เอบีซีนิวส์ - ฝั่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ผู้คนกำลังประสบอุทกภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 50 ปี ระดับน้ำสูงกว่าครึ่งค่อนตัว บ้างนั่งในกะละมัง มีไม้กวาดเป็นไม้พาย ห่างออกไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร บรรยากาศแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ผู้ประกอบกิจการร้านรวงต่างตกแต่งร้านในห้างสรรพสินค้าที่ผู้คนคับคั่ง รอรับเทศกาลฮาโลวีน ที่ร้านกาแฟชั้นนำ มีลูกค้านั่งจิบเอสเพรสโซภายในห้องแอร์เย็นฉ่ำเป็นคู่ๆ สื่อสหรัฐฯ เสนอรายงานบรรยากาศกรุงเทพฯ ในวิกฤตน้ำท่วมเมือง วันนี้ (30)
แม้มวลน้ำหายนะได้รุกรานเข้าทำลายพื้นที่ราว 1 ใน 3 ของไทย ขณะเดียวกัน ปัจจุบันพื้นที่ทางเหนือและตะวันตกของกรุงเทพฯ ล้วนจมอยู่ใต้บาดาล แต่ในความเป็นจริง ผู้คนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ ยังดำเนินชีวิตกันตามปกติ ภาพอุทกภัยในพื้นที่ช่างแตกต่างกับภาพชีวิตตามปกติ ซึ่งนักตระเวนราตรีในแหล่งท่องเที่ยว ย่านกลางเมือง
ผู้อาศัยในกรุงเทพฯ พากันการอพยพหมู่ ยกขบวนเดินทางมุ่งสู่สถานตากอากาศในจังหวัดใกล้เคียง หลังรัฐบาลประกาศวันหยุดยาว 5 วัน ส่งผลให้ถนนที่แออัดในกรุงเทพฯ โล่งขึ้นผิดหูผิดตา
“ในอีกมุม มันดีกว่ากรุงเทพฯ แบบเดิม” นิโคล แอตต์วอเตอร์ นักท่องเที่ยวชาวออสเตรลีย ให้สัมภาษณ์ เธอยินดีลุยน้ำบริเวณสนามหลวง เพื่อชื่นชมความงามของวัดพระแก้ว “ช่วงนี้เป็นเวลาเหมาะที่จะมาชม เพราะบรรยากาศเงียบสงบดีค่ะ”
ในสายตาของสื่อสหรัฐฯ สำนักนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ ยังแห้งสนิท มีข้อบ่งชี้ถึงสถานการณ์วิกฤตไม่มากนัก เช่น แนวกระสอบทรายที่วางเป็นพนังรอบโรงแรม บ้านเรือน และการประเมินสถานการณ์จากหลายฝ่าย ทั้งนักวิจารณ์ต่างประเทศ ไปจนถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย
แต่ภัยร้ายจากวิกฤตน้ำท่วมทั่วกรุง คือ เรื่องที่เกิดขึ้นจริง มีผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 381 ราย ตลอดช่วง 3 เดือน ผู้คนมากกว่า 110,000 ราย ต้องอพยพหนีน้ำ จำนวนนี้กว่าหมื่นคนเป็นผู้อาศัยในกรุงเทพฯ หายนะครั้งนี้ส่งผลให้คนตกงานจำนวนมาก สร้างความเสียหายนับแสนล้านบาท มูลค่าความเสียหายยังคงเติบโตขึ้นทุกๆ วัน ที่สายน้ำคืบคลานเข้าพื้นที่ต่างๆ
ในบรรดาแหล่งรายการท่องเที่ยวสำคัญๆ ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า เช่น ตลาดนัดจตุจักร หรือการล่องเรือพร้อมดินเนอร์ในลำน้ำเจ้าพระยา ขณะที่ระดับน้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงสุดเป็นสถิติใหม่ในช่วงเช้าวันอาทิตย์ (30) ที่ 2.53 เมตร มวลน้ำไหลทะลักเข้าพื้นที่ต่างๆ เพิ่มเติม ก่อเป็นความกังวลว่า กรุงเทพฯ ชั้นในอาจได้รับความเสียหาย
ความตื่นกลัวถึงสถานการณ์เลวร้ายที่สุด และคำประกาศเตือนนักท่องเที่ยวของรัฐบาลต่างประเทศ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวบริเวณวัดพระแก้ว และวัดโพธิ์ ลดลงกว่าครึ่ง ปัญหาใหญ่ในมุมมองของมัคคุเทศก์ชาวไทย เช่น นายกีรติ อัตอุ้ย คือ สื่อมวลชนที่รายงานข่าวว่า พื้นที่บริเวณวัดพระแก้วมีน้ำท่วม ทั้งๆ ที่เขาคิดว่า ยังสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้
ฝนตกหนักตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ทำให้มวลน้ำไหลบ่าท่วมพื้นที่ทั่วประเทศ ปริมณฑลตอนเหนือของกรุงเทพฯ เป็นด่านกันน้ำ ก่อนที่มวลน้ำมหาศาลจะมาถึงพื้นที่สนามบินดอนเมือง อย่างไรก็ตาม ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังคงเปิดบริการตามปกติ รถไฟฟ้า และรถไฟใต้ดินก็เช่นกัน
ไม่มีใครรู้ว่า น้ำจะท่วมไปอีกนานเพียงใด แต่ปัจจุบัน คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ต่างเตรียมรับมือน้ำท่วมไว้แล้ว
ช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ คนเมืองกรุงผู้ตื่นตระหนกแห่กักตุนน้ำดื่มและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จนชั้นวางของในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อว่างเปล่า
“คนจำนวนมากแตกตื่นเกินไป กักตุนอาหารกันเยอะเกินเหตุ” นางขวัญพิมล ปลีกล้วย แม่บ้านวัย 48 ปี ให้สัมภาษณ์ “พวกเขาดูข่าว พอเห็นคนจังหวัดอื่นน้ำท่วม เลยคิดว่าที่นี่จะท่วมด้วย”
นางขวัญพิมล กำลังเดินเล่นสำรวจระดับน้ำ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากเห็นภาพระดับน้ำเจ้าพระยาเต็มสองตา เธอหยิบกล้องถ่ายรูปขึ้นมาบันทึกภาพ และบรรยายออกมาว่า “งดงาม”
คนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัดจำนวนมาก มองว่า ปัญหาน้ำท่วมเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ โดยในวันอาทิตย์นี้เอง ทหารเรือได้เข้าช่วยอพยพหญิงมีครรภ์คนหนึ่งออกจากบ้านพักย่านฝั่งธนบุรี หลังมีกระแสน้ำไหลบ่าเข้าท่วมชุมชน แต่ท่ามกลางเหตุฉุกเฉินและวิกฤตน้ำท่วมในมุมมองของคนส่วนหนึ่ง เด็กอีกส่วนหนึ่งก็กำลังเล่นน้ำกันเป็นที่สนุกสนาน
นางจันทนา ศรีสุวรรณ ผู้ประสบภัยวัย 58 ปี ให้แง่คิดอีกมุมหนึ่งไว้ว่า “ถ้ามัวแต่คิดว่าเราจะเปียกไม่ได้ หัวสมองเราก็ไม่มีทางสงบหรอกค่ะ” เธอเล่าถึงเพื่อนบ้านที่บ่นอุบเรื่องนอนไม่หลับจากปัญหาน้ำท่วม “ถ้าน้ำไม่ท่วมก็ดีไป แต่ถ้ามันท่วมขึ้นมา เราก็ต้องเรียนรู้วิธีอยู่กับมัน”