xs
xsm
sm
md
lg

3 หญิงแกร่งจาก “ไลบีเรีย-เยเมน” ครองรางวัลโนเบล สันติภาพ 2011 ร่วมกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้าย-ขวา) ตอวักกุล การ์มาน (Tawakkul Karman) นักเคลื่อนไหวชาวเยมน, เอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ (Ellen Johnson Sirleaf) ประธานาธิบดีหญิงชาวไลบีเรีย และเลย์มาห์ จีโบวี (Leymah Gbowee) นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพชาวไลบีเรีย คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2011 ร่วมกัน
เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ ประธานาธิบดีหญิงแห่งไลบีเรีย, เลย์มาห์ จีโบวี “สตรีนักต่อสู้เพื่อสันติภาพ” ชาวไลบีเรีย และ ตอวักกุล การ์มาน สตรีนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยชาวเยเมน เป็นผู้หญิงแกร่ง 3 ราย ที่ได้รับเลือกให้ครองรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2011 ร่วมกัน คณะกรรมการโนเบลประกาศ จากกรุงออสโล วันนี้ (7)

ธอร์บยอร์น แจ็กแลนด์ ประธานคณะกรรมการโนเบล ประกาศว่า สตรีทั้งสามจะครองรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2011 ร่วมกัน เนื่องจาก “การต่อสู้ด้วยสันติวิธี เพื่อความปลอดภัยของผู้หญิง เพื่อสิทธิของผู้หญิง จากการมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ”

“เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายแห่งประชาธิปไตย และสันติภาพอันยั่งยืนบนโลกได้ หากผู้หญิงไม่ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกับผู้ชาย เพื่อการผลักดันการพัฒนาในสังคมทุกชนชั้น”

เอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ ในวัย 72 ปี เป็นประธานาธิบดีคนที่ 24 แห่งไลบีเรีย เธอชนะการเลือกตั้ง เมื่อปี 2005 และกลายเป็นประธานาธิบดีหญิง “คนแรกและคนเดียว” ในทวีปแอฟริกา ไลบีเรียในขณะนั้นผ่านการทำสงครามกลางเมืองมานานยาวกว่า 14 ปี คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 250,000 ราย สภาพของประเทศย่ำแย่ พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีทั้งไฟฟ้า น้ำประปา และโครงการพื้นฐาน

คณะกรรมการโนเบล ยกย่องประธานาธิบดี เซอร์ลีฟ ว่า “ตั้งแต่เธอเข้ารับตำแหน่ง เมื่อปี 2006 เธอทุ่มเทเพื่อสันติภาพในไลบีเรีย เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ และการพัฒนาสังคม และเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้หญิง”

ขณะที่ เลย์มาห์ จีโบวี สตรีชาวไลบีเรียวัย 39 ปี เป็นแกนนำกลุ่มสตรีเครือข่ายสร้างสันติภาพ (Women in Peacebuilding Network) ซึ่งเคลื่อนไหวท้าทายอำนาจอิทธิพลเถื่อนในไลบีเรีย กลุ่มของเธอเรียกร้องการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในช่วงสงครามกลางเมืองปี 2003 ความกล้าหาญของเธอนำไปสู่การสิ้นสุดสงคราม และการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2005 ซึ่งเอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ ได้รับเลือกตั้ง

ส่วน ตอวักกุล การ์มาน ในวัย 32 ปี เป็นนักสื่อสารมวลชน และนักสิทธิสตรีชาวเยเมน เธอนำการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา กลางกรุงซานา เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีอาลี อุบดุลเลาะห์ ซาเลห์ การ์มานเคยถูกทางการจับกุม จากการชุมนุมโค่นล้มรัฐบาล ทว่า หลังได้รับการปล่อยตัว เธอก็ยังเดินหน้าประท้วงเรียกร้องสิทธิสตรี เสรีภาพของสื่อ และการปล่อยตัวนักโทษการเมือง อย่างไม่เกรงกลัว

อนึ่ง ตอวักกุล การ์มาน เป็นสตรีอาหรับคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ

ทั้งนี้ คณะกรรมการจะมีพิธีมอบเงินรางวัล 1.48 ล้านดอลลาร์ (ราว 46 ล้านบาท) ให้แก่ผู้ได้รับรางวัล ณ งานเลี้ยงอาหารค่ำที่กรุงสตอกโฮล์ม ในวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งจะเป็นวันครบรอบ 115 ปีการเสียชีวิตของ อัลเฟร็ด โนเบล ผู้ก่อตั้งรางวัลโนเบล
กำลังโหลดความคิดเห็น