xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ถอดแยกระเบิดนิวเคลียร์สมัยสงครามเย็นลูกสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระเบิดนิวเคลียร์ บี-53 สมัยสงครามเย็น ลูกสุดท้ายถูกถอดแยกชิ้นส่วนแล้ว
เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่เทคนิคในเทกซัสปิดฉากอีกบทหนึ่งของสงครามเย็น ด้วยการถอดแยกส่วนระเบิดนิวเคลียร์ ที่เก่าแก่ที่สุด ใหญ่ที่สุด และทรงอานุภาพมากที่สุด ในคลังสรรพาวุธของสหรัฐฯ วันอังคาร (25) ที่ผ่านมา

ระเบิด บี-53 ลูกสุดท้าย ซึ่งสร้างขึ้นในปี 1962 อันเป็นปีของวิกฤตขีปนาวุธคิวบา ถูกถอดแยกชิ้นส่วนแล้วที่โรงงานแพนเท็กซ์ ในอาร์มาริลโล ซึ่งเป็นสถานที่แห่งเดียวในสหรัฐฯ ที่ยังสร้าง ดูแล และรื้ออาวุธนิวเคลียร์อยู่

ระเบิดนิวเคลียร์ลูกนี้ ซึ่งมีสีเทา หนักร่วม 4,500 กิโลกรัม และใหญ่พอๆ กับรภยนต์คันเล็ก มีอานุภาพ 9 เมกาตัน ซึ่งสามารถทำลายเมืองหลวงให้ราบเป็นหน้ากลองได้ทั้งเมือง

ขณะที่ระเบิดปรมาณู ซึ่งถล่มเมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่นจนพินาศ ในช่วงสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น มีอานุภาพทำลายล้างเพียง 12 กิโลตัน หรือ 0.012 เมกาตัน แต่คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 100,000 คนทีเดียว

ฮันส์ เคอร์สเตนเซน จากสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกันกล่าวว่า "นี่เป็นการสิ้นสุดของยุคแห่งอาวุธที่โหด้ราย" โดยระบุถึงอาวุธทำลายล้างสูงหลายเมกาตันในช่วงสงครามเย็น

การรื้อชิ้นส่วนระเบิด บี-53 ซึ่งปลดประจำการในปี 1997 นี้เป็นการแยกเอาวัตถุระเบิดหนักร่วม 300 ปอนด์ออกจากช่องยูเรเนียม ที่ใจกลางของอาวุธดังกล่าว เกรก คันนิงแฮม โฆษกของแพนเท็กซ์ชี้

ด้านโทมัส ดีอากอสติโน ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงนิวเคลียร์แห่งชาติเสริมในถ้อยแถลงของแพนเท็กซ์ว่า "โลกเป็นสถานที่ปลอดภัยมากขึ้นด้วยการรื้อถอนในครั้งนี้"

ในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว สหรัฐฯ เปิดเผยขนาดคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ที่แท้จริงเป็นครั้งแรก โดยมีหัวรบถึง 5,113 ลูกจนถึงเมื่อวันที่ 30 กันยายน ปี 2009 ตัวเลขนี้ลดลงถึง 75% จากปี 1989 เมื่อกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย

ภายใต้สนธิสัญญาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ ซึ่งมีการตกลงกันในเดือนเมษายน ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ และรัสเซีย ผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เกือบทั้งหมด ให้คำมั่นว่าจะลดหัวรบในสรรพาวุธของตัวเองลงฝ่ายละ 1,550 ลูก

สำหรับ ระเบิด บี-53 นั้นมีขนาดใหญ่มากจนเครื่องบินทิ้งระเบิดรองรับได้เพียง 2 ลูก ซึ่งแต่ละลูกจะติดชูชีพเพื่อควบคุมการตกลงมา ตามข้อมูลจากในวิดีโอ ซึ่งเผยแพร่ออกสู่สาธารณะโดยสำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์แห่งชาติ

กำลังโหลดความคิดเห็น