xs
xsm
sm
md
lg

Feature: ทหารไม่อาจแยกออกจากพระในจังหวัด “ชายแดนใต้” ของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทหารชุดคุ้มครองพระออกติดตามการบินฑบาตของพระสงฆ์จากวัดหลักเมือง ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นภารกิจเป็นประจำวัน
เอเอฟพี - รั้วลวดหนาม บังเกอร์ และกำลังทหารติดอาวุธหนัก องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ภาพของวัดหลักเมือง ในตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ดูเหมือนด่านตรวจการณ์ทางทหาร เสียมากกว่าพุทธศาสนสถาน

ตั้งแต่เหตุความไม่สงบที่พุ่งเป้าเอาชีวิตผู้บริสุทธิ์อุบัติขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อน ทหารก็ไม่สามารถแยกตัวออกจากศาสนาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อีกต่อไป โดยเจ้าหน้าที่ผู้เสียสละเหล่านี้ต้องคอยคุ้มกันพระภิกษุสงฆ์อยู่ข้างกายเสมอ

ณ วัดหลักเมือง วัดราษฎร์ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองปัตตานีไม่กี่กิโลเมตร กำลังทหารบนรถกระบะจะเข้าออกวัดที่กลายเป็นค่ายทหารเฉพาะกิจ เพื่อปฏิบัติลาดตระเวนเที่ยวแล้วเที่ยวเล่า ขณะที่ภิกษุสงฆ์ปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน รถหุ้มเกราะและรถบรรทุกลำเลียงพลก็จอดอยู่ในบริเวณใกล้เคียง

พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ในวัดหลักเมืองแห่งนี้มีเพียง 8 รูปเท่านั้น แต่มีทหารประจำการอยู่ภายในวัดราว 100 นาย สถานการณ์เช่นนี้ก็เกิดขึ้นกับวัดอื่นๆ ทั่วพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนเช่นกัน

เหตุร้ายในปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปี 2004 ซึ่งได้คร่าชีวิตทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิมไปมากกว่า 4,800 ราย ทั้งนี้ พระสงฆ์ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของรัฐไทย โดยมักตกเป็นเป้าหมายการก่อเหตุร้าย ต้องเสี่ยงภัยทั้งจากกระสุนปืนและการลอบวางระเบิด ส่งผลให้การบิณฑบาตในทุกๆ เช้าจะต้องมีนายทหารคอยคุ้มกัน
ทหารชุดคุ้มครองพระประชุมรอบเย็นสรุปภารกิจประจำวันอยู่ในค่ายทหารเฉพาะกิจ ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดหลักเมือง
ขณะที่การระบุตัวแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบเป็นเรื่องยาก การอ้างความรับผิดชอบต่อการก่อเหตุก็ยิ่งคลุมเครือ และไม่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน มีเพียงเสียงประณามการบริหารราชการของรัฐบาลไทยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ซึ่งประชากรราว 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นชาวมุสลิมและชาวไทยเชื้อสายมลายู

แม้ภาพของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ไม่ได้ถูกมองเป็น “นักรบญิฮาด” แต่การประจำการของทหารในวัดตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งทางศาสนา

“การมีทหารในวัดกำลังเติมไฟให้ความรู้สึกว่า นี่เป็นความขัดแย้งระหว่างศาสนา ชี้ให้เห็นถึงทิศทางของปัญหา” ดันแคน แมคการ์โก นักวิชการชำนาญพิเศษเรื่องความขัดแย้งจากมหาวิทยาลัยลีดส์ในอังกฤษ แสดงความเห็นผ่านทางสำนักข่าวเอเอฟพี

ทว่า ปัญหาผู้ก่อความไม่สงบภาคใต้ก็มีลักษณะที่แตกต่างจากกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง เช่น ตอลิบาน เนื่องจากผู้ก่อความไม่สงบในไทยไม่ก่อเหตุนอกพื้นที่ ในประเด็นนี้ แมคการ์โก มองว่า ที่สำคัญกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบสายเลือดใหม่ไม่ได้เข้าร่วมกับขบวนการโดยมีแนวคิดพื้นฐานทางศาสนาที่สุดโต่งเป็นปัจจัยเหมือนกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงทั่วๆ ไป
กำลังโหลดความคิดเห็น