เอเอฟพี - ประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ แห่งเยเมน ประกาศเมื่อวันเสาร์ (8) ว่า พร้อมจะสละอำนาจภายในไม่กี่วันข้างหน้า หลังประชาชนปักหลักชุมนุมขับไล่รัฐบาลมานานกว่า 8 เดือน ส่วนฝ่ายต่อต้านที่นำโดยสตรีเยเมน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสัตนิภาพ ปี 2011 โต้แย้งว่า ไม่อาจเชื่อน้ำคำของผู้นำจอมเผด็จการคนนี้ได้อีกต่อไป
“ผมไม่ต้องการอำนาจอีกต่อไป ผมจะสละอำนาจในอีกไม่กี่วันข้างหน้า” ประธานาธิบดีซาเลห์แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ จากกรุงซานา วานนี้
“ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ประชาชนเยเมนคัดค้านแผนปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ ในลักษณะที่ชาติอาหรับอื่นๆ อย่าง ตูนิเซีย หรืออียิปต์ หรือลิเบีย จะไม่ปฏิเสธ” ซาเลห์กล่าวโทษการล้มโต๊ะเจรจาของฝ่ายต่อต้าน ซึ่งยื่นคำขาดให้ผู้นำเยเมนสละอำนาจเท่านั้น
อาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ ยังประกาศว่า จะมีการประชุมรัฐสภาในเร็วๆ นี้ และ “เราจะพบกันใหม่ในอีกไม่กี่วัน เพื่ออธิบายให้ประชาชนได้รู้ความจริงและพัฒนาการของสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยความโปร่งใสทุกขั้นตอน”
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีผู้ครองอำนาจมานาน 33 ปีรายนี้เคยปฏิเสธการสละบัลลังก์ ตามข้อตกลงที่ร่างขึ้นโดยคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (จีซีซี) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มประเทศเศรษฐีน้ำมัน เพื่อนบ้านของเยเมน
ขณะเดียวกัน ตอวักกุล การ์มาน สตรีเยเมนผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2011 ร่วมกับหญิงแกร่งจากไลบีเรียอีก 2 ราย แสดงความเห็นไว้ว่า ข้อเสนอล่าสุดของซาเลห์ไร้ความน่าเชื่อถือ และการประท้วงจะดำเนินต่อไป
“เราไม่เชื่อถือในตัวชายคนนี้อีกต่อไป” ตอวักกุล การ์มาน ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์อัล-ญาซีรา “เขาต้องส่งมอบอำนาจ เขาต้องคืนอำนาจที่ขโมยไปจากประชาชนผู้ปฏิวัติประเทศ เราไม่เชื่อคำพูดของเขา … เราจะเดินหน้าประท้วงโดยสันติต่อไป”
ทั้งนี้ ผู้ประท้วงชาวเยเมนชุมนุมกันตั้งแต่เดือนมกราคม ยึดครองจัตุรัสในเมืองหลักๆ ทั่วเยเมน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งถูกรัฐบาลเยเมนกล่าวหาว่า มีกองกำลังติดอาวุธ
ซาเลห์ ผู้นำหัวแข็งแห่งเยเมน ปฏิเสธการลงนามในข้อตกลงถ่ายโอนอำนาจ ซึ่งคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับเป็นคนกลางช่วยเจรจา แม้ตามข้อตกลงฉบับนี้ ซาเลห์ต้องถ่ายโอนอำนาจให้รองประธานาธิบดี แต่ตระกูลซาเลห์ของเขาจะรอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ วันที่ 29 กันยายน ประธานาธิบดีซาเลห์ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ เดอะวอชิงตันโพสต์ ว่าเขาจะไม่สละอำนาจ หากศัตรูการเมืองได้รับสิทธิ์ให้ลงสมัครเลือกตั้ง
ศัตรูที่ซาเลห์หมายถึง คือ พลเอก อาลี มูห์เซน อัล-อาห์มาร์ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่แปรพักตร์ไปหนุนผู้ประท้วง และชีกห์ซาดิก อัล-อาห์มาร์ แกนนำชนเผ่าที่ทรงอิทธิพลในเยเมน “ถ้าเราถ่ายโอนอำนาจให้กับคนพวกนี้ นั่นหมายความว่า เรากำลังกลับสู่ยุครัฐประหาร” อาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ ว่าไว้เช่นนั้น