เอเอฟพี - ผู้ประสบภัยน้ำท่วมชาวไทยจำนวนมาก ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคติดต่อที่มากับปัญหาน้ำท่วม องค์การอนามัยโลกประกาศเตือน วันเสาร์ (22) ที่ผ่านมา แม้ยังไม่มีรายงานการระบาดที่สำคัญปรากฏขึ้นก็ตาม
การระบาดของโรคติดต่อ เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคตาแดง ในศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัยเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เมารีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย แสดงทรรศนะผ่านสำนักข่าวเอเอฟพี
นอกจากนี้ ผู้ประสบภัยน้ำท่วมยังเสี่ยงภัยจากโรคติดเชื้อทางผิวหนัง และโรคเล็ปโตสไปโรซิส (โรคฉี่หนู) จากน้ำท่วมขังที่เต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรีย
“มีความเสี่ยงต่อโรคเหล่านี้” เมารีน เบอร์มิงแฮม กล่าว “แต่จนถึงเวลานี้ยังไม่มีรายงานการระบาดที่สำคัญ”
เมารีน เบอร์มิงแฮม เสริมว่า ความอันตรายใหญ่หลวงของผู้ประสบภัย คือ การจมน้ำเสียชีวิต รวมทั้งความเสี่ยงจากกระแสไฟฟ้า หรือ งูกัด หากชาวบ้านออกไปหาปลา ควรใช้ระมัดระวังอย่างยิ่ง
ฝนที่ตกหนักตลอด 3 เดือน ประกอบกับมวลน้ำมหาศาลที่เขื่อนจำเป็นต้องระบายออก ส่งผลให้พื้นที่หลายจังหวัดกลายเป็นเมืองบาดาล มีผู้ประสบภัยเสียชีวิตแล้วมากกว่า 350 ราย ซ้ำร้าย ประชาชนจำนวนหลายหมื่นครัวเรือนก็ต้องอพยพหนีน้ำท่วม
แม้พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ กับประชากรประมาณ 12 ล้านคน ยังคงรอดพ้นจากอุกทกภัยใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี แต่มวลน้ำมหาศาลจากตอนเหนือได้ไหลทะลักเข้าพื้นที่ทางตะวันออก และทางเหนือของกรุงเทพฯ แล้ว ชาวกรุงต่างก็เตรียมตัวเตรียมใจรับมือภัยน้ำท่วมครั้งนี้
“กรุงเทพฯ ก็ต้องการความช่วยเหลือเหมือนพื้นที่ประสบภัยอื่นๆ แต่กรุงเทพฯ มีความต้องการจำนวนมหาศาลกว่ามาก” เมารีน เบอร์มิงแฮม กล่าว พร้อมทั้งเตือนว่า ห่วงโซ่อุปทานที่ชาวกรุงหวังพึ่งพาก็อาจได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้
“หน่วยงาน (ยูเอ็น) จำนวนมากตระหนักดีว่า มีความต้องการสิ่งของช่วยชีวิตจำนวนมหาศาล”
เมารีน เบอร์มิงแฮม ยังแนะนำให้ประชาชนกักตุนยาและเครื่องมือการอนามัย โดยเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรังควรเตรียมตัวเป็นพิเศษ
อนึ่ง นอกจากหน้าที่ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย เมารีน เบอร์มิงแฮม ยังดำรงตำแหน่งผู้ประสานงานผู้พักอาศัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย อีกหนึ่งตำแหน่ง