xs
xsm
sm
md
lg

สื่อสหรัฐฯ เผย ท่องเที่ยวไทยอ่วม วิกฤตซ้ำซาก-เสร็จจาก “เผาเมือง” ก็น้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เดอะวอชิงตันโพสต์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - คนขับรถตุ๊กตุ๊กหน้าโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ กรุงเทพฯ ในพื้นที่ซึ่งยังแห้งสนิท ร้องเรียกชาวต่างชาติที่เดินผ่านไปมา หวังจะได้ค่าโดยสารจากกระเป๋าของลูกค้า ขณะที่มวลน้ำคืบคลานเข้าเมืองหลวง กลืนกินถนนหนทางสำหรับนักท่องเที่ยวจนเหลือน้อยลงทุกที หนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสต์รายงานสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยในบทความเรื่อง “Thailand once again in tourist turmoil as floods linger, but ever resilient industry unfazed” วันเสาร์ (12) ที่ผ่านมา

วิกฤตการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย โดยเหตุการณ์เลวร้ายแต่ละครั้งก่อนหน้านี้ก็ล้วนนำมาซึ่งการคาดการณ์ในแง่ลบจากต่างประเทศ และกระทบต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติมาโดยตลอด

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่นำเงินเข้าประเทศเป็นมูลค่าประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น โรคซาร์ส หรืออาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ที่ระบาดในเอเชีย เมื่อปี 2003, ภัยพิบัติสึนามิทางภาคใต้ ปี 2004, การรัฐประหาร 2006 และการชุมนุมทางการเมืองที่เต็มไปแฝงไปด้วยความรุนแรง

โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมปีที่แล้ว ซึ่งจบลงด้วยการเสียชีวิตของประชาชนเกือบร้อยราย มีการวางเพลิงเผาอาคารหลายแห่ง ทว่า ปี 2010 ไทยยังมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าประเทศกว่า 16 ล้านคน นั่นแสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วเพียงใด แม้สื่อต่างประเทศรายงานภาพข่าวความรุนแรงทางการเมืองที่น่าหวั่นวิตกเป็นอย่างยิ่ง

เช่นกัน วิกฤตอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบครึ่งทศวรรษ ซึ่งคร่าชีวิตผู้ประสบภัยไปแล้วเกินกว่า 550 ราย กำลังเข้ายึดพื้นที่ทำมาหากินตามท้องถนนของพ่อค้าแม่ขาย กระทบไปจนถึงเจ้าของร้านอาหารสุดหรูหรือกิจการโรงแรมที่วิตก ว่า เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ กำลังดิ่งเหว

“ตอนนี้มันหน้าไฮซีซัน แต่นักท่องเที่ยวหายหมด” นายทองดี ทองริน คนขับรถตุ๊กตุ๊กชาวไทย ให้สัมภาษณ์ รายได้ของทองดีหายไปเกินกว่าครึ่ง ตั้งแต่พื้นที่ทางเหนือและตะวันตกของกรุงเทพฯ จมอยู่ใต้น้ำมานานกว่า 2 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอาจรอดวิกฤตครั้งนี้ได้ไม่ยาก เมื่อนักท่องเที่ยวยังคงแห่แหนมาประเทศ เพียงแต่หลีกเลี่ยงการเข้ามายังกรุงเทพฯ และมุ่งตรงไปยังสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ เป็นต้น

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มขึ้น 6.7 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2010 ขณะที่ท่าอากาศยานภูเก็ตก็มีนักท่องเที่ยวเดินทาง เพิ่มขึ้น 28.5 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลาเดียวกัน

สายการบินระหว่างประเทศต่างๆ ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ ส่วนสายการบินภายในประเทศบางแห่งต้องเพิ่มเที่ยวบิน เพื่อรองรับผู้คนที่ต้องการเดินทางออกจากพื้นที่ประสบอุทกภัย แอนดรูว์ เฮิร์ดแมน ผู้อำนวยการสมาคมสายการบินภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก กล่าว ขณะเดียวกัน มาร์ติน เจ. เครกส์ ประธานบริหารสมาคมการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิก แสดงความเห็นไว้ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เพราะ “ความยืดหยุ่นอยู่ใน ‘ดีเอ็นเอ’ ของการท่องเที่ยวไทย”

ขณะแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ และย่านธุรกิจในกรุงเทพฯ ยังไร้วี่แววของมวลน้ำ พื้นที่ตอนเหนือและตะวันตกกำลังกลายเป็นทะเลสาบกลางเมืองที่มีน้ำเหม็นเน่าเข้ายึดครอง

นายจิรายุ ตุลยานนท์ เจ้าของโรงแรมโอลด์ แบงคอก อินน์ ระบายว่า “แขกเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ขอยกเลิกการจองห้องพัก ทั้งๆ ที่โรงแรมของเราไม่มีปัญหาน้ำท่วม” ขณะเดียวกัน จาร์เรตต์ ริสลีย์ เจ้าของร้านอาหารโซลฟูดมหานคร ย่านทองหล่อ เปิดเผยความรู้สึกว่า เขาโชคดีมากที่ธุรกิจไม่ถูกน้ำท่วม เมื่อห้างร้านของรายอื่นๆ ต่างสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง

“ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีวงจรวิกฤตประหลาดๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผมประเมินว่า ประเทศจะฟื้นตัวภายในไม่กี่เดือน” ริสลีย์กล่าว “แต่สิ่งแรกเราต้องกลับมาสามัคคีกันเสียก่อน”
กำลังโหลดความคิดเห็น