xs
xsm
sm
md
lg

รัฐเรียกถกฟื้นฟู7นิคมฯ ขีดเส้น45วันเดินเครื่อง ชงครม.วันนี้อัดฉีดเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- “กิตติรัตน์”ถกผู้ประกอบการนิคมฯ 7 แห่ง วางแผนเร่งฟื้นฟูให้กิจการและแรงงานทำงานได้ปกติภายใน 45 วันหลังน้ำลด พร้อมอัดฉีดเงินหนุนเอกชนและสิทธิประโยชน์บีโอไอชงครม.วันนี้ ยันรัฐพร้อมควักหลายแสนล้านในการวางโครงสร้างระบบน้ำของประเทศ หวังโชว์ดึงลงทุนก่อนฤดูฝนจะถล่มอีกรอบ ด้านเอกชนขานรับแต่ยังวิตกมวลน้ำจะมาอีกระลอกหรือไม่ จี้รัฐพูดความจริง " ยิ่งลักษณ์" ลั่นใช้เมกะโปรเจกต์สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน ขณะที่ค่ายโตโยต้าเลื่อนการผลิตต่ออีก

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม ได้หารือกับผู้ประกอบการและผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งได้แก่ นิคมฯสหรัตนนคร ไฮเทค บางปะอิน เขตอุตสาหกรรมโรจนะ เขตฯนวนคร เขตฯแฟคตอรี่แลนด์และเขตฯกระดีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการฟื้นฟู

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้วางแนวทางที่จะเร่งฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุนโดยหลังระดับน้ำลดหรือทรงตัวจะมีการฟื้นฟูโดยเร็วเพื่อให้ภาคการผลิตและแรงงานสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน 45 วัน โดยรัฐบาลพร้อมที่จะมีมาตรการสนับสนุนทั้งด้านการเงินและสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนซึ่งจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อรับทราบถึงแนวทางการช่วยเหลือในวันนี้(26ต.ค.)

นอกจากนี้ ที่ประชุมสรุปที่จะตั้งทำงานที่ประกอบด้วยชุดใหญ่ที่มีตนเป็นประธานและชุดเล็ก 7 ชุด ที่เป็นของนิคมฯ 7 แห่งที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งจะใช้อาคารจามจุรีสแควร์เป็นวอร์รูมในการติดตามความคืบหน้าซึ่งจะมีตนและรมว.อุตสาหกรรมร่วมหารืออย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนให้ผู้พัฒนานิคมฯมีการเร่งฟื้นฟูอย่างเร็วโดยจะเอื้อต่อการนำเครื่องจักรและผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาร่วมวางแผน เพื่อวางระบบป้องกันภัยของนิคมฯควบคู่ไปกับแผนงานของรัฐบาลที่จะต้องเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานระบบป้องกันน้ำท่วมเพื่อที่จะทำให้นักลงทุนมั่นใจว่าจะไม่เกิดขึ้นซ้ำรอยอีกโดยทุกส่วนจะต้องเร่งดำเนินงานหลังน้ำลดเพื่อที่จะรองรับสถานการณ์ฤดูฝนที่จะมาถึงในช่วงพ.ค.2555

“ผู้พัฒนานิคมฯเสนอตั้งกองทุนเพื่อการกู้และฟื้นฟูนิคมฯมา 2.5 หมื่นล้านบาท เรามีมากกว่าที่เอกชนเสนอให้ด้วยซ้ำไป เพราะคิดว่าคงไม่พอคงเป็นหลักแสนล้านบาท และการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับน้ำก็วางไว้หลายแสนล้านบาทเช่นกัน และยืนยันว่าไม่มีปัญหาเรามีสถาบันการระหว่างประเทศเสนอตัวมาที่จะสนับสนุนด้านการเงินกับเราอย่างมากโดยคลังจะไปทำหน้าที่จัดหาวงเงินสนับสนุน ซึ่งวิกฤตินี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไหนมาก่อนเกิดแล้วเราจะต้องสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้กับไทยให้ได้ “นายกิตติรัตน์กล่าว

น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรรมกล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ กำลังพิจารณาถึงสิทธิประโยชน์ที่จะให้กับนักลงทุนที่ประสบกับภาวะน้ำท่วมโดยมีเบื้องต้นคาดว่าจะให้ได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีนิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี

นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า เบื้องต้นคงจะให้สิทธิประโยชน์เหมือนเริ่มใหม่ทันที เพราะหากจะแต่ละรายไม่เท่ากันและประเภทกิจการต่างกันก็จะยุ่งยากในการพิจารณาภาวะน้ำท่วมก็น่าจะเริ่มใหม่เลย แต่กรณีที่ประสบภาวะน้ำท่วมในนิคมฯแล้วจะย้ายไปตั้งที่อื่นจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่ำกว่า เพราะต้องการส่งเสริมให้การลงทุนอยู่ในนิคมฯเดิม

นางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตผสาหกรรมไทย กล่าวว่า แนวคิดระยะสั้นคือการกู้นิคมฯและโรงงานที่ประสบน้ำท่วมก่อนให้กลับมาเป็นปกติภายใน 45 วันหลังน้ำลดแล้ว และทำอย่างไรให้นักลงทุนมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาน้ำท่วมกลับมาอีกซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าส่วนของภาครัฐบาลเองก็จะมีแผนที่จะเข้ามาเสริมกับเอกชน โดยคาดว่า 2 เดือนจะเห็นแผนทั้งหมดโดยจะมีการวางเป็นโครงการอย่างชัดเจน

“ในเชิงพื้นที่นิคมฯในพื้นที่จ.อยุธยารวม 300 ตารางกิโลเมตรคือ นิคมฯสหรัตน ไฮเทค บางปะอิน ที่จะทำเป็นแผนแม่บทพัฒนาเป็นอีโคทาวน์ที่มองในเรื่องการพัฒนาชุมชนที่อยู่รอบนอกนิคมฯไปพร้อมๆ กันเลยเราคงจะต้องคิดใหม่หมดและหวังว่า 6 เดือนส่วนนี้จะชัดเจนเพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนได้”นางอัญชลีกล่าว

**ใช้เมกะโปรเจกต์สร้างความเชื่อมั่น

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ กล่าวถึงการให้ความเหลือภาคเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาว่า ปัญหาทั้งหมดรัฐบาลได้เก็บข้อมูลไว้แล้ว รัฐบาลมีนโยบายระบบบริหารจัดการน้ำ เรื่องเมกะโปรเจกต์ ในส่วนการสร้างเส้นทางคมนาคม การเชื่อม 25 ลุ่มน้ำ กับโครงการพระราชดำริ ที่มีงบประมาณอยู่แล้ว ก็จะเร่งทำอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนต่อเนื่อง

เมื่อถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีมูลค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจเท่าไร มีผลตอบรับหรือปฏิกิริยาจากนักลงทุนอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า มีการพูดคุยกับนักลงทุน และผู้ประกอบการทั้งหมด โดยรัฐบาลมีมาตรการในการช่วยเหลือดูแลในส่วนผู้ประกอบการโดยตรงทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และ SME รวมทั้งผู้ลงทุนต่างๆ และการช่วยเหลือดูแล พร้อมเร่งรัดฟื้นฟูอุตสาหกรรมต่างๆ ให้กลับมาโดยเร็วที่สุด

"อยากให้นักลงทุนต่างชาติ ทั้งที่ลงทุนอยู่ในไทย และที่จะมาลงทุน ขอให้มีความมั่นใจได้ว่าประเทศไทยมีแผนที่จะลงทุนแก้ไข อีกทั้งโครงการเมกะโปรเจกต์ เพื่อให้อุตสาหกรรมกลับคืนมาเร็วที่สุด และเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นเพราะว่า ธรรมชาติของน้ำที่ต้องไหลออก และผ่านกทม.เป็นด่านสุดท้ายก่อนลงทะเล และจะเร่งการระบายน้ำให้เร็วที่สุด เช่นเดียวกันกับแผนฟื้นฟูก็จะทำเร็วที่สุด ขอให้มีความมั่นใจได้ เพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้นักลงทุนต่างประเทศ" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

***เอกชนจี้รัฐพูดความจริงหวั่นมีน้ำมาอีก

นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นวนคร จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า หากระดับน้ำที่ท่วมลดลงในกลางพฤศจิกายนนี้ จะสามารถฟื้นฟูภายใน 45 วันได้ และจะเริ่มการผลิตในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 แต่สิ่งที่สำคัญคือ ขอให้มีการพูดความจริง เพราะหากสูบน้ำออกไปแล้ว ยังมีน้ำก้อนใหญ่ลงมาอีก จะยิ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนแน่นอน

ขณะเดียวกันขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในการป้องกันการโจรกรรม ซึ่งขณะนี้กำลังมีปัญหาในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยทางเอกชนก็ได้วางกำลังในจุดเสี่ยงสูงอยู่แล้ว

น.ส.กอบกาญจน์ วัฒนะวรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโตชิบา ไทยแลนด์ กล่าวว่า การกำหนดเวลา 45 วัน หลังน้ำลดในการกอบกู้สถานการณ์เชื่อว่า จะสามารถทำได้ ซึ่งในส่วนของโตชิบา กำลังพิจารณาอยู่ว่า จะมีการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออาจจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าสำเร็จรูปจากประเทศเพื่อนบ้านที่โตชิบามีโรงงานอยู่คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน มาจำหน่ายประเทศไทย ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาขยับขึ้นบ้าง แต่หากเป็นไปได้ อยากใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ตามขณะนี้ โตชิบายังมีสต็อกสินค้าอีก 1 เดือน

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท อมตะ คอปอร์เรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากวิกฤติน้ำท่วม ยังเชื่อมั่นว่านักลงทุนต่างชาติมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และยังคงคาดหวังกับการแก้ไขปัญหาจากภาครัฐ เพื่อช่วยบรรเทาความสูญเสียและเร่งฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด

โดยในส่วนของนิคมอมตะฯยังมีความต้องการแรงงานอีกไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ซึ่งจะร่วมมือกับกรมการจัดหางาน จังหวัดชลบุรี ในการเปิดศูนย์รับสมัครงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ประสบปัญหาวิกฤติน้ำท่วมในขณะนี้และยังไม่มีงานรองรับในช่วงนี้

***โตโยต้าเลื่อนไลน์การผลิตต่ออีก

จากสถานการณ์อุทกภัยที่ยังคงส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนดังนั้น บริษัท Toyota Motor Thailand Co,.ltd จึงมีความจำป็นต้องหยุดการผลิตของโรงงานทั้ง 3 แห่งต่อเนื่อง ระหว่างวันที่24 - 28 ต.ค.54 ขณะเดียวกันในวันที่ 22-23 ต.ค.พนักงานของบริษัทจะร่วมมือกับผู้มีจิตอาสาจัดกิจกรรม “ TOYOTA CSR ร่วมใจช่วยภัยน้ำท่วม” เพื่อสร้างสุขาเคลื่อนที่เฉพาะกิจส่งมอบให้กับศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ บริษัทฯ ได้ติดตามข่าวสารเพื่อประเมินสถานการณ์หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติม บริษัทฯ จะแจ้งให้ทราบต่อไป

***ขอFast Trackแก้สินค้าขาดแคลน

นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งว่าที่ประชุมที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณะสุข และกระทรวงการคลังประชุมร่วมกันวันนี้ (25 ต.ค.) เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการนำเข้าสินค้าแบบเร่งด่วน (Fast track)ที่ไม่สามารถผลิตได้ขณะนี้หรือผลิตได้น้อยลงไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยกำหนดลดขั้นตอนการขออนุญาตคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และการกำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสม ส่วนวิธีการนำเข้าจะหารือในที่ประชุมขณะที่รายการและจำนวนสินค้าที่จะนำเข้าต้องให้ห้างโมเดิร์นเทรดเป็นผู้กำหนดเพราะประชาชนส่วนใหญ่ซื้อสินค้าจากช่องทางนี้และห้างกำลังประสบปัญหาไม่มีสินค้ารายการจำเป็นจำหน่ายหลังจากที่โรงงานส่วนใหญ่ต้องหยุดการผลิตหลังเกิดปัญหาน้ำท่วมเป็นวงกว้าง

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับแหล่งนำเข้าสินค้าหลักได้แก่ มาเลเซีย ซึ่งมีอัตราภาษีสินค้าเกือบทุกรายการเป็น 0% แล้วตามข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) ทำให้เรื่องอัตราภาษีจะไม่เป็นปัญหาแต่กระทรวงการคลังอาจต้องลดขั้นตอนเอกสารการนำเข้าเพื่อให้เกิดความรวมเร็ว โดยสินค้าที่คาดว่าจะขอนำเข้ามาได้แก่ อาหารกระป๋อง ผ้าอนามัย โดยขั้นตอนการนำเข้าจะใช้เวลาดำเนินการได้ภายใน 1 สัปดาห์และการให้ผลการประชุมระหว่าง 3 กระทรวงมีผลในทางปฎิบัติทันทีไม่ต้องเข้าที่ประชุมครม.อีก

นอกจากนี้ที่ประชุม ได้กำหนดให้นำสินค้าจำนวน 9 รายการ ได้แก่สินค้ากลุ่มอาหารคือ อาหารกระป๋อง น้ำดื่ม บะหมี่ ส่วนสินค้าไม่ใช่อาหารได้แก่ เสื้อชูชีพ ถุงทราย รองเท้าบู๊ท อิฐบล๊อก ผ้าอนามัย เครื่องนอน เข้าเป็นสินค้าควบคุมตามพ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ โดยให้นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (25 ต.ค.) หลังการประชุมจะให้มีการประชุมคณะกรรมการราคาสินค้าและบริการ(กกร.) เพื่อรับรองซึ่งจะมีผลทางกฎหมายทันที โดยสินค้าที่อยู่ในบัญชีสินค้าควบคุมจะทำให้การดูแลไม่ให้มีการขายเกินราคาดำเนินการได้เข้มงวดมากขึ้น ทำให้สินค้าในรายการควบคุมมีจำนวนรวมกับของเดิม 38 รายการสินค้าและ 2 สินค้าบริการ เป็น 49 รายการ ส่วนนมผงเป็นสินค้าควบคุมอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังจะเร่งเปิดคลังสินค้าพิเศษชั่วคราวเพิ่มในทุกภาค เช่น ที่ขอนแก่น นครราชสีมา และพิษณุโลก ในลักษณะเดียวกับที่เปิดคลังสินค้าพิเศษที่ดอนเมือง เพื่อจะกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังจะเร่งกู้คลังสินค้าที่อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยต้องขอความร่วมมือจากกองทัพในการใช้หัวรถจักรขนาดใหญ่ดึงตู้สินค้าออกมาให้ได้เนื่องจากยังมีสต็อกสินค้าอุปโภคบริโภคติดอยู่ภายในจำนวนมาก คิดเป็นปริมาณที่สามารถนำมาจำหน่ายให้แก่ประชาชนได้ราว 3-4 สัปดาห์

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ส่วนอาหารสดจำพวกโปรตีน ยอมรับว่ามีปัญหาฟาร์มไก่เนื้อและไก่ไข่ถูกน้ำท่วมเป็นจำนวนมากทำให้ไข่ไก่หายไปจากระบบเฉลี่ยวันละ 1 ล้านฟอง ขณะที่การบริโภคปกติอยู่ที่เฉลี่ยวันละ 25-26 ล้านฟอง ซึ่งก็จะแก้ปัญหาโดยการเปิดนำเข้าแม่พันธุ์ไก่เสรีโดยไม่จำกัดจำนวนเพื่อเร่งการผลิตให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว สำหรับเนื้อหมูไม่มีปัญหาขาดแคลน เนื่องจากผู้เลี้ยงเร่งเชือดเร็วขึ้นเพื่อหนีน้ำท่วม ทำให้มีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภค

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับรูปแบบการจัดการศูนย์กระจายสินค้าที่ดอนเมือง จะจัดสรรพื้นที่ให้แต่ละห้างค้าปลีกที่สำคัญเพื่อนำสินค้ามาเก็บไว้ก่อนกระจายออกไปตามร้านค้าปลีกต่างๆ ส่วนการบริหารจัดการขนส่งห้างส่วนใหญ่ต้องใช้บริการของบริษัทขนส่งเอกชนเพราะรถยนต์บรรทุกของทหารสามารถเข้ามาช่วยดำเนินการได้น้อยมากเพราะติดภาระกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ส่วนการประชุมห้างค้าปลีกวานนี้ (24 ต.ค.) มีตัวแทนห้างโมเดิร์นเทรด เข้าร่วมประชุมเกือบทุกห้าง เช่น บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส ท๊อปส์
กำลังโหลดความคิดเห็น