xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจโลกนับวันน่าเป็นห่วง ยุโรป-อเมริกา รุมฉุดจีดีพีเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนงานจีนกำลังขุดดินอยู่ในสถานที่ก่อสร้างห้างร้านใหม่ๆ แห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งเมื่อวันจันทร์(28) ตามการคาดการณ์ของมอร์แกน สแตนลีย์ เศรษฐกิจจีนก็เช่นเดียวกับชาติเอเชียอื่นๆ จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯที่ย่ำแย่ลง โดยคาดว่าปีหน้าแดนมังกรจะโตเพียง 8.4%
เอเจนซีส์ - เศรษฐกิจโลกลื่นไถล ยุโรปดูเหมือนเข้าสู่ภาวะถดถอยอ่อนๆ แล้ว ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ทั้งหมดยืนไม่มั่นคง และเอเชียถูกลดแนวโน้มการเติบโตสำหรับปีหน้า
เศรษฐกิจจีนโตช้าลง ยอดส่งออกญี่ปุ่นดิ่ง ยุโรปตะวันออกซวนเซ เนื่องจากขาดแคลนสินเชื่อจากการที่แบงก์ในยูโรโซนลดการปล่อยกู้
ที่อเมริกา การฟื้นตัวมีปัญหา มีการปรับลดการเติบโตไตรมาส 3 เหลือ 2% นอกจากนั้น การใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนตุลาคมยังชะลอตัว และการลงทุนภาคธุรกิจอ่อนแอ
ตลาดการเงินโลกตกอยู่ในความเสี่ยงเนื่องจากผู้นำยุโรปไม่สามารถเสนอทางออกวิกฤตหนี้ที่น่าเชื่อถือ และสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ตกลงกันไม่ได้เรื่องการลดยอดขาดดุลงบประมาณ ส่งผลให้ความมั่นใจของธุรกิจและผู้บริโภคเสื่อมถอย และบ่อนทำลายแนวโน้มการเติบโต
ตลาดแรงงานเมืองลุงแซมร่วมซ้ำเติมอีกแรง คาดว่า ตัวเลขจ้างงานประจำเดือนพฤศจิกายนที่จะออกมาวันศุกร์นี้ (2 ธ.ค.) จะมีเพียง 120,000 ตำแหน่ง ซึ่งแม้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าแต่ยังต่ำกว่าระดับที่ต้องการเพื่อปรับปรุงสถิติการว่างงานโดยรวม
บริษัทอเมริกันขนาดใหญ่ยังเฝ้าระวัง ตัวอย่างเช่น สัปดาห์ที่แล้วโบอิ้งประกาศปิดโรงงานในแคนซัสที่ว่าจ้างพนักงาน 2,100 คน เพื่อเตรียมรับมือการลดงบประมาณของรัฐบาลที่จะกระทบต่อการใช้จ่ายด้านกลาโหมอย่างรุนแรง ขณะที่ แบงก์ ออฟ อเมริกา แจ้งเตือนการปลดพนักงานฝ่ายเทคโนโลยีตามแผนลดการจ้างงาน 30,000 ตำแหน่ง ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
เวิร์ลพูล ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านรายใหญ่สุดของโลก รายงานว่า ดีมานด์ทั่วโลก รวมถึงตลาดเกิดใหม่ในเอเชียที่โตเร็วที่สุด อ่อนแอลง และบริษัทมีแผนปลดพนักงาน 5,000 คนในอเมริกาเหนือและยุโรป
เจโรม เลวี ฟอร์แคสติ้ง เซ็นเตอร์ กังวลว่า การใช้มาตรการคุมเข้มทางการคลังในสหรัฐฯ จะทำให้การบริโภคลดลงและฉุดรั้งการเติบโต ซึ่งเมื่อประกอบกับสภาพเศรษฐกิจยุโรปและทั่วโลกแล้ว ทำให้โอกาสที่พญาอินทรีจะเผชิญภาวะถดถอยมีสูงขึ้น
ที่ยุโรป รัฐมนตรีคลังมีนัดหารือในวันอังคาร (29) เพื่อทบทวนแผนขยายอำนาจกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ) ทว่า ราคาพันธบัตรยูโรโซนที่ดำดิ่งในช่วงหลังมานี้ และชี้ชัดจากปรากฏการณ์การขายพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีต่ำกว่าเป้าไปมาก บั่นทอนแนวโน้มประสิทธิภาพของตัวเลือกนี้ และยังทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจว่า นักการเมืองจะใช้อีเอฟเอสเอฟป้องกันวิกฤตลุกลามได้จริง
วันศุกร์ที่แล้ว (25) โกลด์แมน แซคส์ เตือนว่า ปัญหาในการระดมทุนของภาครัฐในยุโรปที่กระทบต่อผลกำไรของแบงก์ กำลังจำกัดสินเชื่อสำหรับครัวเรือนและธุรกิจ และผลลัพธ์สุดท้ายคือภาวะถดถอยระดับพอประมาณโดยที่อาจยกระดับความรุนแรงจนเทียบเท่าที่เคยเกิดขึ้นในปี 2008-2009
มอร์แกน สแตนลีย์สำทับเมื่อวันจันทร์ (28) ว่า แนวโน้มถดถอยของยุโรปและการฟื้นตัวชะงักงันของสหรัฐฯ ส่งผลให้แนวโน้มการเติบโตของเอเชียอยู่ในความเสี่ยงขาลง
รายงานฉบับนี้คาดว่า เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) จะเติบโต 6.9% ในปีหน้า แทนที่จะเป็น 7.3% อย่างที่เคยคาดไว้ นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือนที่มอร์แกน สแตนเลย์ลดแนวโน้มการเติบโตของภูมิภาคนี้
มอร์แกน สแตนลีย์ ยังคาดว่า รัฐบาลในเอเชียจะเริ่มนโยบายการคลังแบบกำหนดตัวเลขเป้าหมาย และผ่อนคลายต้นทุนการกู้ยืมมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการเติบโตภายใน โดยที่อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไทย จะลดดอกเบี้ยในระดับจำกัดในปีหน้า
ทั้งนี้เศรษฐกิจในเอเชียที่พึ่งพิงการค้ากับต่างชาติอย่างฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โลกที่เลวร้ายลงมากกว่าชาติอื่นๆ
กระนั้น แม้แต่ประเทศที่มีตลาดภายในขนาดใหญ่อย่างจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ยังไม่สามารถหลุดพ้นแนวโน้มขาลงจากปัจจัยภายนอกได้ โดยมอร์แกน สแตนลีย์คาดว่าปีหน้าจีนจะขยายตัว 8.4% จากตัวเลขคาดการณ์เดิม 8.7%, อินเดีย 6.9% จาก 7.4% และอินโดนีเซีย 5.6% แทนที่จะเป็น 5.8% ที่เคยคาดไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น