xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: 6 เดือน “สงครามลิเบีย” กัดดาฟีกำลังเพลี่ยงพล้ำจากการรุกรานของกบฏ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความขัดแย้งภายในลิเบียลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองและการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานกว่า 6 เดือน สถานการณ์ล่าสุดดูเหมือนระบอบปกครองของ พันเอก มูอัมมาร์ กัดดาฟี กำลังเข้าตาจนมากขึ้นทุกขณะ หลังจากทหารกบฏสามารถรุกคืบยึดครองดินแดนจนแทบจะปิดล้อมกรุงตริโปลี เมืองหลวงและฐานที่มั่นสุดท้ายของรัฐบาล ไว้ได้รอบด้าน ขณะที่น่านฟ้าและผืนน้ำก็ตกอยู่ในการครอบครองของกองทัพพันธมิตรโดยสมบูรณ์ ตั้งแต่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติที่ 1973 บังคับใช้เขตห้ามบิน และระดมทุกยุทธวิธีที่จำเป็นเพื่อปกป้องชีวิตพลเรือน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม
พันเอก มูอัมมาร์ กัดดาฟี ขึ้นรถตระเวนปลุกระดมขวัญกำลังใจของมวลชนในกรุงตริโปลี เมืองหลวงของลิเบีย
ถัดจากมีมติเพียง 2 วัน ฝรั่งเศสและอังกฤษ ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีตั้งแต่ต้น ร่วมกับสหรัฐฯ เปิดฉากถล่มกองทัพรัฐบาลลิเบียในวันที่ 19 มีนาคม ก่อนส่งมอบหน้าที่บัญชาการรบให้กับนาโตที่เข้ารับไม้ต่อภารกิจ “ปฏิบัติการร่วมปกป้อง” (Operation Unified Protector) ทั้งนี้ กองทัพพันธมิตรและฝ่ายกบฏทำการรบสอดประสานกันเป็นอย่างดี โดยฝ่ายชาติตะวันตกรับผิดชอบการปกป้องผืนฟ้า บังคับให้เครื่องบินรบของกัดดาฟีกลายเป็นเพียงเศษเหล็กที่ต้องจอดอยู่บนพื้น พร้อมทั้งคอยทิ้งระเบิดถล่มจุดยุทธศาสตร์ทางการทหาร จนบ่อยครั้งที่ทางการลิเบียออกมาโต้งแย้งว่า มีพลเรือนตกเป็นเหยื่อลูกระเบิดพันธมิตรจำนวนมาก ส่วนฝ่ายกองกำลังกบฏก็ยกพลบุกตะลุยไปยังเขตแดนต่างๆ ที่นาโตกรุยทางให้ แต่การรบก็ยังไม่เป็นผลเท่าที่ควร เมื่อผู้สวามิภักดิ์ต่อกัดดาฟีล้วนเป็นทหารรับจ้างและทหารอาชีพ ซึ่งสู้รบชนิดถวายหัว ต่างกับทหารกบฏที่ส่วนหนึ่งเป็นทหารอาสาและเพิ่งได้รับการฝึกอาวุธจากชาติตะวันตก ก่อนกระโจนเข้าสู่สมรภูมิ

อย่างไรก็ตาม การโจมตีทางอากาศของชาติพันธมิตรตะวันตกก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงอย่าง จีน บราซิล รัสเซีย อินเดีย และแอฟริกาใต้ ชาติเหล่านี้เห็นพ้องต้องกันว่า ภารกิจในลิเบียได้ลุกลามล้ำเส้นคำว่า “ปกป้องพลเรือน” ไปไกลแล้ว

ณ เวลานี้ สงครามลิเบียกำลังเข้าสู่ช่วงชี้เป็นชี้ตายที่กองทัพพันธมิตรไม่อาจปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไปอีก เนื่องจากกำหนดเวลาปฏิบัติการรบของนาโตกำลังจะหมดลงในเดือนกันยายน จริงอยู่ที่กรอบเวลาดังกล่าวสามารถขยายต่อได้ อย่างเช่นการขยายเวลารบเพิ่มอีก 90 วันเมื่อเดือนมิถุนายน แต่สภาพเศรษฐกิจโลกที่ล่อแหลมต่อการกลับสู่วิกฤตการณ์ เป็นปัจจัยที่ทำให้ชาติมหาอำนาจทั้ง อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ ปรารถนาให้สงครามยุติลงในเร็ววัน

นอกจากนี้ ในสายตาประชาคมโลก ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า “กบฏ” ได้รับการยอมรับจากชาติตะวันตกส่วนมาก โดยสภาการถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติ (National Transitional Council) ซึ่งเป็นเสมือนรัฐบาลกบฏลิเบีย กลายเป็นตัวแทนอันชอบธรรมเพียงหนึ่งเดียวของผู้ผลิตน้ำมันสำคัญแห่งภูมิภาคแอฟริกาเหนือประเทศนี้ ทว่า การเมืองภายในเมืองเบงกาซี ฐานที่มั่นของกบฏ ก็มีความขัดแย้งสูงเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากกรณีการลอบสังหาร พลเอก อับเดล ฟาตาห์ ยูนิส ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองกำลังกบฏลิเบีย โดยน้ำมือของกลุ่มอิสลามิสต์ภายของฝ่ายกบฏด้วยกันเอง ซึ่งกลายเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าที่เข้ากับกบฏ สภาถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติที่แสนมั่นใจว่าระบอบปกครองอันยาวนาน 42 ปีของกัดดาฟีจะถูกโค่นภายในเดือนรอมฎอน ช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ชิงประกาศตัดไฟแต่ต้นลมว่า จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และถ่ายโอนอำนาจให้กับคณะบริหารที่มาจากการเลือกตั้งภายใน 8 เดือน นับจากวันที่สามารถตะเพิดกัดดาฟีลงจากบัลลังก์
นักรบฝ่ายกบฏลิเบียฉลองชัยชนะอยู่บนซากรถถังของกองกำลังมูอัมมาร์ กัดดาฟี ซึ่งถูกเครื่องบินรบของกองทัพพันธมิตรชาติตะวันตกทิ้งระเบิดโจมตี
**กัดดาฟีจะเลือกอย่างไร**

ในกรณีที่พันเอก มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำจอมทรนง ยืนกรานบัญชาให้คนของเขาเหนี่ยวไกปืนจนถึงกระสุนนัดสุดท้าย เพื่อปกป้องป้อมปราการแห่งสุดท้ายในกรุงตริโปลี ผลที่จะตามมา คือ การนองเลือดและการสูญเสียไพร่พล ทั้งทหารและพลเรือนในเขตเมืองจำนวนมาก เพราะประชาชนที่เทิดทูนเขาก็พร้อมจะจับอาวุธขึ้นสู้ แม้หากฝ่ายกบฏสามารถตีเมืองหลวงแตก แต่ความเคียดแค้นของผู้ปราชัยจะยิ่งเติมเชื้อไฟพยาบาทระหว่างชนเผ่าในลิเบีย บ้านเมืองอาจตกอยู่ในสภาพไม่มีขื่อไม่มีแปและไม่สามารถปกครองได้

ดังนั้น การรบแตกหักชิงกรุงตริโปลีอาจไม่ใช่วิธีสุดท้าย เมื่อกลุ่มกบฏสามารถยึดดินแดนรอบเมืองหลวงไว้ได้ กรุงตริโปลีก็จะถูกโดดเดี่ยวจากการปิดล้อมรอบด้าน ทั้งทางน้ำ ทางอากศ และทางบก การปิดล้อมเมืองย่อมหวังผลให้ภายในประสบปัญหาขาดแคลนเสบียง น้ำมัน หรือแม้แต่อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้รักษาชีวิตตัวเอง มีความเป็นไปได้ที่ทหารลิเบียอาจยอมวางอาวุธและมอบตัว โดยเฉพาะหลังจาก มุสตาฟา อับเดล จาลิล ประธานสภาการถ่ายโอนอำนาจแห่งชาติ ประกาศออกมาว่าจะพิจารณาคดีอย่างเที่ยงธรรม และพร้อมนิรโทษกรรมคนของรัฐบาลลิเบีย ยกเว้น มูอัมมาร์ กัดดาฟี และบรรดาที่ปรึกษาคนสนิททั้งหลายที่จะไม่มีทางได้รับสิทธิ์นั้น

ยิ่งไปกว่านั้น มีรายงานข่าวปรากฏออกมาว่า ภายในกรุงตริโปลีเองก็มีกลุ่มต่อต้านกัดดาฟีที่ยังไม่แสดงตัวแฝงอยู่จำนวนมาก คนกลุ่มนี้มีอาวุธครบมือและกำลังรอเวลาที่เหมาะสม วันนั้นอาจเป็นวันที่เมืองหลวงลิเบียถูกปิดล้อมจากภายนอก ประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้ ขาดแคลนน้ำมัน และประสบกับภาวะข้าวยากหมากแพง

วิธีเดียวที่จะช่วยชีวิตผู้คนจำนวนมากไว้ได้ คือ การตัดสินใจยอมเจรจาของกัดดาฟี เขาและครอบครัวอาจลี้ภัยไปยังประเทศซึ่งอาจเป็นเวเนซุอลา หรือ อิหร่าน ที่สามารถให้แหล่งพักพิง และจะไม่ส่งตัวเขาต่อให้กับศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ ซึ่งประกาศหมายจับคดีอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ข้อมูลจากคนที่รู้จักกัดดาฟีดีระบุว่า ผู้นำลิเบียพร้อมเจรจาหรือทำข้อตกลงใดๆ ก็ตามที่สามารถช่วยชีวิตครอบครัวได้ ที่สำคัญกัดดาฟีจะไม่ยอมลงให้กับผู้ใดจนกว่าจะถึงนาทีสุดท้าย ทว่า นาทีสุดท้ายนั้นอาจกำลังเกิดขึ้นอีกไม่นานต่อจากนี้
เครื่องบินทิ้งระเบิดของกองกำลังกัดดาฟีถูกยิงตกบริเวณเมืองเบงกาซี ฐานที่มั่นของกบฏลิเบีย เมื่อวันที่ 19 มีนาคม วันแรกที่พันธมิตรชาติตะวันตกกรีธาทัพเข้าบังคับใช้เขตห้ามบินเหนือท้องฟ้าลิเบีย
กำลังโหลดความคิดเห็น