เอเอฟพี - นช.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้หลบหนีคดีในต่างแดน กำลังเดินทางเยือนเกาหลีใต้ เพื่อเยี่ยมชมโครงการพัฒนาแม่น้ำ 4 สาย มูลค่า 19,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 590,000 ล้านบาท) โครงการที่เขาคิดว่า สามารถช่วยป้องกันวิกฤตอุทกภัยในประเทศไทย พร้อมทั้งอ้างว่า จะรายงานข้อมูลกลับมายัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กระทรวงที่ดินและสื่อเกาหลีใต้เปิดเผย วันนี้ (22)
ทักษิณ ชินวัตร กำลังอยู่ระหว่างการเยือนเกาหลีใต้เป็นการส่วนตัว ตั้งแต่วันจันทร์ (21) - วันพฤหัสบดี (24) ขณะที่วันนี้ เขากำลังเยี่ยมชมสถานที่ตั้งโครงการขุดลอกคูคลอง สร้างเขื่อนกั้นน้ำ และพัฒนาทัศนียภาพของแม่น้ำทั้ง 4 สาย ซึ่งประกอบไปด้วย แม่น้ำฮัน (Han) แม่น้ำนักดง (Nakdong) แม่น้ำกึม (Geum) และแม่น้ำยองซาน (Yeongsan)
โก ยัง-ซุค เจ้าหน้าที่กระทรวงที่ดิน ผู้ร่วมคณะเดินทาง ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี ว่า “ทักษิณเล่าว่า กำลังคิดถึงปัญหาน้ำท่วมเรื้อรังในประเทศไทย และต้องการเห็นโครงการพัฒนาแม่น้ำของเราด้วยตาตัวเอง เพื่อจะได้หาแนวคิดอะไรบางอย่าง … เขาถามคำถามมากมาย”
นอกจากนี้ ในบทสัมภาษณ์ของหนังสือพิมพ์โชซุน อิลโบ ฉบับวันนี้ ทักษิณ กล่าวไว้ว่า จะรายงานผลการสำรวจโครงการพัฒนาแม่น้ำ 4 สาย ของเกาหลีใต้ให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
นช.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวอ้างผ่านหนังสือพิมพ์โชซุน อิลโบ ว่า เขาได้ผลักดันแผนป้องกันน้ำท่วม และปัญหาภัยแล้งระยะยาว ตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่โครงการเหล่านี้ต้องยกเลิกไป เนื่องจากเกิดการรัฐประหารปี 2006
“ความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้ จะเหลือเพียง 1 ใน 5 จากความเสียหายในปัจจุบัน หากโครงการของผมได้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้” โชซุน อิลโบ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้
ปัจจุบัน นช.ทักษิณ ชินวัตร ในวัย 62 ปี อยู่ในสถานภาพนักโทษหนีคดีผู้ลี้ภัยในนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หลังถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีทุจริตประมูลซื้อที่ดินรัชดาภิเษก
โฆษกกระทรวงที่ดินโสมขาว เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ทักษิณเดินทางมาพร้อมกับผู้ช่วย 3 คน และไม่มีนัดหมายหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลกรุงโซล ระหว่างการปรากฏตัวครั้งนี้ตามคำเชิญของนักธุรกิจเกาหลีใต้
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาแม่น้ำ 4 สาย มีวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูแม่น้ำฮัน แม่น้ำนักดง แม่น้ำกึม และ แม่น้ำยองซาน เพื่อช่วยกักเก็บน้ำในสภาวะขาดแคลน และแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างบูรณาการ โครงการนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2009 และคาดว่า จะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม ปี 2012