xs
xsm
sm
md
lg

วอลล์สตรีทเจอร์นัลชี้ “ทักษิณ” ห้าว ความตึงเครียดกับ “ฝ่ายทหาร” ยิ่งเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - วอลล์สตรีทเจอร์นัล หนังสือพิมพ์การเงินทรงอิทธิพลของสหรัฐฯ ระบุ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำลังแสดงบทบาทอย่างชัดเจนมากขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วทั้งเอเชีย จึงกำลังก่อให้เกิดความตึงเครียดครั้งใหม่ระหว่างฝ่ายทหารที่ทรงอำนาจในประเทศนี้ กับรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยน้องสาวของเขาเอง

รายงานข่าวของวอลล์สตรีทเจอร์นัล ที่เขียนโดย เจมส์ ฮุกเวย์ (James Hookway) ผู้สื่อข่าวประจำไทย บอกว่าในช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ต.ท.ทักษิณย้ำแล้วย้ำอีกว่าเขาจะหลีกเลี่ยงไม่เข้าแทรกแซงการตัดสินใจทางการเมือง ถ้าหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาวของเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่พวกนักวิเคราะห์ทางการเมืองชี้ว่า ท่าทีเช่นนั้นของเขาเป็นยุทธศาสตร์ที่วางออกมาอย่างรอบคอบ เพื่อมุ่งลดทอนความตึงเครียดระหว่างพวกผู้สนับสนุนแนวทางประชานิยมของตระกูลชินวัตร กับกองทัพที่ทรงอำนาจของประเทศไทย

ข่าวของวอลล์สตรีทเจอร์นัลชี้ว่า ระยะหลังๆ มานี้ พ.ต.ท.ทักษิณได้ออกจากฐานของเขาในดูไบ เพื่อเดินทางเยือนญี่ปุ่นและกัมพูชา ซึ่งมีการตีข่าวเผยแพร่อย่างหนักหน่วง ขณะเดียวกัน พวกผู้สนับสนุนเขาก็ผลักดันให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อให้ตัวเขาสามารถกลับคืนประเทศไทยได้โดยไม่มีความผิดใดๆ ยิ่งกว่านั้นในขณะนี้รัฐบาลของน้องสาวของเขา ยังกำลังหาลู่ทางที่จะคืนพาสปอร์ตให้แก่เขาด้วย

วอลล์สตรีทเจอร์นัลให้ความสนใจเป็นพิเศษกับเรื่องที่มิสเตอร์ทักษิณได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีที่สังกัดพรรคเพื่อไทย ผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในสัปดาห์ที่แล้ว ถึงแม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พยายามออกมาพูดแก้ต่างเพื่อไม่ให้มองเห็นความสำคัญของการออกมาเล็กเชอร์บรรดารัฐมนตรีของผู้เป็นพี่ชาย

อย่างไรก็ดี รายงานข่าวนี้บอกว่า สำหรับผู้สังเกตการณ์จำนวนมากแล้ว นัยของเรื่องนี้มีความชัดเจนมาก พร้อมกันนั้นวอลล์สตรีทเจอร์นัลก็หยิบยกคำพูดของนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ แห่งสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ในสิงคโปร์ ที่กล่าวว่า “เมื่อสองสามเดือนที่แล้ว ผมยังพูดว่าในประเทศไทยมีนายกฯ 2 คน คือ คุณยิ่งลักษณ์ กับพี่ชายของเธอ แต่มาถึงตอนนี้ มีนายกฯคนเดียว คือ คุณทักษิณ”

รายงานข่าวของวอลล์สตรีทเจอร์นัลตั้งคำถามว่า บรรดาโบรกเกอร์แห่งอำนาจในฝ่ายอนุรักษนิยมของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพ จะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการบุกตะลุยอย่างมุ่งมั่นห้าวหาญครั้งใหม่เช่นนี้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งมันจะจุดชนวนให้เกิดศึกครั้งใหม่ระหว่างพวกนักการเมืองประชานิยม อย่างเช่นพวกตระกูลชินวัตร กับฝ่ายอนุรักษนิยมของประเทศ, ข้าราชการที่เป็นพวกรอยัลลิสต์ และพวกผู้บังคับบัญชากในกองทัพ

วอลล์สตรีทเจอร์นัลชี้ว่า พวกนายทหารระดับท็อปของไทยดูมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะป้องกันไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือน้องสาวของเขา เข้ามาล้วงลูกในฝ่ายทหาร โดยผู้ที่มีความคุ้นเคยกับสถานการณ์ดีบอกกับวอลล์สตรีทเจอร์นัลว่า การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปีที่กระทำกันในเดือนนี้นั้น น่าที่จะยังคงปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมทั้งพวกนายทหารระดับรองๆ ลงมา ได้อยู่ในตำแหน่งอันสำคัญต่อไป

รายงานนี้ได้อ้างคำพูดของนายพอล แชมเบอร์ส อาจารย์มหาวิทยาลัยพายัพ ที่ชี้ว่า ภายหลังการรัฐประหารปี 2006 รัฐบาลที่แต่งตั้งโดยฝ่ายทหารได้นำเอาระบบที่คณะกรรมการรวม 7 คนเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายในกองทัพ โดยที่สมาชิก 4 คนในคณะกรรมการชุดนี้ต้องเป็นนายทหารประจำการ

ดังนั้น กระทั่งถ้าหากรัฐบาลพยายามโยกย้าย พล.อ.ประยุทธ์ ออกไปจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ก็จะไม่สามารถเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากเขาได้ และดังนั้น เขาก็น่าจะยังคงอยู่ต่อไปในฐานะผู้รักษาการ ผบ.ทบ.

“พลังฝ่ายอนุรักษนิยมได้ค้นพบวิธีในการป้องกันไม่ให้มิสเตอร์ทักษิณเข้าควบคุมกองทัพ ถึงแม้พวกเขายินยอมให้เขาและลูกน้องบริวาณของเขาชนะการเลือกตั้งได้ก็ตามที” วอลล์สตรีทเจอร์นัลอ้างคำพูดของนายแชมเบอร์ส

รายงานนี้กล่าวว่า นอกเหนือจากมองหาทางที่จะช่วยนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศด้วยวิถีทางนิรโทษกรรมแล้ว พวกสมาชิกรัฐสภาบางรายยังกำลังผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่ออกมาใช้ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2006 โดยที่กฎหมายเหล่านี้มุ่งลดทอนอำนาจของพลเรือนในการควบคุมกองทัพ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายรายชี้ว่า ความพยายามเช่นนี้มีแต่จะทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น เฉกเช่นเดียวกับการที่ยังคงเกิดการแข่งขันประลองกำลังกันระหว่างรัฐบาล กับ พล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องการควบคุม กองบัญชาการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

วอลล์สตรีทเจอร์นัลปิดท้ายรายงานชิ้นนี้ ด้วยการอ้างคำพูดของนายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กล่าวว่า “คุณทักษิณต้องการที่จะสร้างความถูกต้องชอบธรรมให้แก่ตัวเขาเองในฐานะที่เป็นผู้นำทางการเมืองคนหนึ่ง ทว่าอีกฝ่ายหนึ่งหนึ่งก็ไม่ยอมอ่อนข้อเหมือนกัน” และชี้ว่า “ความขัดแย้งจึงทำท่าว่าจะเกิดขึ้นมา โดยที่ในระยะยาวแล้ว เราก็ยังไม่ทราบเลยว่ามันจะออกมาในทิศทางใด”
กำลังโหลดความคิดเห็น