xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯมาเลเซียประกาศปฏิรูป‘กฏหมายความมั่นคง’ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: อะนิล เนตโต และ ไซมอน รัฟนีน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Najib punts on legal change
By Anil Netto and Simon Roughneen
16/09/2011

นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ของมาเลเซีย กระทำสิ่งที่เปรียบเสมือนการท้าดวลกับฝ่ายค้าน ด้วยการประกาศเดินหน้าการปฏิรูปชุดใหญ่ เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขบรรดากฎหมายความมั่นคงอันเข้มงวด แผนการที่ทำท่าว่าจะกระทำกันอย่างหนักแน่นจริงจังดังกล่าวนี้ ฝ่ายรัฐบาลมุ่งหวังว่าจะสามารถดึงเสียงสนับสนุนของประชาชนที่โอนเอนไปทางฝ่ายค้าน ให้หวนกลับคืนมาอยู่กับฝ่ายตน ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดหมายกันว่าน่าจะจัดขึ้นก่อนสภาครบวาระในปี 2013

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

กระแสคัดค้านกฎหมาย ISA เพิ่มความเข้มข้นยิ่งขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 ครั้นถึงปี 2009 มีประชาชนราว 50,000 คน พากันลงสู่ท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายความมั่นคงครอบจักรวาลฉบับนี้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลจับกุมผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในทางการเมือง ก็จะเผชิญกับการคัดค้านในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การยื่นหนังสือร้องเรียน, การจัดพิธีจุดเทียนรำลึกตลอดทั้งคืน, และการสวดมนตร์ ผลการหยั่งเสียงที่จัดขึ้นทางออนไลน์ของสำนักต่างๆ แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่คัดค้านกฎหมาย ISA มีจำนวนท่วมท้น บรรยากาศเช่นนี้อาจจะมีส่วนทำให้รัฐบาลต้องขบคิดมากยิ่งขึ้นในการใช้อำนาจของกฎหมายนี้ ดังที่มีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อตอนที่นักเคลื่อนไหว 6 คนที่เกี่ยวข้องโยงใยอยู่กับพรรคชาวสังคมนิยม (Socialist Party) ถูกจับกุมคุมขังโดยไม่มีการไต่สวนในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น รัฐบาลได้ใช้อำนาจตามพระราชกฤษฎีกาภาวะฉุกเฉิน แทนที่จะเป็นกฎหมาย ISA ซึ่งเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ของผู้คนมากกว่า

ยิ่งกว่านั้น จากเอกสารลับทางการทูตฉบับหนึ่ง ที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงกัวลาลัมเปอร์เขียนขึ้นเมื่อปี 2007 และถูกนำมาเปิดเผยโดยเว็บไซต์จอมแฉ “วิกิลีกส์” แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ฝ่ายสหรัฐฯมีความเห็นคัดค้านอย่างรุนแรงเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากกฎหมาย ISA โดยที่เอกสารลับฉบับนี้มีเนื้อความตอนหนึ่งเขียนว่า “วิธีการทางด้านข่าวกรองของมาเลเซียนั้น ไม่ได้เน้นหนักในเรื่องการสืบสวนรวบรวมหลักฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับได้ในทางกฎหมาย เพื่อนำมาใช้เล่นงานผู้ต้องสงสัย ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นข้อจำกัดศักยภาพในการร่วมมือประสานงานกับบรรดาหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐฯ”

เนื้อความในเอกสารลับทางการทูตฉบับนี้กล่าวอีกว่า ข้อมูลข่าวสารจากพวกผู้ก่อการร้ายที่ถูกควบคุมตัวตามอำนาจในกฎหมาย ISA “ไม่สามารถแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นวัสดุที่ถือเป็นหลักฐานตามกฎหมาย ซึ่งจะเป็นที่รับฟังในศาลสหรัฐฯหรือในศาลมาเลเซีย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงกลับกลายเป็นการบั่นทอนประโยชน์ของสนธิสัญญาให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งกันและกัน (Mutual Legal Assistance Treaty) ที่เราทำไว้กับมาเลเซีย”

นอกจากนั้น จากการที่ไม่ได้มีการไต่สวนพิจารณาคดีผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งรวมแล้วมีจำนวนกว่า 100 คน ตลอดจนการใช้อำนาจตามกฎหมาย ISA เพื่อควบคุมตัวคนเหล่านี้เอาไว้นั้นเป็นการดำเนินการในลักษณะปิดลับ เหล่านี้ได้กลายเป็นการ “จำกัดความตระหนักรับรู้ตลอดจนความเข้าใจของสาธารณชน เกี่ยวกับภัยคุกคามของผู้ก่อการร้าย” เอกสารลับทางการทูตฉบับนี้ระบุในอีกตอนหนึ่ง พร้อมกันนั้นก็ชี้ว่า “ฝ่ายค้านทางการเมืองตลอดจนนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิที่เป็นชาวมาเลเซียบางคน ยืนยันอย่างหนักแน่นทว่าไม่ถูกต้องว่า เนื่องจากสหรัฐฯออกแรงกดดัน จึงทำให้มาเลเซียตอบสนองด้วยการใช้กฎหมาย ISA เล่นงานพวกผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้าย” เอกสารลับฉบับนี้เสนอแนะให้ส่งเสริมเพิ่มพูนทักษะความชำนาญของพวกเจ้าหน้าที่ข่าวกรองมาเลเซีย เพื่อเป็นการปรับปรุงศักยภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า การที่นาจิบเสนอแผนการยกเลิกกฎหมาย ISA แล้วนำเอากฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายใหม่ๆ มาใช้แทนที่คราวนี้ เป็นเพราะอิทธิพลการล็อบบี้ของฝ่ายสหรัฐฯหรือไม่

****เจตนารมณ์ยังมีปัญหา****

จากสภาพการณ์ต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรนักที่ปฏิกิริยาร่วมของพวกนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม ออกมาในลักษณะที่ว่า “การปฏิรูป” ต่างๆ ของนาจิบคราวนี้ น่าจะเป็นเพียงแค่การตกแต่งฉาบหน้าทาแป้ง มากกว่าจะลงลึกถึงขั้นเนื้อหาอันเป็นแก่นสาร โดยที่สาระสำคัญที่เป็นมาตรการกดขี่บีฑาของกฎหมายฉบับเก่าๆ จะยังคงถูกนำมาแฝงฝังเอาไว้ในกฎหมายใหม่ๆ ที่จะมีการตั้งชื่อให้ดูเป็นที่ยอมรับได้มากขึ้นในสภาพการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน พวกเขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เมื่อพิจารณาจากประวัติที่ผ่านมาทั้งของนาจิบ และของพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (United Malays Nasional Organization's หรือ UMNO) ของเขา ซึ่งเป็นแกนกลางของกลุ่มพันธมิตร BN ก็แทบไม่มีอะไรบ่งชี้ให้เห็นเลยว่า พวกเขามีความซาบซึ้งศรัทธาในบรรทัดฐานทางด้านสิทธิมนุษยชน

ในความเป็นจริงแล้ว ปฏิกิริยาของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อการชุมนุมประท้วงใหญ่เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ก็เต็มไปด้วยการใช้กำลังรุนแรงและแสดงท่าทีอันแข็งกร้าวขาดความยืดหยุ่น ภายหลังจากที่รัฐบาลนายกฯนาจิบได้พยายามอย่างสุดกำลังของตนที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการประท้วงคราวนี้ขึ้นมา

ก่อนที่จะเกิดการชุมนุมในคราวนี้ซึ่งนำโดยกลุ่ม “เบอร์ซิห์ 2.0” (Bersih 2.0) อันเป็นองค์กรพันธมิตรของพวกองค์กรนอกภาครัฐบาล (เอ็นจีโอ) นาจิบและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ได้ประกาศว่า การชุมนุมเดินขบวนที่กลุ่ม เบอร์ซิห์ วางแผนเอาไว้นั้นเป็นการกระทำที่ “ผิดกฎหมาย” และในช่วงก่อนจะถึงเวลาชุมนุม ก็ได้ออกกวาดจับผู้คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนเบอร์ซิห์ไปกว่า 250 คน โดยที่บางคนถูกรวบตัวเพียงเพราะสวมใส่เสื้อผ้าชุดสีเหลือง ที่เป็นสีสัญลักษณ์ของกลุ่มนี้เท่านั้น

ในบรรดาข้อเสนอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ซึ่งประกาศออกมาโดยนาจิบในคืนวันพฤหัสบดี (15) นั้น มีอยู่ประการหนึ่งเป็นเรื่องการพิจารณาทบทวนบรรดากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการชุมนุมเดินขบวน โดยที่เขาบอกว่าถึงแม้จะยังอยู่ในขั้นตอนของการจัดร่าง แต่กฎหมายใหม่ๆ ในเรื่องนี้จะ “นำพามาเลเซียให้อยู่ในขบวนแถวเดียวกันกับมาตรฐานสากล ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งก็สร้างความมั่นใจว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงมีอำนาจในการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นตามท้องถนนของประเทศชาติ”

อันที่จริง บรรดาการปฏิรูปทั้งหลายทั้งปวงที่นาจิบเสนอออกมาคราวนี้ ต่างอยู่ในขั้นตอนที่จะต้องรอการจัดร่างและผ่านการอนุมัติจากฝ่ายนิติบัญญัติเสียก่อน จึงจะนำมาบังคับใช้ได้ ทว่าในเวลานี้ แม้กระทั่งพวกนักการเมืองในกลุ่มพันธมิตรฝ่ายรัฐบาลเอง ก็ได้ออกมาบั่นทอนทำลายความหวังที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายกันอย่างจริงจังเสียแล้ว เป็นต้นว่า รัฐมนตรีมหาดไทย ฮิชามุดดีน ฮุสเซน (Hishamuddin Hussein) ออกมาแถลงว่า อาจจะมีการใช้รัฐบัญญัติรักชาติ (Patriot Act) ของสหรัฐฯ และพระราชบัญญัติต่อต้านการก่อการร้าย (Anti-Terrorism Act) ในอังกฤษ มาเป็นแบบอย่างแนวทางในการร่างกฎหมายฉบับใหม่ๆ ที่จะใช้แทนที่กฎหมาย ISA

ถึงแม้มีการออกมาแถลงเรื่องแก้ไขกฎหมายเพื่อเคารพสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม แต่เมื่อวินิจฉัยจากการใช้มาตรการทางกฎหมายในเวลานี้เพื่อมุ่งลงโทษพวกผู้ชุมนุมเดินขบวนในการประท้วงของเบอร์ซิห์แล้ว ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่ารัฐบาลยังคงมีท่าทีมุ่งต่อต้านคัดค้านไม่ให้มีการชุมนุมเดินขบวนตามท้องถนนในอนาคตข้างหน้าอยู่นั่นเอง ทั้งนี้นักเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนราว 30 คน มีกำหนดที่จะถูกนำตัวขึ้นฟ้องศาลในระหว่างวันที่ 10 ถึง 14 ตุลาคม โดยพวกเขาถูกตั้งข้อหาต่างๆ เป็นต้นว่า สนับสนุนส่งเสริม “องค์การผิดกฎหมาย” และมีวัสดุ “ล้มล้างบ่อนทำลาย” อยู่ในความครอบครอง

เกร็ก โลเปซ (Greg Lopez) นักวิจัยเรื่องการเมืองมาเลเซีย แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University หรือ ANU) แสดงความคิดเห็นกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า “อันที่จริงแล้วเราควรต้องแสดงท่าทียินดีต้อนรับ อย่างไรก็ดี เราก็ต้องระลึกไว้ว่า ในตอนนี้คำประกาศเหล่านี้ก็ยังคงเป็นเพียงคำประกาศเท่านั้น” โลเปซยังเตือนให้ระลึกว่า นาจิบก็เคยให้สัญญาเอาไว้ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านอื่นๆ แต่ใช่ว่าเขาจะะทำตามคำมั่นเหล่านั้น พร้อมกับนี้ โลเปซได้ระบุว่า “ในทางเป็นจริงแล้ว ภายหลังที่ได้ประกาศนโยบายออกไป นาจิบก็กลับเปลี่ยนแปลงนโยบายส่วนใหญ่ของเขาเสียใหม่อย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ เนื่องจากการประกาศนโยบายของเขาในตอนแรกนั้น เป็นเพราะเผชิญกับแรงกดดันบีบคั้นของสาธารณชน”

แท้ที่จริงแล้ว คำปราศรัยของนาจิบคราวนี้ได้หลีกเลี่ยงไม่แตะต้องนโยบายที่มีลักษณะอ่อนไหวมากๆ จำนวนหนึ่ง ทั้งนี้เขามุ่งเน้นหนักไปที่เรื่องการปฏิรูปทางการเมือง และการปฏิรูปที่อิงกับเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ แต่พยายามถอยให้ห่างจากเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติและและศาสนาต่างๆ ของมาเลเซีย ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาข้อขัดแย้ง

ในปี 1969 ได้เกิดการจลาจลทางเชื้อชาติขึ้นมาซึ่งทำให้ผู้คนล้มตายไปอย่างน้อยนับร้อยๆ คน เหตุการณ์คราวนั้นเน้นย้ำให้เห็นความโกรธกริ้วของคนเชื้อสายมาเลย์ ที่มองว่าคนเชื้อสายจีนเข้ามาครอบงำเศรษฐกิจการพาณิชย์ของประเทศชาติเอาไว้ อีกทั้งเป็นภัยคุกคามที่จะบ่อนทำลายเสถียรภาพทางการเมือง หลังจากนั้นไม่กี่ปี รัฐบาลมาเลเซียก็ได้ประกาศใช้ “นโยบายเศรษฐกิจใหม่” ('New Economic Policy' หรือ NEP) ที่มุ่งหมายจะส่งเสริมยกระดับมาตรฐานในการครองชีพ, การศึกษา, และการเปิดโอกาสทางธุรกิจ ให้แก่คนเชื้อสายมาเลย์ ซึ่งถือเป็นประชาชนส่วนข้างมาก โดยมีจำนวนประมาณ 60% ของประชากรทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม พวกนักวิจารณ์บอกว่า นโยบาย NEP ที่ใช้กันมานมนานแล้วนี้ ในปัจจุบันถือว่าล้าสมัยมาก เนื่องจากชาวมาเลย์เวลานี้ได้เลื่อนขั้นไต่บันไดทางสังคม-เศรษฐกิจขึ้นไปแล้ว ขณะที่ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนเชื้อชาติต่างๆ ภายในมาเลเซียกลับถ่างกว้างมากขึ้น นอกจากนั้น นโยบาย NEP ยังถูกประณามอย่างกว้างขวางว่าเป็นมาตรการที่อำนวยความสะดวกให้แก่การทุจริตคอร์รัปชั่น และสร้างระบบอุปถัมภ์ ตลอดจนทำลายมนตร์เสน่ห์ของมาเลเซียในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติของมาเลเซีย

ตั้งแต่ที่เขาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2009 นาจิบพยายาม “ปะผุ” นโยบาย NEP เรื่อยมา รวมทั้งการประกาศใช้ แนวทางแบบอย่างทางเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Model หรือ NEM) ในเดือนมีนาคม 2010 ซึ่งระบุว่าจะยกระดับรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัวขึ้นเป็นสองเท่าตัวภายในปี 2020 พร้อมๆ กับที่ปรับปรุงเรื่องการให้สิทธิพิเศษแก่คนบางหมู่บางเหล่า โดยจากที่เคยพิจารณาให้สิทธิเหล่านี้ด้วยเงื่อนไขด้านเชื้อชาติ ก็ให้เปลี่ยนมาพิจารณาโดยคำนึงถึงความจำเป็น กระนั้นก็ตามที ผู้คนจำนวนมากยังคงรู้สึกว่า การปฏิรูปนโยบาย NEP ในลักษณะต่อเติมนั่นนิดนี่หน่อยของเขา ยังห่างไกลนักจากสิ่งที่ควรดำเนินการอย่างจริงจัง

ในเอกสารลับทางการทูตของสหรัฐฯที่รั่วไหลอีกฉบับหนึ่ง โดยเป็นรายงานที่ส่งจากสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำกัวลาลัมเปอร์ ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2010 ได้เขียนวิจารณ์นโยบายเรื่องนี้ของนาจิบเอาไว้ว่า “อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติให้เป็นไปตาม NEM อย่างสมบูรณ์นั้น น่าจะต้องประสบความลำบากมากขึ้นไปอีก ไม่ต้องสงสัยเลยว่าท่านนายกฯจะต้องเผชิญการคัดค้านอย่างเหนียวแน่นจากภายในพรรคการเมืองของเขาเอง (ซึ่งก็คือพรรค UMNO) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพวกสมาชิกที่หวาดกลัวว่าพวกเขาอาจจะถึงขั้นต้องสูญเสียที่นั่งในรัฐสภา ถ้าหากระบบอุปถัมภ์ในปัจจุบันถูกยุบเลิกไป”

นักวิเคราะห์บางคนคาดเดาเอาไว้ว่า ถ้าหากมีการยุบเลิกนโยบาย NEP ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นภายในค่ายของนาจิบเอง กล่าวกันว่านายกรัฐมนตรีผู้นี้กำลังทำศึกสู้รบกับพวกที่มีความคิดแข็งกร้าวตายตัว ซึ่งอยู่ภายในพรรคของเขา พวกแข็งกร้าวเหล่านี้ต้องการให้นาจิบหลุดจากตำแหน่ง ขณะที่กลเม็ดการปฏิรูปที่นาจิบประกาศออกมาคราวล่าสุดนี้ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามชิงลงมือเป็นฝ่ายริเริ่มแบบตัดหน้าเหล่าปรปักษ์ภายในพรรคของเขาก็ได้

อิบรอฮิม ซุฟฟีอัน (Ibrahim Suffian) ผู้อำนวยการโครงการ ของ ศูนย์เมอร์เดกาเพื่อการวิจัยประชามติ (Merdeka Center for Opinion Research) อันเป็นองค์การที่ทำการสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองในมาเลเซีย บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ว่า “บททดสอบอันสำคัญยิ่งยวดต่อความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ (ของนายกฯนาจิบ) คราวนี้ อยู่ตรงที่ว่าเขาจะรับมืออย่างไรกับปฏิกิริยาจากพวกแข็งกร้าวภายในพรรค ตลอดจนจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ”

อะนิล เนตโต เป็นนักเขียนที่พำนักอยู่ในเมืองปีนัง ไซมอน รัฟนีน เป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เขาจัดทำเว็บไซต์ www.simonroughneen.com.
กำลังโหลดความคิดเห็น