เอเอฟพี - นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางถึงประเทศไทยแล้วในวันพุธ(16) เพื่อเสนอมอบความช่วยเหลือในความพยายามต่อสู้กับมหาอุทกภัย และแสดงความหวังว่าชาติผู้เป็นพันธมิตรอันยาวนานของอเมริกา จะหลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง
หลังเดินทางมาถึงนางคลินตัน มุ่งตรงเข้าหารือในช่วงค่ำกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยที่กำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างสาหัสทั้งที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ไม่ถึง 3 เดือน
ระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับนางสาวยิ่งลักษณ์ นางฮิลลารีกล่าวว่าลูกเรือของเรือรบยูเอสเอส ลาร์สเซน ซึ่งเทียบท่าอยู่ในไทยแล้ว จะเริ่มภารกิจตามลำดับความสำคัญอย่างเร่งด่วนในจำนวนนั้นคือการซ่อมแซมสนามบินดอนเมืองและฟื้นฟูสถานีตำรวจต่างๆที่ได้รับความเสียหาย "เราภูมิใจที่ได้ยืนอยู่เคียงข้างพวกคุณในตอนนี้ นี่คือช่วงเวลาที่ท้าทาย ช่วงเวลาที่พวกคุณต้องต่อสู้กับอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ"
นอกจากนี้แล้วนางคลินตันบอกว่าหนึ่งในภารกิจของลูกเรือของยูเอสเอส ลาร์สเซน คือการเข้าประเมินสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของไทยเพื่อหาแนวทางปกปักรักษาหรือฟื้นฟูเหล่านั้นจากปัญหาน้ำท่วม ซึ่งกระบวนการนี้คงใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ถึง 10 วัน ขณะเดียวกันทางสหรัฐฯก็จะเพิ่มเงินช่วยเหลือแก่ไทยอีกจำนวน 10 ล้านดอลลาร์
เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่าระหว่างการพูดคุยนางคลินตันได้พูดคุยถึงแนวทางให้ความช่วยเหลือครั้งใหญ่ของสหรัฐฯแก่ประเทศไทยและจากนั้นในวันพฤหัสบดี(17)เธอจะเดินทางไปเยี่ยมศูนย์พักพิงของผู้ประสบภัย ส่วนหนึ่งในการเน้นถึงความสำคัญของการทูตสาธารณะ
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯรายนี้ยังแสดงความสนับสนุนต่อนางสาวยิ่งลักษณ์อย่างแข็งแกร่ง แม้ว่านายกรัฐมนตรีของไทยกำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างมหาศาลขณะที่เธอต้องจัดการกับวิกฤตอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศในรอบหลายทศวรรษ อันคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 562 ศพ
นางคลินตัน เดินทางมาจากฟิลิปปินส์ และหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในเมืองไทย เธอจะเข้าร่วมกับคณะของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในอินโดนีเซีย
รัฐบาลโอบามาประกาศพุ่งเป้ามายังเอเชียที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมากขึ้นพร้อมๆกับลดระดับความสำคัญต่อสงครามในอิรักและอัฟกานิสถานที่อเมริกาต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาลในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ช่วงต้นสัปดาห์ โอบามา ก็เพิ่งเดินทางไปเยือนออสเตรเลียอีกหนึ่งความพยายามเอื้อมมือถึงชาติพันธมิตรที่ยาวนาน
อย่างไรก็ตามขณะที่สหรัฐฯกระตือรือร้นเพิ่มความร่วมมือกับชาติพันธมิตรต่างๆในเอเชียอย่างออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้ แต่อีกด้านหนึ่งพวกเขาก็มีความกังวลมากยิ่งขึ้นต่อความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในไทย
เมื่อปีที่แล้วประเทศแห่งนี้ต้องเผชิญวิกฤตความเห็นต่างทางการเมืองจากการประท้วงของ "กลุ่มคนเสื้อแดง" ฝ่ายสนับสนุนทักษิณ ในเรื่องนี้นางคลินตันกล่าวว่า "เราสนับสนุนรัฐบาลให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกระบวนการปรองดองทางการเมือง อันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในระยะยาวของไทย"
ความช่วยเหลือของกองทัพสหรัฐฯระหว่างอุทกภัยในไทยกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวท่ามกลางคำถามว่ารัฐบาลไทยรับมือกับวิกฤตนี้ได้ดีแค่ไหน หลังจากก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมวอชิงตันรายหนึ่งระบุเมื่อเดือนตุลาคมว่ากองทัพเรืออเมริกาได้ถอนเรือรบออกไปหลายลำในจำนวนนั้นรวมถึงเรือบรรทุกเครื่องบิน ที่ถูกส่งมาร่วมภารกิจบรรเทาทุกข์ในไทยหลังจากได้รับสารอันสับสนมาจากรัฐบาลกรุงเทพฯ
อย่างไรก็ตามทางโฆษกของสถานทูตสหรัฐฯในกรุงเทพฯบอกว่าเรือลำหนึ่งในกองเรือดังกล่าวยังเทียบท่าในไทยตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคมและตั้งแต่นั้นฝูงเฮลิคอปเตอร์บนเรือลำนี้ก็ออกปฏิบัติภารกิจภายใต้ความร่วมมือกับกองทัพไทยและหน่วยงานอื่นๆของสหรัฐฯ
สหรัฐฯ ยังแสดงความกังวลว่าอุทกภัยของไทยอาจจุดชนวนความไร้เสถียรภาพไปทั่วภูมิภาคขณะที่ประเทศแห่งนี้คือผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่และเป็นคลังอาหารสำคัญของเอเชีย
ทั้งนี้นางคลินตัน ได้เพิ่มโปรแกรมเยือนไทยขึ้นมาอย่างเร่งด่วน หลังจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ยกเลิกเข้าร่วมประชุมเอเปคที่ฮาวาย สหรัฐฯเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา