xs
xsm
sm
md
lg

UNพบอุณหภูมิปีนี้พุ่งปริ๊ดติดอันดับ10ปีสุดร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ข้อมูลยูเอ็นชี้ในรอบ 15 ปีมานี้ มีถึง 13 ปีที่ถือเป็นปีที่อากาศร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ ขณะที่ปีนี้เป็นปีที่ร้อนที่สุดอันดับ 10 นับจากปี 1850

รายงานประจำปีขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) ที่เป็นองค์กรชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งนำออกเผยแพร่ในวันอังคาร (29) ระบุว่าปี 2011 ปิดฉากช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ถือเป็นทศวรรษที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการวัดมา

“ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของเราชัดเจนและพิสูจน์ว่า โลกร้อนขึ้น โดยที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์" ไมเคิล จาร์โรด์ เลขาธิการดับเบิลยูเอ็มโอ แถลงระหว่างการเปิดเผยรายงานฉบับนี้ ในที่ประชุมการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ที่เมืองเดอร์บัน แอฟริกาใต้

“ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ และเข้าใกล้ระดับที่สอดคล้องกับการที่อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 2-2.4 องศาเซลเซียส อย่างรวดเร็ว”

นักวิจัยเชื่อว่า ถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นสูงกว่า 2 องศาเซลเซียส อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งบนบกและในทะเล ที่มีขอบเขตกว้างไกลและไม่อาจย้อนกลับได้

รายงานฉบับนี้ระบุว่า ช่วงปี 2002-2011 เท่าเทียมกับช่วงปี 2001-2010 โดยต่างก็มีฐานะที่เป็นทศวรรษที่ร้อนที่สุดนับจากปี 1850 ขณะที่ปี 2011 นี้ถือเป็นปีที่ร้อนที่สุดอันดับ 10 นับจากปี 1850 ทั้งนี้ปี 1850 คือเมื่อตอนที่เริ่มมีการวัดอุณหภูมิได้อย่างแม่นยำ

สถิติดังกล่าวยังคงเกิดขึ้น แม้ว่าปรากฏการณ์ลานีญาที่ถือว่ารุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง จะปะทุขึ้นในเขตร้อนของมหาสมุทรแปซิฟิกตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2010 และต่อเนื่องมาจนถึงเดือนพฤษภาคม 2011 ก็ตาม

รายงานตั้งข้อสังเกตว่า ปรากฏการณ์ลานีญาที่เกิดขึ้นทุก 3-7 ปีนั้น ทำให้เกิดสภาพอากาศรุนแรง เป็นต้นว่า เกิดความแห้งแล้งในแอฟริกาตะวันออก หมู่เกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิกในแนวเส้นศูนย์สูตร และทางใต้ของสหรัฐฯ ขณะที่เกิดอุทกภัยใหญ่ในแอฟริกาใต้ ทางตะวันออกของออสเตรเลีย และเอเชียตอนใต้

แม้ ลานีญา และ เอลนีโญ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์คู่แฝดของมัน ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศโดยตรง แต่อุณหภูมิในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นอันเกิดจากภาวะโลกร้อนอาจส่งผลให้ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีความรุนแรงและเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น

ปัจจุบัน ตามภูมิภาคต่างๆ อุณหภูมิเฉลี่ยเหนือพื้นผิวดิน ล้วนอยู่สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยระยะยาว ตัวอย่างเช่นฟินแลนด์มีฤดูร้อนที่อากาศร้อนที่สุดในรอบ 200 ปี

ขณะเดียวกัน แผ่นน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกก็หดตัวจนเหลือขนาดพื้นที่น้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 นับจากปี 2007 แถมยังทำสถิติบางที่สุดอีกด้วย

และต่อไปนี้คือสภาพอากาศรุนแรงที่เกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งบางเหตุการณ์เป็นอิทธิพลจากลานีญา โดยแบ่งตามภูมิภาคดังนี้:

แอฟริกาตะวันออก: เกือบตลอดทั้งปีนี้ ภาวะแห้งแล้งรุนแรงส่งผลต่อหลายประเทศในภูมิภาค ที่ปกติแล้วเกษตรกรรมได้รับการหล่อเลี้ยงจากน้ำฝนเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะทางเหนือของเคนยา ทางตะวันตกของโซมาเลีย และบางส่วนในเอธิโอเปีย

จากข้อมูลของสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (โอซีเอชเอ) มีประชาชนต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินถึง 13 ล้านคน

และนับจากเดือนตุลาคม หลายพื้นที่ในบริเวณที่กล่าวมานี้ต้องเผชิญกับอุทกภัยที่เกิดจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก

เอเชียตะวันออก: ฝนที่ตกในฤดูมรสุมของปีนี้มีปริมาณสูงกว่าเฉลี่ย ไทยและลาวได้รับผลกระทบหนักที่สุด อุทกภัยใหญ่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 1,000 รายในไทย กัมพูชา และพม่า

มหาอุทกภัยที่ผสมโรงด้วยภาวะน้ำทะเลหนุนและส่งผลต่อหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครนานหลายสัปดาห์นับจากกลางเดือนที่แล้ว สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจหลายพันล้านดอลลาร์

อเมริกาเหนือ: ภัยพิบัติจากสภาพอากาศรุนแรง 14 ครั้งในสหรัฐฯ สร้างความสูญเสียอย่างน้อยครั้งละ 1,000 ล้านดอลลาร์

ภาวะแห้งแล้งรุนแรงส่งผลต่อพื้นที่กว้างขวางทางใต้ โดยเฉพาะเทกซัส ที่ปริมาณน้ำฝนในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติถึง 56% ขณะที่อุณหภูมิร้อนผิดหูผิดตา โดยร้อนกว่าเกณฑ์เฉลี่ยระยะยาว 3 องศาเซลเซียส

ในทางกลับกัน บางมลรัฐทางเหนือและตอนกลางของสหรัฐฯกลับมีฝนตกหนักทำสถิติ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงเช่นเดียวกับพื้นที่ที่เคยถูกพายุเฮอร์ริเคน “ไอรีน” ถล่มในเดือนสิงหาคม และพายุโซนร้อน “ลี” ในเดือนถัดมา

อเมริกากลางและอเมริกาใต้: ฝนตกเกินกว่า 200 มิลลิเมตรภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 900 คนในเขตเทือกเขาของริโอเดจาเนโร นับเป็นหนึ่งในภัยพิบัติธรรมชาติรุนแรงที่สุดในประวัติศาสร์บราซิล

อเมริกากลางเผชิญอุทกภัยใหญ่ในเดือนตุลาคม จากปริมาณน้ำฝนถึง 1,513 มิลลิเมตรในฮุยซูการ์ เอลซัลวาดอร์ ในช่วงเวลา 10 วัน กัวเตมาลา นิการากัว ฮอนดูรัส และคอสตาริกาถูกลูกหลงเช่นเดียวกัน

เอเชียใต้: ปากีสถานเผชิญน้ำท่วมรุนแรงเป็นปีที่ 2 ติดกัน โดยปีนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่แคว้นสินธุ์ ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งต้องเผชิญฤดูมรสุมที่มีฝนตกชุกที่สุดเป็นประวัติการณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น