เอเอฟพี - วิกฤตการเงินในยูโรโซนอาจส่งผลให้อิตาลีต้องหยุดพักชำระหนี้ (default) ในที่สุด ขณะที่สเปนจะยังพอถูไถไปได้ ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ (ซีอีบีอาร์) ในกรุงลอนดอน เผยวันนี้ (4)
จากการจำลองสถานการณ์ทั้งดีและร้ายสำหรับ 2 ประเทศดังกล่าว ซีอีบีอาร์เตือนว่า อิตาลีอาจไม่สามารถแบกรับภาระหนี้สาธารณะได้ แม้จะลดอัตราการกู้ยืมลงก็ตาม เว้นแต่จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว
“ว่ากันตามความจริง อิตาลีคงต้องผิดนัดชำระหนี้แน่นอน แต่สเปนอาจจะฝ่าวิกฤตไปได้โดยไม่ต้องทำเช่นนั้น” ซีอีบีอาร์ ระบุ
แม้กรุงโรมจะออกมาตรการรัดเข็มขัดอย่างเคร่งครัด และมีแผนจะปลดหนี้ทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2014 ทว่าด้วยปริมาณหนี้สินกองโตจึงทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ เว้นแต่เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้น
ซีอีบีอาร์คำนวณว่า หนี้สินของอิตาลีจะเพิ่มจาก 128 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เป็น 150 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2017 หากผลตอบแทนตราสารหนี้ยังสูงเกิน 6 เปอร์เซ็นต์ และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่ขยับเขยื้อนเหมือนเช่นปัจจุบัน ซึ่งไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจอิตาลีเติบโตเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
“แม้อัตราการกู้ยืมจะลดลงเหลือ 4 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่เศรษฐกิจอิตาลีมีการขยายตัวน้อยมาก จนเราเชื่อว่าในปี 2018 สัดส่วนหนี้สินก็จะยังอยู่ที่ 123 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี” ซีอีบีอาร์ ระบุ
ด้านนายกรัฐมนตรี ซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี เรียกร้องให้มีการออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ระหว่างแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวานนี้ (3)
ซีอีบีอาร์ให้ความเห็นว่า สภาพการคลังของสเปนยังนับว่าน่าอุ่นใจกว่าอิตาลี เนื่องจากมีหนี้สินน้อยกว่า และในสถานการณ์ขั้นร้ายแรงที่สุดสัดส่วนหนี้สินของกรุงมาดริดก็จะไม่สูงเกิน 75 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
ซีอีบีอาร์ชี้ว่า อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ที่ยั่งยืนสำหรับประเทศยุโรปใต้ซึ่งมีศักยภาพในการแข่งขันต่ำ อยู่ที่ไม่เกิน 4-5 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ 6-7 เปอร์เซ็นต์ตามที่นักวิเคราะห์บางคนหรือตลาดคาดการณ์ไว้
ปัจจุบันอิตาลีให้ผลตอบแทนสำหรับตราสารหนี้อายุ 10 ปีสูงกว่า 6 เปอร์เซ็นต์
ซีอีบีอาร์เตือนด้วยว่า หากประเทศใดในยูโรโซนต้องผิดนัดชำระหนี้ ประเทศอื่นๆ จะเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากตลาด จนอาจมีการถอนตัวจากการใช้เงินยูโรได้