เอเจนซี - “โอบามา”เปิดแผนกระชับพื้นที่ในเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยการส่งนาวิกโยธิน 2,500 คนเข้าประจำการในออสเตรเลีย เป็นการเพิ่มการปรากฏตัวของสหรัฐฯในภูมิภาคแถบนี้ ถึงแม้เขาพยายามบอกว่าไม่คิดปิดล้อมหรือโดดเดี่ยวอย่างที่ปักกิ่งเคลือบแคลง
กองกำลังและฝูงบินอเมริกันที่จะประจำการณ์อยู่ในเมืองดาร์วิน ที่อยู่ห่างจากอินโดนีเซียเพียง 820 กิโลเมตร จะสามารถรับมือกับปัญหาด้านความมั่นคงและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างรวดเร็ว
ความเคลื่อนไหวนี้มีแนวโน้มทำให้จีนกังวลมากขึ้นว่า วอชิงตันพยายามโอบล้อมตนด้วยฐานทัพในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และล่าสุดขยายมายังออสเตรเลีย
กระนั้น ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีจูเลีย กิลลาร์ดของออสเตรเลียเมื่อวันพุธ (16) โดยย้ำว่าจีนไม่ได้ถูกโดดเดี่ยว รวมถึงไม่ได้ถูกตัดขาดจากข้อตกลงพันธมิตรการค้าภูมิภาคแปซิฟิก (ทีทีพี) แต่ทว่าอำนาจที่เพิ่มขึ้นควรหมายความว่า ปักกิ่งต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นในการสร้างหลักประกันด้านการค้าเสรีและความมั่นคงภายในภูมิภาค
ขณะที่กิลลาร์ดเสริมว่า การประจำการของกองกำลังอเมริกันในออสเตรเลีย ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น จะเริ่มตั้งแต่ปีหน้าด้วยนาวิกโยธินจำนวน 200-250 คนในดาร์วิน หรือที่เธอเรียกว่าเป็น 'เพิร์ล ฮาร์เบอร์แห่งออสเตรเลีย' เนื่องจากระหว่างการจู่โจมชนิดเหนือความคาดหมายของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ดาร์วินถูกถล่มหนักกว่าเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เสียอีก
สหรัฐฯ จะมีกำลังพลหมุนเวียนเข้าประจำการในเมืองนี้ทั้งสิ้น 2,500 คน รวมถึงเรือ เครื่องบิน และยานยนต์ ตลอดจนถึงการฝึกฝนกองกำลัง
ทางด้านจีนนั้นตั้งคำถามต่อแผนการล่าสุดของสหรัฐฯ และสำทับว่า พร้อมหารือว่าพันธมิตรทางการทหารที่แข็งแกร่งขึ้นเป็นประโยชน์ต่อประชาคมระหว่างประเทศหรือไม่
ต่อข้อถามเกี่ยวกับข้อเสนอกระชับความร่วมมือทางการทหาร หลิว เว่ยหมิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ตอบว่า ปักกิ่งยึดมั่นในพัฒนาการและความร่วมมืออย่างสันติ
“เรายังเชื่อว่า นโยบายต่างประเทศของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ควรอิงกับหลักการนี้”
เป็นที่คาดว่า บางชาติในเอเชียน่าจะยินดีกับความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ เนื่องจากมองว่าเป็นการคานอำนาจจีนที่ขณะนี้มีแสนยานุภาพทางทหารเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายปฏิบัติการทางทะเล อีกทั้งยังเป็นการรับประกันว่า วอชิงตันไม่ได้ลดระดับความเกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้เนื่องจากความตึงเครียดด้านงบประมาณทางการทหาร
ซู เฮา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอเชีย-แปซิฟิก มหาวิทยาลัยวิเทศสัมพันธ์ในปักกิ่ง ชี้ว่าวอชิงตันหวังใช้การเป็นพันธมิตรทางการทหารที่เข้มแข็งขึ้นกับญี่ปุ่นทางเหนือ และออสเตรเลียทางใต้ โดยมีเจตนารมณ์ชัดเจนในการคานอำนาจจีน
การลดระดับปฏิบัติการในอัฟกานิสถานและอิรักเปิดทางให้วอชิงตันหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นกับความตึงเครียดเหนือทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้ามูลค่ากว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และสหรัฐฯ ต้องการให้เส้นทางนี้เปิดใช้งานได้ต่อไป
ทั้งนี้ โอบามามีแผนหยิบยกประเด็นความมั่นคงในทะเลจีนใต้ขึ้นหารือระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่บาหลีสัปดาห์นี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการท้าทายโดยตรงต่อปักกิ่งที่ไม่ต้องการให้ประเด็นอ่อนไหวนี้อยู่ในวาระการหารือ
จีนนั้นอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำดังกล่าวที่อุดมด้วยน้ำมัน แร่ธาตุ และสัตว์น้ำ พร้อมยืนกรานว่าข้อพิพาทใดๆ ก็ตามควรได้รับการสะสางผ่านการเจรจาทวิภาคี และเรื่องนี้ไม่ใช่กิจธุระของวอชิงตัน
เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน มาเลเซีย และบรูไน ล้วนอ้างสิทธิ์อย่างน้อยบางส่วนในทะเลจีนใต้ และบางครั้งความขัดแย้งลุกลามกลายเป็นการปะทะกันในทะเล
ทั้งนี้ ในวันพฤหัสบดี (17) โอบามามีกำหนดแถลงวิสัยทัศน์โดยสรุปสำหรับเอเชีย-แปซิฟิกต่อรัฐสภาออสเตรเลีย ก่อนแวะเยี่ยมดาร์วิน และเดินทางสู่บาหลี