เอเอฟพี - รายงานข่าวระบุ รัฐบาลญี่ปุ่นประเมินปริมาณรังสีซีเซียม -137 ที่รั่วไหลออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ เทียบเท่าได้กับระเบิดที่ถล่มเมืองฮิโรชิมา 168 ลูก แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าทั้งสองกรณีมีความแตกต่างกัน และยังต้องมีการเปรียบเทียบเพิ่มเติม
หนังสือพิมพ์โตเกียวชิมบุนรายงานโดยอ้างการคำนวณของรัฐบาลว่า ปริมาณซีเซียม -137 ที่รั่วไหลออกมาจากเตาปฏิกรณ์ปรมาณู 3 เครื่อง ซึ่งได้รับความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว และสึนามิเมื่อ 11 มีนาคมนั้น มีประมาณ 15,000 เทราเบกเคอเรล
ตัวเลขดังกล่าวถูกนำไปเทียบเคียงกับปริมาณรังสีซีเซียม-137 จำนวน 89 เทราเบกเคอเรล ที่ถูกปล่อยมาจากระเบิดยูเรเนียม “ลิตเติลบอย” ซึ่งเครื่องบินของสหรัฐฯ ทิ้งลงถล่มเมืองฮิโรชิมาในช่วงใกล้สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โตเกียวชิมบุนเสริม
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังระบุว่า การประเมินดังกล่าวถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการสภาล่างของญี่ปุ่น ด้านการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ของรัฐบาลแย้งว่า การเปรียบเทียบเช่นนั้นไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากระเบิดที่ถล่มเมืองฮิโรชิมานั้นส่งคลื่นความร้อนรุนแรง และยังมีฝุ่นกัมมันตรังสี เป็นอันตรายต่อเหยื่อส่วนใหญ่
ขณะที่ การระเบิดของนิวเคลียร์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นที่ฟูกูชิมะ ซึ่งกัมมันตภาพรังสีค่อยๆ ซึมออกมาจากแท่งเชื้อเพลิงภายในเตาปฏิกรณ์ ที่ได้รับความเสียหายจากการระเบิดไฮโดรเจน
“ระเบิดปรมาณูถูกออกแบบมาเพื่อการสังหารหมู่ และทำลายล้าง โดยก่อคลื่นระเบิด และรังสีความร้อน ทั้งยังปล่อยรังสีนิวตรอน” โตเกียวชิมบุนรายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่รัฐบาล และว่า “มันไม่สมเหตุสมผลที่จะทำการเปรียบเทียบง่ายๆ โดยอาศัยปริมาณไอโซโทปที่ถูกปล่อยออกมาเท่านั้น”
ด้านเจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่สามารถออกมายืนยันรายงานข่าวนี้ได้
แรงระเบิดและฝุ่นกัมมันตรังสีจากระเบิดที่ถล่มเมืองฮิโรชิมานั้น คร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 140,000 ราย ทั้งที่เสียชีวิตในทันที หรือหลายวัน และหลายสัปดาห์ต่อมา
ขณะที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ในรัศมี 20 กิโลเมตรโดยรอบถูกประกาศให้เป็นเขตอพยพ และห้ามเข้าไป หลังเกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดในโลก นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่เชอร์โนบิลเมื่อ 25 ปีก่อน
ทั้งนี้ จากการสำรวจของรัฐบาลเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่า หลายพื้นที่ภายในรัศมี 20 กิโลเมตรรอบฟูกูชิมะยังมีการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีมากกว่า 500 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี หรือสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด 25 เท่า