xs
xsm
sm
md
lg

อินเดียในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

เผยแพร่:   โดย: ศรีราม เชาเลีย

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Tiger in the dragon's yard
By Sreeram Chaulia
17/11/2011

การที่ในอินเดียมีความคาดหมายอันจำกัดเกี่ยวกับการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าแดนภารตะยังคงมีฐานะเป็นผู้เล่นรายเล็กๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ชนชั้นนำที่ขบคิดในเชิงยุทธศาสตร์ต้องการให้อินเดียเดินหน้าเกี้ยวพาชาติต่างๆ ที่หวาดกลัวจีนมาเป็นพวก แล้วผงาดขึ้นกลายเป็นพลังที่ทำหน้าที่ตอบโต้ อยู่ในเขตหลังบ้านของปักกิ่ง อย่างไรก็ดี ถ้าหากแดนภารตะยังคงไม่มีกำลังทางนาวีระดับเวิร์ลด์คลาสของตนเองแล้ว นิวเดลีก็จะต้องดิ้นรนอย่างหนักหน่วงในความพยายามเพื่อจะสร้างสมดุลขณะที่สหรัฐฯกำลังเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ

การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit หรือ EAS) ปีนี้ ซึ่งจัดขึ้นที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในวันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน มีรัฐสมาชิกรายใหม่ 2 รายเข้าร่วมเป็นครั้งแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย [1] สมาชิกหน้าใหม่ทั้งสองทำให้งานชุมนุมประจำปีของผู้เข้าร่วมการหารือกลุ่มนี้ที่เดิมก็จัดว่าประหลาดๆ อยู่แล้ว ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก แถมยังไม่ได้สอดคล้องกับบริบททางภูมิศาสตร์ของชื่อของกลุ่มนี้อีกด้วย

อีเอเอสมีมิติที่ขยายกว้างกว่าภูมิภาคตามชื่อของมัน นับตั้งแต่ที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2005 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียแล้ว เนื่องจากการเข้าร่วมของออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, และอินเดีย ถึงแม้จะก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งจากหลายๆ ฝ่ายก็ตามที ทั้งนี้มาเลเซียผู้เป็นเจ้าภาพและเป็นผู้ริเริ่มสำคัญที่สุดของโครงการนี้ คัดค้านการเข้ามาของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งแท้จริงเป็นรัฐในแปซิฟิก แถมในทางเชื้อชาติยังไม่ใช่ชาวเอเชีย อีกทั้งถูกมองว่าเป็นลูกน้องบริวารของโลกตะวันตกเท่านั้น ขณะที่จีนก็ต่อต้านการปรากฏตัวของอินเดีย ซึ่งเป็นรัฐในเอเชียใต้ โดยที่ลึกๆ แล้วปักกิ่งมองด้วยว่า แดนภารตะอาจจะคุกคามฐานะอันโดดเด่นของตนในอีเอเอส

ในบรรดามหาอำนาจซึ่งมิได้อยู่ในเอเชียตะวันออกแท้ๆ แต่เวลานี้ได้ครองที่นั่งในอีเอเอสนั้น บางทีอินเดียอาจจะเผชิญกับการท้าทายใหญ่หลวงที่สุดในแง่ของการส่งอิทธิพลต่อระเบียบวาระทางการทูตของภูมิภาคแถบนี้ รายงานข่าวที่เผยแพร่อยู่ในสื่อมวลชนอินเดียในช่วงก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรีมานโมหัน ซิงห์ ออกเดินทางสู่เกาะบาหลี ส่วนใหญ่เน้นหนักไปยังการหารือทวิภาคีที่เขามีกำหนดนัดหมายไว้กับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ โดยที่เป็นการประชุมข้างเคียงของซัมมิตหลักคราวนี้ ขณะที่แทบไม่มีข่าวสลักสำคัญอะไรเกี่ยวกับศักยภาพของอินเดียในการก้าวขึ้นเป็นเพลเยอร์รายสำคัญในเอเชียตะวันออกเอาเสียเลย สภาพการณ์เช่นนี้นับเป็นสะท้อนให้เห็นช่วงห่างเบ้อเริ่มเทิ่ม ระหว่างความมุ่งมาดปรารถนา กับ ความเป็นจริง

พวกชนชั้นนำที่ขบคิดในเชิงยุทธศาสตร์ของอินเดีย ต้องการให้ประเทศของพวกตนมีฐานะเป็นพลังแห่งการตอบโต้ (countervailing force) ซึ่งอยู่ภายในอาณาบริเวณทางยุทธศาสตร์ของจีน และเตรียมตัวให้พรักพร้อมที่จะเข้าแทนที่สหรัฐฯในระยะยาว ถ้าหากวอชิงตันสูญเสียความแข็งแกร่งทางการคลังซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการประกาศตนเป็นมหาอำนาจในเอเชียตะวันออก เนื่องจากทางฝ่ายจีนได้ดำเนินการแทรกตัวทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจเข้าสู่เอเชียใต้ที่เป็นบ้านของอินเดียเองอย่างกว้างไกลมากแล้ว นิวเดลีจึงกำลังมองหาจุดกดดันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสามารถดำเนินการตอบโต้เพื่อเตือนปักกิ่งให้ระลึกว่า การวางตัวเป็นเจ้าในเอเชียใช่ว่าจะกระทำได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องถูกทดสอบทัดทาน

มิติทางการเมืองของนโยบาย “มองตะวันออก” (Look East) ที่อินเดียดำเนินมาเป็นเวลา 2 ทศวรรษแล้ว คือการตอกย้ำถึงความปรารถนาดังกล่าวมานี้ เป็นความมุ่งมาดปรารถนาที่จะเจาะเข้าสู่พื้นที่ซึ่งจีนมีฐานะครอบงำมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ที่ญี่ปุ่นเสื่อมโทรมถดถอยลงมา ด้วยความหวังที่ว่าในที่สุดนิวเดลีจะสามารถตั้งมั่นฝังรากกลายเป็น “มหาอำนาจผู้เข้ามาพำนักอาศัย” (resident power) ทำนองเดียวกับสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี สิ่งที่แตกต่างไปจากวอชิงตันก็คือ นิวเดลีอยู่ในภาวะที่ขาดแคลนอย่างสาหัสในเรื่องเครื่องมือทางวัตถุที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อนความฝันแห่งการก้าวขึ้นเป็นเพลเยอร์รายสำคัญในภูมิภาคเอชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

พวกนักยุทธศาสตร์ทางนาวีชาวอินเดียได้ส่งเสียงเตือนในตอนต้นปีนี้ คัดค้านไม่ให้ใช้ท่าทีฮึกห้าวอวดกล้ามในกรณีพิพาทซึ่งปะทุขึ้นในน่านน้ำทะเลจีนใต้ ภายหลังเกิดการเขม่นกับจีนสืบเนื่องจากบริษัทรัฐวิสาหกิจน้ำมันของแดนภารตะออกทำการสำรวจหาน้ำมันและก๊าซในบริเวณนอกชายฝั่งทะเลของเวียดนาม พล.ร.อ.อรุณ ประกาศ (Admiral Arun Prakash) อดีตผู้บัญชาการทหารเรือได้ส่งเสียงเตือนในตอนนั้นว่า อย่าได้ไปมีความขัดแย้งกับจีนในเรื่อง “เสรีภาพการเดินเรือในน่านน้ำสากล” ในเมื่อกองทัพเรืออินเดียยังมีแสนยานุภาพอันเบาบาง และขาดไร้ช่องทางที่จะ “คงกำลังนาวีเอาไว้ในบริเวณที่อยู่ห่างจากบ้านประมาณ 2,500 ไมล์ทะเล (4,630 กิโลเมตร) เพื่อให้การหนุนหลังเดิมพันในด้านน้ำมันและก๊าซในทะเลจีนใต้ของบริษัทรัฐวิสาหกิจ โอเอ็นจีซี วิเทศ (ONGC Videsh Ltd) ”

อดีตประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) ของสหรัฐฯ มีคติพจน์ซึ่งมีชื่อเสียงอยู่บทหนึ่งที่ว่า “พูดจานุ่มๆ และถือไม้กระบองใหญ่ๆ เอาไว้ในมือ” (speak softly and carry a big stick) แต่กรณีของแดนภารตะกลับอยู่ในสถานะที่ตรงกันข้าม พวกเจ้าหน้าที่อินเดียไม่สามารถที่จะดำเนินการแลกเปลี่ยนทางการทูตแบบบูรณาการไร้รอยตะเข็บ กับบรรดาประเทศในเอเชียตะวันตออกเฉียงใต้ที่กลัวเกรงจีน เป็นต้นว่า เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ จนกระทั่งพัฒนากลายเป็นการขยายอำนาจทางนาวีอย่างเป็นรูปธรรม

แตกต่างไปจากสหรัฐฯ อินเดียขาดไร้ทั้งฐานทัพนาวีและเรือรบซึ่งสามารถที่จะป้องปรามกองทัพเรืออันน่าเกรงขามของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

ปกติแล้วจีนไม่ค่อยแยแสต่อการเรียกร้องอ้างสิทธิ์ของอินเดียที่จะให้ยอมรับความเป็นมหาอำนาจแห่งเอเชีย สืบเนื่องจากความอ่อนแอภายในของแดนภารตะ อย่างไรก็ดี แดนมังกรไม่ได้นิ่งนอนใจเลยเมื่อมีการซ้อมรบแบบพหุภาคีที่มีทั้งอินเดีย, สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, และออสเตรเลียเข้าร่วมในเขตน่านน้ำที่ปักกิ่งอ้างกรรมสิทธิ์ แต่แล้วนิวเดลีก็ต้องค้อมศีรษะยอมรับความเป็นจริงที่ว่าตนเองมีกำลังนาวีที่ค่อนข้างอ่อนแอ และในอดีตที่ผ่านมาจึงมักจำกัดการซ้อมรบเหล่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กลายเป็นการทำให้จีนขุ่นเคือง

การที่จีนมีจุดยืนว่า กำลังเรือรบต่างประเทศไม่ควรที่จะ “ล่วงล้ำ” เข้าสู่อาณาบริเวณทางทะเลผืนกว้างใหญ่ที่อยู่ห่างไกลออกไปมากจากคำจำกัดความในเรื่องน่านน้ำและเขตเศรษฐกิจพิเศษของแต่ละประเทศ น่าที่จะกลายเป็นประเด็นความมั่นคงที่สำคัญที่สุดในการประชุมอีเอเอสปีนี้ ทว่าสำหรับอินเดียแล้วทั้งๆ ที่มีความมุ่งมาดปรารถนาที่ใหญ่โตขึ้นไปเรื่อยๆ แต่อย่างดีที่สุด ณ จุดนี้แดนภารตะก็เป็นได้แก่เพลเยอร์ระดับเล็กๆ และจะยังคงมีฐานะเพียงแค่นั้นตราบใดที่กองทัพเรืออินเดียยังไม่ใช่กองกำลังระดับโลก

ในด้านปริมณฑลทางเศรษฐกิจ ข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่อินเดียทำกับ 10 ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน ได้ช่วยทำให้นิวเดลีมีความสำคัญขึ้นมาอย่างมิอาจปฏิเสธได้ในอีเอเอส ขณะที่ข้อตกลงฉบับนี้มีปริมาณของสินค้าที่แลกเปลี่ยนกันน้อยกว่าเอฟทีเอที่จีนทำกับอาเซียนเป็นอย่างมาก แต่เพียงแค่มีตลาดยักษ์ใหญ่ที่มีผู้บริโภคเรือนพันล้านคนอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับจีน ก็เป็นพัฒนาการที่น่ายินดีแล้วสำหรับพวกชาติเล็กๆ ในอีเอเอส ซึ่งหวั่นเกรงว่าพวกผู้ผลิตท้องถิ่นของตนจะต้องล้มหายตายจาก ด้วยน้ำมือของสินค้าออกอันแข่งขันได้อย่างดุดันเหลือเกินของแดนมังกร

อย่างไรก็ดี จุดอ่อนข้อบกพร่องประการหนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจ “มุ่งตะวันออก” ของอินเดีย ก็คือสายตายังจับจ้องไปทางตะวันออกได้ไม่ไกลพอ อินเดียนั้นมีความคุ้นเคยที่จะวางแผนแสดงบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มากกว่าที่จะก้าวไกลออกไปในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งๆ ที่เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือกำลังมีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางสู่การบูรณาการทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดมากขึ้น แต่ก็เป็นกระบวนที่แดนภารตะในปัจจุบันไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

ถึงแม้จีน, เกาหลีใต้, และญี่ปุ่น มีความแตกแยกกันในประวัติศาสตร์และในเชิงยุทธศาสตร์ แต่ 3 ประเทศนี้กำลังเพิ่มความร่วมมือกันอย่างลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องข้อตกลงสว็อปเงินตรา นับตั้งแต่ที่เกิดวิกฤตภาคการเงินทั่วโลกในปี 2008 ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเหลือกันในเวลาที่ต้องเผชิญกับภาวะช็อกทางการเงินอย่างเฉียบพลัน ในฐานะที่มหาอำนาจเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 3 ต่างก็เป็นเศรษฐกิจซึ่งพึ่งพาการส่งออก พวกเขากำลังทำให้ภาคการเงินของพวกเขามีความเกี่ยวข้องโยงใยกันอย่างใกล้ชิด เป็นการสร้างพลวัตใหม่ให้แก่พวกผู้มีสิทธิออกเสียงในประเทศกลุ่มซึ่งนิยมชมชื่นจีน และเป็นปรปักษ์กับกลุ่มล็อบบี้โปรอเมริกันที่รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นมาก่อนแล้วไม่ว่าในโตเกียวหรือโซล

สิ่งท้าทายสำหรับอินเดียบนเส้นทางแห่งการก้าวผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ก็คือจะต้องค้นให้พบหนทางที่จะบ่มเพาะส่งเสริมพลังโปรอินเดียในเอเชียตะวันออก โดยอาศัยเครื่องมือทางการค้าและการเงินที่เป็นรูปธรรม ถ้าหากเศรษฐกิจอินเดียยังไม่สามารถพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการส่งออกที่สำคัญขึ้นมาได้ นิวเดลีก็ยังจะต้องพบว่าตนเองถูกปิดกั้นจากนวัตกรรมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งจีนกำลังเป็นหัวหอกเคลื่อนไหวอยู่ในแถบถิ่นอาศัยของตน เนื่องจากความสามารถอันยอดเยี่ยมในการส่งออกของจีนนั่นเอง ซึ่งทำให้บัดนี้มีความเป็นไปได้ที่แดนมังกรจะตระเตรียมจะทำข้อตกลงชำระเงินทางการค้าด้วยเงินหยวนกับ 10 รัฐสมาชิกของสมาคมอาเซียน ซึ่งจะยิ่งส่งเสริมฐานะของเงินหยวนในการเป็นสกุลเงินสำรองระดับภูมิภาคในเอเชีย

จากการประชุมซัมมิตที่บาหลีสุดสัปดาห์นี้ นายกฯมานโมหันคงได้แต่ออกคำแถลงที่มีลักษณะเป็นพิธีการ และสร้างความอิ่มอกอิ่มใจให้แก่สื่อมวลชนของแดนภาระด้วยภาพที่เขาถ่ายคู่กับโอบามา อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ยังคงอยู่ที่ว่า ในทางเป็นจริงแล้วอินเดียยังไม่ได้เป็นเพลเยอร์หลักรายหนึ่งในเวทีเอเชียตะวันออก นิวเดลีจำเป็นจะต้องดำเนินการพร้อมๆ กันไปทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับลำดับความสำคัญของกำลังนาวี และการเดินหน้าก้าวพรวดๆ ในทางเศรษฐกิจ ก่อนที่จะสามารถอ้างตัวเองให้กลายเป็นคู่แข่งขันกับจีนได้อย่างแท้จริง และเป็นเสือร้ายที่มีเขี้ยวเล็บในเอเชียตะวันออก

**หมายเหตุ**
[1] ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในปีนี้มีทั้งสิ้น 18 ราย ได้แก่ 10 ชาติอาเซียน คือ ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, บรูไน, เวียดนาม, กัมพูชา, ลาว, และพม่า บวกด้วย จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, รัสเซีย, สหรัฐฯ, และอินเดีย

ศรีราม เชาเลีย เป็นศาสตราจารย์และรองคณบดีของ สถาบันกิจการระหว่างประเทศ จินดัล (Jindal School of International Affairs) เมืองโสนิปัต (Sonipat) ประเทศอินเดีย และเป็นนักวิจัย บี. รามาน (B. Raman Fellow) ทางด้านการวิเคราะห์เชิงภูมิรัฐศาสตร์คนแรก ของ สถาบันตักศิลา (Takshashila Institution) ซึ่งเป็นคลังสมองทางด้านกิจการเชิงยุทธศาสตร์ เขาเป็นผู้เขียนหนังสือที่ตีพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ชื่อ International Organizations and Civilian Protection: Power, Ideas and Humanitarian Aid in Conflict Zones (I.B. Tauris, London)
กำลังโหลดความคิดเห็น