เอเอฟพี - ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ เผย มีข้อมูลน่าเชื่อถือว่า อิหร่านกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ขณะที่เตหะรานยืนกรานปฏิเสธว่าไม่มีมูลความจริง ถือเป็นรายงานที่น่าจะทวีความตึงเครียดของสถานการณ์ในตะวันออกกลางยิ่งขึ้นไป
ไอเออีเอ ระบุว่า มีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ซึ่งบ่งชี้ว่าอิหร่านดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาวัตถุระเบิดนิวเคลียร์
สหรัฐฯ ชี้ว่า รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงคำโป้ปดของอิหร่าน และจะหามาตรการกดดันเพิ่มเติม หรืออาจเพิ่มบทลงโทษอีก แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า รายงานฉบับนี้ยังไม่เพียงพอ ที่จะดึงจีน และรัสเซียร่วมการตอบโต้เตหะรานได้
แม้ว่ากิจกรรมบางอย่างของอิหร่านในรายงานข่าวกรองของไอเออีเอฉบับนี้จะมีวัตถุประสงค์สำหรับพลเรือน หรือการทหารอยู่บ้าง แต่กิจกรรมอื่นๆ นั้น กลับเฉพาะเจาะจงสำหรับผลิตอาวุธนิวเคลียร์ทีเดียว
ด้าน อาลี อัสการ์ ซอลตอนีห์ ทูตอิหร่านประจำไอเออีเอ ในกรุงเวียนนา กล่าวกับสำนักข่าวฟาร์สว่า รายงานดังกล่าวเป็นข้อกล่าวหาเดิมซ้ำๆ ซึ่งไม่มีหลักฐานพิสูจน์ใด
รายงานของทบวงพลังงานนี้ ซึ่งอ้างถึงข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองต่างชาติ 10 แห่งบวกกับข้อมูลของตัวเอง ได้ระบุถึงรายละเอียดโครงการของอิหร่านใน 12 พื้นที่ ที่ครอบคลุมบริเวณสำหรับการผลิตอาวุธทุกแห่ง
นอกจากนี้ ในรายงานดังกล่าวยังระบุถึง การจำลองหัวรบนิวเคลียร์ด้วยคอมพิวเตอร์ การทดลองระเบิดในห้องโลหะขนาดใหญ่ ที่ฐานทัพทหารพาร์ชิน ใกล้ๆ กับกรุงเตหะราน และการศึกษาวิธีติดหัวรบปรมาณูในขีปนาวุธชาฮับ 3
ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ซึ่งจะตัดสินใจยื่นรายงานเกี่ยวกับอิหร่านต่อคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นอีกครั้งในสัปดาห์หน้า เรียกร้องอิหร่านให้ความร่วมมือกับหน่วยงานโดยไม่ล่าช้า เพื่อการชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นนิวเคลียร์
ก่อนหน้านี้ อาลี อักบาร์ ซาเลฮี รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน เคยกล่าวก่อนหน้ารายงานฉบับนี้ถูกเผยแพร่ว่า ไม่มีข้อพิสูจน์อย่างจริงจังว่าอิหร่านกำลังสร้างหัวรบนิวเคลียร์แต่อย่างใด
“เราย้ำมาหลายต่อหลายครั้งว่าเราไม่ได้จะสร้างหัวรบนิวเคลียร์ จุดยืนของเราคือเราจะไม่ใช้โครงการนิวเคลียร์ของเราเพื่อจุดประสงค์อื่นใดนอกไปจากเพื่อสันติภาพ” เขากล่าว
ขณะที่รัสเซียแสดงความไม่พอใจต่อการตีเผยแพร่รายงานของไอเออีเอ โดยว่าเป็นความเสี่ยงที่จะทำลายโอกาสในการรื้อฟื้นการเจรจานิวเคลียร์ ซึ่งน่าผิดหวัง และลำบากใจอย่างร้ายแรง
ส่วน เยอรมนี โดยรัฐมนตรีต่างประเทศก็เรียกร้องให้มีการกดดันอิหร่าน ทั้งทางการเมือง และการทูต ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศของฝรั่งเศสแนะว่าควรเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรงขึ้น แต่จำเป็นต้องทำทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางการทหารด้วย