xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ลี้ภัยชาวเคิร์ด “เย็บปาก” ประท้วงทางการออสเตรเลียในศูนย์กักกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์กักกันผู้อพยพในออสเตรเลียมักเกิดการประท้วงบ่อยครั้ง เนื่องจากผู้ขอลี้ภัยรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่ถูกขังเป็นเวลานาน โดยทางการไม่ยอมอนุมัติสถานะผู้ลี้ภัยให้ (แฟ้มภาพ)
เอเอฟพี - ผู้ขอลี้ภัยชาวเคิร์ด 3 คน ก่อเหตุเย็บริมฝีปากตัวเอง และอีก 2 คน เจตนาเสพยาเสพติดเกินขนาด เพื่อประท้วงทางการออสเตรเลียที่คุมตัวพวกเขาไว้ในศูนย์กักกันเป็นเวลานานเกินทน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้ลี้ภัยเปิดเผย วันนี้ (23)

ชายชาวเคิร์ดทั้งห้าถูกกักขังอยู่ภายในศูนย์กักกันผู้อพยพตอนเหนือ เมืองดาร์วิน โดยทั้งหมดเป็นชนกลุ่มน้อยไฟลี (Fayli) ที่ลี้ภัยมาจากชายแดนอิหร่าน และต่างก็ไม่มีสัญชาติ เอียน รินทัล โฆษกกลุ่มแนวร่วมเพื่อผู้ลี้ภัย กล่าว

“พวกเขาเย็บริมฝีปากติดกัน” รินทัลเปิดเผยกับเอเอฟพี “เป็นการประท้วงที่ค่อนข้างเด็ดเดี่ยว”

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า กลุ่มนี้ไม่มีเจตนาอดอาหารประท้วง โดยยังคงดื่มน้ำประทังชีวิต

ส่วนผู้ประท้วงอีก 2 ราย ที่เจตนาเสพยาเสพติดเกินขนาดก็พ้นขีดอันตรายแล้ว หลังจากได้รับการล้างท้อง

ทางศูนย์กักกันผู้อพยพเมืองดาร์วิน ยืนยันว่า แม้ผู้ประท้วงชาวเคิร์ดทั้งห้าพยายามทำร้ายร่างกายตัวเอง แต่จะไม่มีผลการต่อพิจารณาสถานะผู้ลี้ภัย

“เราได้อธิบายกับผู้ประท้วงกลุ่มนี้แล้วว่า การกระทำดังกล่าวจะสามารถเปลี่ยนแปลงผลการพิจารณาสถานะผู้ลี้ภัยได้” โฆษกศูนย์กักกันผู้อพยพแห่งนี้ กล่าว

เอียน รินทัล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ชายชาวเคิร์ดทั้งห้าถูกกักกันอยู่ในศูนย์มานานกว่า 21 เดือน ทว่า ทางการออสเตรเลียกลับปฏิเสธการอนุมัติสถานะผู้ลี้ภัยแก่พวกเขา

“ปัญหา คือ พวกเขากลายเป็นคนชายขอบ เพราะทุกคนไม่มีสัญชาติ จึงไม่อาจถูกส่งตัวกลับประเทศได้ ... และรัฐบาลก็รู้ดีว่าไม่สามารถส่งชาวเคิร์ดไฟลีไปที่ไหนได้ เพราะฉะนั้น พวกเขาจะถูกกักตัวในศูนย์ไปเรื่อยๆ”

ชาวเคิร์ดไฟลีเป็นมุสลิมชีอะห์ที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมบริเวณชายแดนอิรัก-อิหร่าน เมื่อทศวรรษที่ 1970-1980 ซัดดัม ฮุสเซน มีคำสั่งเนรเทศชนกลุ่มนี้ให้ข้ามไปยังฝั่งอิหร่าน และยกเลิกการให้สัญชาติอิรักแก่ชาวเคิร์ดไฟลี

ทว่า เมื่ออาศัยอยู่ในฝั่งอิหร่าน พวกเขาก็ถูกข่มเหงด้วยเหตุผลด้านการเมือง เชื้อชาติ และศาสนา โดยเฉพาะเรื่องถิ่นกำเนิดที่อยู่ในอิรัก

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมา ศูนย์กักกันผู้อพยพออสเตรเลียมักเกิดปัญหาความไม่สงบขึ้นบ่อย ขณะเดียวกัน ผู้อพยพจำนวนมากลักลอบล่องเรือลำเล็ก เสี่ยงตายฝ่าลมทะเลจากเอเชียไปยังชายฝั่งออสเตรเลีย เพื่อหวังพึ่งสถานะผู้ลี้ภัยและชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องดีกว่าเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น