร่งมือฉุดให้ยูโรมีชีวิตรอดต่อไป โดยทางนายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติ เตือนว่าอิตาลีเสี่ยงที่จะล่มสลายแบบเดียวกับกรีซ หากมาตรการเหล่านี้ไม่ถูกบังคับใช้

ทั้งนี้ อิตาลี ชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของยูโรโซน พยายามพิสูจน์ให้ชาติเพื่อนสมาชิกยุโรปเห็นว่าโรมไม่ได้เป็นหนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุด แต่พวกเขาก็มีส่วนร่วมในการหารือเพื่อปกป้องยูโรโซนด้วยเช่นกัน

มาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรปบอกว่าเขาพร้อมดำเนินการต่างๆ และหลายคนหวังว่าธนาคารกลางแห่งนี้จะเข้าแทรกแซงเพื่อปกป้องเหล่าธนาคารยุโรปจากปัญหาสินเชื่อตึงตัวและเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อพยุงไม่ให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสูงเกินไป อย่างไรก็ตาม ทางซาร์โกซีบอกว่า เยอรมีและฝรั่งเศสเห็นว่าการเข้าซื้อตราสารหนี้ยูโรไม่ใช่วิธีการคลี่คลายวิกฤตนี้ พร้อมทั้งยังเรียกร้องให้จัดประชุมยุโรปทุกเดือนและควรกำหนดตารางให้แน่นอน หลังจากที่ผ่านมาเหล่าผู้นำยูโรโซนมักถูกกล่าวหาเขย่าขวัญตลาดอยู่บ่อยๆ จากการจัดประชุมฉุกเฉิน
กำลังโหลดความคิดเห็น